“ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นย่อมมีหวัง” : เพราะความหวังผลิบานเป็นนิรันดร์ในใจมนุษย์

“ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นย่อมมีหวัง” : เพราะความหวังผลิบานเป็นนิรันดร์ในใจมนุษย์

.

“Where there is life, there is hope.” — Cicero

“ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นย่อมมีความหวัง” — ซิเซโร

.

ในยุคสมัยแห่งโรคระบาด สงคราม เศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ‘ความหวัง’ อาจเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด ในช่วงเวลาที่บางคนเห็นว่า ‘สิ้นหวัง’ เป็นที่สุด แต่ทำไมความหวังจึงสำคัญ? ทำไมเราจึงยังต้องการมันอยู่? ความหวังควรมีหน้าตาแบบไหน? และเพราะเหตุใด ความหวังของคนบางกลุ่มจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกงมงาย? หรือความหวังของคนเรามีค่าไม่เท่ากัน? ท้ายที่สุดแล้ว ใครคือเจ้าของความหวังกันแน่?

.

เรามักคิดว่าเรารู้จักความหวังเป็นอย่างดี เนื่องจากมันเป็นคำที่เราใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้ว ความหวังอาจเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้ง ทั้งในระดับของบุคคลและระดับโครงสร้างในเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ ‘ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ’ เองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการ ‘มองเห็น’ และ ‘เข้าใจ’ ความหวังของผู้คน โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้ ที่ความหวังจำเป็นจะต้องถูกหยิบยกขึ้นพูดคุยและรับฟังกันให้มากขึ้น เพื่อเราจะได้ตระหนักว่าโลกที่เราอยากเห็นร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร ‘ชีวิตที่ดี’ ของแต่ละคนคืออะไร และเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อสร้างความเปลี่ยนเเปลงให้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะที่ทุกคนต่างท้อแท้และหมดหวังกับโลกใบนี้ไปแล้ว

.

ตามนิยามของ R.S. Downie นักปรัชญาชาวอเมริกัน ความหวังประกอบด้วย ความเชื่อ (belief) และ ความปรารถนา (desire) ในด้านหนึ่ง ความหวังคือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากการรู้คิด (cognition) และการประเมินตัดสิน (judgement) อย่างเป็นระบบ เมื่อเรา ‘เชื่อ’ ในอะไรสักอย่าง เรากำลังประเมินว่าสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตของเรา และเห็นว่ามันมีความ ‘เป็นไปได้’ ในแง่นี้ ความหวังจึงไม่ใช่เพียงอารมณ์ที่โง่เง่าไร้เหตุผล หากแต่เป็นสิ่งที่มีที่มาที่ไปซึ่งเกิดจากกระบวนการตัดสินของเราเอง แม้กระทั่ง ‘ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ’ ก็อาจมีเหตุผลที่ชอบธรรมมากพอที่จะเชื่อว่า ‘ยังพอเป็นไปได้’

.

ในอีกด้านหนึ่ง ความหวังก็ไม่ใช่แค่ระบบของตรรกะและเหตุผลที่เอาแต่คำนวณและประเมินความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นสิ่งที่สะท้อน ‘ความปรารถนา’ ของเราด้วย ความหวังจึงเผยให้เห็นถึงความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์ และความปรารถนานี้เองคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไปได้ ความหวังจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงสภาวะตรงกลางระหว่าง ‘เหตุผล’ และ ‘ความรู้สึก’ ของมนุษย์

.

อย่างไรก็ตาม สังคมโลกในปัจจุบันกลับมีพื้นที่ให้ความหวังน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็น ‘ความรู้สึก’ ความหวังของคนบางกลุ่มถูกมองว่า ‘ไร้สาระ’ และ ‘ไม่มีทางเป็นไปได้’ ความหวังต้องเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากพอ (rationalized) ตามแบบวิธีคิดของโลกสมัยใหม่และตรรกะตลาด อนาคตของเราถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียง ‘การลงทุน’ ที่สมเหตุสมผล และ ‘คาดหวัง’ ให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นกำไรสูงสุด ดังนั้น โลกสมัยใหม่และระบบทุนนิยมจึงแทบไม่เหลือพื้นที่ให้แก่ความหวังในรูปแบบอื่น ๆ เลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่สามารถชี้วัดหรือพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ได้

.

