บัตรแมงมุม : วิบากกรรมผัดวันประกันพรุ่งของกทม.
.
“โอ๊ะ หยิบผิด จะขึ้น BTS แต่ดันหยิบบัตร MRT มาแตะเสียงั้น”
เชื่อว่าในปัจจุบันผู้พักอาศัยในกรุงเทพมหานครหลาย ๆ คนย่อมต้องเคยประสบปัญหานี้ ระบบขนส่งมวลชนอันแสนสะดวกสบายของกรุงเทพมหานครที่มีให้เลือกมากมาย ทั้งรถ-ราง-เรือทำให้การเดินทางสัญจรในมหานครแห่งนี้สะดวกขึ้นมาก แต่กระนั้น ภาระหนึ่งที่ตามมากับระบบที่หลากคือตั๋วหลายประเภท สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยระบบใดเป็นประจำก็มักจะพกบัตรเติมเงินของขนส่งระบบนั้นไว้ แต่เมื่อชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คนเรียกร้องให้ต้องเดินทางหลายต่อ ก็ทำให้ต้องมีบัตรเติมเงินสดของหลายระบบมากตามไปด้วย ยังไม่นับการต้องมีบัตรต่าง ๆ ไว้เพื่อความสะดวกในการเดินทางอื่น ๆ อีก ในกระเป๋าจึงอาจเต็มไปด้วยบัตรเติมเงินสดของ BTS, MRT หรือ Airport Rail Link จนสับสนวุ่นวายไปหมด ในช่วงที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใกล้จะมาถึงนี้ ประเด็นของ “ตั๋วร่วม” หรือบัตรเดินทางที่สามารถใช้ในการเดินทางได้กับทุกระบบขนส่งมวลชนจึงถูกยกขึ้นมาอีกครั้ง ผู้เขียนเองก็มีตั๋วร่วมนี้อยู่ในมือด้วย นั่นก็คือ “บัตรแมงมุม” ซึ่งแม้จะได้รับมาเมื่อหลายปีมาแล้ว บัตรแมงมุมนี้ก็ดูจะไต่ไปได้แค่บนใยของระบบ MRT และ Airport Rail Link เท่านั้น อะไรกันหนอที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยากเย็น ทำไมแมงมุมตัวนี้ถึงไม่สามารถไปต่อบนใยเครือข่ายคมนาคมอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ได้เสียที นี่คือคำถามของบทความนี้
.
แนวคิดระบบตั๋วร่วมที่ผู้เขียนสามารถสืบย้อนไปได้ไกลที่สุดคือเมื่อปี พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นชอบกับหลักการแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เสนอโดยกระทรวงคมนาคม แต่จากนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ อีก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 กระทรวงคมนาคมในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ยกตั๋วร่วมขึ้นมาเป็นวาระอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ได้ในปี พ.ศ. 2557 ควบคู่ไปกับนโยบายอื่น ๆ อย่างรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2556 ยังมีการศึกษาเพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองและรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ต่อมาในปีพ.ศ. 2558-2560 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ได้มีการดำเนินการต่อโดยให้ศึกษาระบบจัดทำศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) จนเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้น ชาวกรุงเทพฯ ก็ดูจะมีความหวังมากขึ้น ชื่อบัตรแมงมุมก็ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถใช้ได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 แต่กลับกลายเป็นว่าบัตรแมงมุมก็ยังไม่ปรากฏสู่สายตาประชาชนจนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่เริ่มมีการแจกบัตรแมงมุมฟรีให้แก่ประชาชน แต่บัตรแมงมุมดังกล่าวกลับไม่ใช่ “ตั๋วร่วม” อย่างที่คาดหวังไว้ และสามารถใช้ได้กับแค่ระบบ MRT และ Airport Rail Link เท่านั้น จากนั้นจนถึงปัจจุบัน ข่าวของตั๋วแมงมุมก็มักจะออกมาเป็นระยะ ๆ ในทำนองว่าจะสามารถใช้ได้ภายในเดือน xxxx ปี yyyy แต่จนแล้วจนรอดก็ผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา บัตรแมงมุมในฐานะ “ตั๋วร่วม” ก็ยังไม่เกิดขึ้นจนผู้บริโภคหลาย ๆ คนก็หลงลืมไปแล้ว
.
แล้วทำไมบัตรแมงมุมใบนี้ถึงยังไม่สามารถพัฒนามาเป็น “ตั๋วร่วม” ที่แท้จริงได้ล่ะ? มันติดปัญหาตรงไหน? แล้วแก้ไขยากเย็นขนาดนั้นเลยหรือ? หลาย ๆ คนอาจจะเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นในใจ ดังนั้น เราจะมาดูกันว่าเหตุไฉน “ตั๋วร่วม” นั้นถึงเกิดได้ยากเย็น
.