หากเราลองพิจารณาดูแล้ว สังคมทุกวันนี้เปิดพื้นที่ให้เฉพาะความหวังที่ ‘ดูเป็นไปได้’ เท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าอยากจะให้สิ่งที่เราหวังเป็นจริง มันก็ต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถได้มาด้วยการ ‘เล่นตาม’ ระบบที่เป็นอยู่ ดังนั้น เราจึงต้องขยันทำงานให้มาก รู้จักลงทุนหาเงินให้ได้เยอะ ๆ เมื่อนั้น เราจึงจะสมหวัง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ความหวังของเรา ‘ไม่เท่ากัน’ เพราะความหวังแบบอื่น ๆ นั้น เป็นภัยต่อระบบและสถานะของผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ความหวังถึงสังคมแบบใหม่หรือชีวิตรูปแบบใหม่ที่หลุดออกไปจากกรอบที่ว่านี้จึงถูกมองเป็นเรื่องตลกเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้

.

ถึงกระนั้นก็ตาม “ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นย่อมมีความหวัง” ตราบใดที่ยังมีผู้คนที่ถูกกดขี่ให้ต้องลำบากยากแค้นและดิ้นรนด้วยแรงใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า ความหวังของพวกเขาก็จะยังคงอยู่ ความหวังซึ่งผู้คนที่อยู่ข้างบนไม่อาจเข้าใจได้เลย หากพวกเขายังยึดเอาแต่ตัวเองเป็นศูนย์กลาง

.

“ที่หน้ากองสลากฯ ราชดำเนิน ช่วงวันที่ 7 และ 22 กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทุกคนถอยทัพ กลับไปลุ้นผลลอตเตอรี่ และผ่านพ้นความผิดหวังมาเฝ้ารอความหวังในงวดใหม่” ประโยคนี้จากบทหนึ่งในหนังสือ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ คงเป็นการบอกเล่าสัจธรรมใน ‘การเล่นหวย’ ของคนไทยได้เป็นอย่างดี ในสายตาของบางคน ‘หวย’ อาจเป็นสิ่งที่ไร้สาระ เปลืองเงิน หรือเป็นสิ่งที่มักจะทำให้เรากลายเป็นคน 'เจ็บแล้วไม่จำ' ยอมจ่ายเงินแลกกระดาษใบเล็ก ๆ ด้วยความหวังอันแสนริบหรี่และห่างไกลความเป็นไปได้ที่ว่า ‘พรุ่งนี้รวย’ หรือ ‘พรุ่งนี้เป็นเศรษฐี’

.

ทว่า การยอมจ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบเจ็บแต่ไม่จำเช่นนี้เองที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่หยั่งรากลึกในประเทศไทย เพราะสำหรับคนชนชั้นรากหญ้า คนยากคนจน และคนหาเช้ากินค่ำแล้วนั้น ‘หวย’ คือความหวังสุดท้าย และอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้

.

เราคงจะเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า “คนจน จนเพราะไม่ขยัน” ที่สังคมพร่ำสอนเรามาว่า มนุษย์นั้นต่อให้จะเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายหรือเกิดมามีสถานะที่ต่ำต้อยแค่ไหน ขอแค่มีความขยันหมั่นเพียร ก็จะสามารถยกระดับฐานะทางสังคมของตัวเองได้ ทว่าความเป็นจริงไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น จากรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ระบุว่า สัดส่วนคนจนที่พิจารณาจากความยากจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.24 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 6.84 ในปี 2563 คิดเป็นจำนวน 4.8 ล้านคน เพิ่มจาก 4.3 ล้านคนในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างรุนแรง

.