ปัญหาหลักคงหนีไม่พ้นผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในแต่ละหน่วยงาน ทุกคนลองนึกภาพตามง่าย ๆ ว่า BTS, MRT หรือ Airport Rail Link ต่างก็มีผู้ได้และผู้เสียผลประโยชน์คนละกลุ่มกัน แต่เดิมเมื่อเราเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนใด ๆ ก็มักจะมีการคิดค่าแรกเข้าเสมอ โดยค่าแรกเข้าจะถูกตั้งค่าให้เริ่มคำนวณที่ระบบต้นทาง ก่อนจะคิดราคาเพิ่มตามจำนวนสถานี เช่น ค่าแรกเข้าระบบต้นทางเป็นเงิน 15 บาท และบวกเพิ่ม 2-5 บาทในแต่ละสถานี “ค่าแรกเข้า” นี้แหละเป็นผลประโยชน์ข้อสำคัญ เพราะเป็นกำไรก้อนโตที่จะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำ งั้นมาลองคิดเล่น ๆ กันดูว่า ถ้านาย ก. เลือกเริ่มต้นเดินทางจาก BTS แต่สิ้นสุดปลายทางที่ MRT นาย ก. ก็จะเริ่มแตะบัตรที่ BTS ถูกไหมล่ะ ค่าแรกเข้าที่เป็นกำไรก้อนโตนี้ก็จะเข้าสู่กระเป๋าของผู้ประกอบการ BTS ตามระบบที่ถูกตั้งค่าไว้ เป็นแบบนี้แล้ว คุณคิดว่า MRT จะยอมเสียทรัพย์ก้อนโตนี้ไป แล้วกินกำไรเพียงแค่ส่วนบวกเพิ่มของแต่ละสถานีหรือไม่ แน่นอน! คำตอบคือ MRT ก็ไม่ยอมเสียกำไรจากค่าแรกเข้าระบบน่ะสิ ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการแต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกในการกินกำไรก้อนโตจาก “ค่าแรกเข้า” นี้ ปัญหาความวุ่นวายในการถือกำเนิดของ “ตั๋วร่วม” จึงเกิดขึ้น
.
ถ้าถามว่า “แล้วมีวิธีแก้ไขไหม?” จริง ๆ ก็พอจะมีอยู่บ้าง ถ้าผู้ประกอบการต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยยอมแบ่งค่าแรกเข้าออกเป็นส่วน ๆ เมื่อผู้โดยสารเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย เช่น หากนาย ก. เดินทางด้วย BTS ไปต่อ MRT ค่าแรกเข้าก็จะถูกหารสองเพื่อแบ่งครึ่งให้กับผู้ประกอบการ BTS และ MRT ซึ่งทางแก้ไขดังกล่าวนี้ หากจะพึ่งหวังให้ผู้ประกอบการพูดคุยกันเองคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่มีอำนาจต่าง ๆ ควรเป็นตัวกลางในการร่วมเจรจาเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลด้วยต่างหาก
.
ในความเป็นจริงแล้ว จะโทษเรื่อง “ค่าแรกเข้า” อย่างเดียวก็คงไม่ถูกเท่าใดนัก เพราะระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครเองก็ไม่ได้รับการวางแผนเทคโนโลยีโครงสร้างที่มีมาตรฐานมากเพียงพอมาตั้งแต่แรก กล่าวคือ ระบบโครงสร้างไม่ว่าจะเป็น Gate ประตู หรือแม้แต่บัตรที่ใช้ ก็ไม่ได้ถูกวางแผนให้มีระบบเทคโนโลยีกลางในการใช้ร่วมกัน เนื่องจากผู้ถือสัมปทานแต่ละโครงการต่างมุ่งออกแบบตามที่ตนต้องการ ดังนั้น หากจะแก้ไขเพื่อสร้าง “ตั๋วร่วม” แล้วล่ะก็ เห็นจะต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลในการรื้อสร้างระบบครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็… เหมือนจะไม่พร้อมสนับสนุนในส่วนนี้เท่าใดนัก
.
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนเองก็หวังว่า “ตั๋วร่วม” ที่ถูกผัดวันประกันพรุ่งในการพัฒนา การจัดการ และการแก้ไขปัญหามาอย่างยาวนานจะได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นและนำมาใช้งานได้จริงในเร็ววัน แต่จะสำเร็จหรือไม่ ก็คงได้แต่ภาวนาให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของ “ตั๋วร่วม” เสียที
.
เนื้อหา : ดอม รุ่งเรือง และ พลอยณภัค ลิ้มมีโชคชัย
พิสูจน์อักษร : พรรวษา เจริญวงศ์ และ ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์
ภาพ : สุพิชญา สิงสาหัส
.
อ้างอิง
เจาะสาเหตุปัญหา 'ระบบตั๋วร่วม' รัฐขายฝันผู้บริโภคมากว่า 10 ปี ทำไมยังไม่สำเร็จ? (2565). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.isranews.org/.../isr.../106257-isranews-235.html
ไทยรัฐออนไลน์. คมนาคม เร่งระบบตั๋วร่วม คาด ปชช.ใช้ 'บัตรแมงมุม' ภายใน ต.ค.60 นี้ (2560). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/948025
------------------. แจกแล้ว ‘แมงมุม’ บัตรโดยสารร่วม ที่สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน (2561). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/1314916
------------------. “เต่ากัดยาง” บัตรแมงมุมเลื่อนอีก 18 เดือน “ชัยวัฒน์” ไม่ทนสั่งงัดแผน “เชื่อมบัตรเก่า” (2562). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/1694588
------------------. ตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 14.6 ล้านใบได้ใช้แน่มิ.ย.นี้ (2563). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/1769435
------------------. ศักดิ์สยาม เร่งทดลองระบบตั๋วร่วม ใช้จ่ายค่ารถไฟฟ้า เรือ ก่อนสิ้นปี 64 (2564). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/2135010
------------------. คมนาคม คาด มี.ค. 65 คลอดตั๋วร่วม EMV แตะจ่ายรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ทางด่วน (2565). สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/business/economics/2272147
นายกไฟเขียวต่อรถไฟ-รถเมล์ฟรี. (2555, 11 มกราคม). มติชน, น. 17.