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยระบบโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้คนระดับรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปาก ชีวิตในรัฐที่ไร้สวัสดิการ การศึกษาฟรีที่ไม่มีอยู่จริง ค่าแรงขั้นต่ำที่สวนทางกับค่าครองชีพ พิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า และปัญหารวยกระจุก จนกระจายที่นับวันยิ่งเข้าขั้นวิกฤต แม้กลุ่มคนยากคนจนจะขยันทำงานหาเงินสุดความสามารถแค่ไหนพวกเขาก็หนี ‘ความจน’ ที่กำลังฉุดรั้งชีวิตได้ไม่พ้นเสียที

.

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหวังสุดท้ายที่อาจช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากชีวิตอันลำบากยากแค้นเช่นนี้ก็คือ ‘หวย’ ถึงแม้จะไม่มีทางรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะรวยจริงไหม แต่อย่างน้อยที่สุด ทุกครั้งที่หยิบธนบัตรใบละหนึ่งร้อยบาทออกจากกระเป๋าเพื่อแลกกับกระดาษทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีตัวเลข 6 ตัวเรียงกันอยู่ สิ่งที่ได้รับมาพร้อมกับกระดาษใบนั้นก็คือ ความหวังในการใช้ชีวิตต่อไป ความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า ความหวังที่มีโอกาสเพียงหนึ่งในล้าน ทว่าก็มากเพียงพอแล้วสำหรับคนชนชั้นรากหญ้าที่ต้องดิ้นรนในประเทศอันไร้ซึ่งความมั่นคงเช่นนี้

.

ยิ่งสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความอัดอั้นตันใจ เมื่อวิกฤตโควิดเข้ามากล้ำกรายชีวิตมนุษย์ เมื่อพิษเศรษฐกิจกระชากทำลายทุกความฝันของใครต่อใคร เมื่อผู้มีอำนาจทำร้ายได้แม้กระทั่งประชาชนตาดำ ๆ เมื่อพยายามมากแค่ไหนก็หนีความลำบากไม่พ้นเสียที และเมื่อบรรยากาศแห่งความสิ้นหวังเข้าเกาะกุมจิตใจของผู้คนทุกหนแห่ง ก็เป็นช่วงเวลาเข้าตาจนที่ทำให้มนุษย์ต้องหันหน้าเข้าหา ‘สิ่งที่มือจับต้องไม่ได้และตาไม่อาจมองเห็น’ เป็นดั่งความหวังของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การดูดวง การมูเตลู การบนบานศาลกล่าว หรือการเสี่ยงโชค

.

โหราศาสตร์ การดูดวง และสินค้ามูเตลาไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม เป็นสิ่งที่เราพบเห็นจนคุ้นชินกันมาตั้งแต่เด็กเสียด้วยซ้ำ หากแต่เราจะเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้กลับเป็นกระแสและได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่พากันไปดูดวงออนไลน์ วอลเปเปอร์ไพ่ทาโรต์เสริมดวงที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม หรือกำไลข้อมือมูเตลูที่มีให้เลือกซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการในหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจของผู้คนภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียดของสังคม เพราะความรู้สึกสิ้นหวังที่เกิดขึ้นท่ามกลางความปรวนแปรของชีวิตทำให้ผู้คนเลือกใช้ความเชื่อเรื่องโชคลางโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือไขว่คว้าหาความหวังมายึดเหนี่ยวจิตใจของตัวเอง

.

ในโมงยามแห่งความสิ้นหวังและไร้หนทางไปต่อ ‘ความหวัง’ อาจเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่มนุษย์จะใช้นำทางชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความหวังในรูปแบบใด จะเป็นความหวังที่ทำให้เราสุขสมหวังหรือเจ็บปวดใจ ความหวังนั้นย่อมมีค่าต่อชีวิตของมนุษย์เสมอ และต่อให้เราจะผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าแค่ไหน สุดท้าย ชีวิตก็จะเหวี่ยงความหวังครั้งใหม่มาให้เรา เพราะ “ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นย่อมมีความหวัง”

.

เนื้อหา : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ และ ภูวิศ พิศวง

พิสูจน์อักษร : ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์

ภาพ : นิปุณ อังควิชัย

.

รายการอ้างอิง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย. (2564). ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แซลมอน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563). รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2563. สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=social

Downie, R. S. (1963). Hope. Philosophy and Phenomenological Research.24 (2):248-251.