มองโลกและชีวิตผ่านเลนส์วรรณกรรม
เย็นวันศุกร์หนึ่งในร้านอาหารแขกบนถนนสีลมในระหว่างจิบชามาซาล่าและทานแป้งพิต้าจิ้มฮัมมัส เราได้สัมภาษณ์ “พี่แหม่ม วีรพร นิติประภา” ถึงมุมมองต่อโลกแห่งวรรณกรรมในฐานะนักอ่านและนักเขียนที่มีนักอ่านติดตามผลงานอยู่มากมาย โดยวรรณกรรมในบทสนทนานี้จะเกี่ยวเนื่องกับแง่มุมด้านสังคม การเมือง ชีวิต วัยเยาว์ และความรัก
“พี่แหม่มรู้จักกับวรรณกรรมครั้งแรกในชีวิตยังไงคะ” คำถามแรกของเรา
“จำได้ว่าตอนเด็กอ่านหนังสือทั่วไป พวกชัยพฤกษ์การ์ตูน การ์ตูนนักวิทยาศาสตร์ แล้วก็สักอายุประมาณ 8 ขวบได้ พี่สาวคนนึงที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เขาชวนไปอยู่อุดรฯ เดือนนึง เมืองอุดรฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ทั้งเมืองมันก็ไม่มีอะไรทำ บ้านเขาก็จะเป็นร้านขายเครื่องเหล็ก เราวัน ๆ ก็ไม่มีอะไรทำ พี่สาวเลยเอาหนังสือมาให้อ่าน มันเป็นวรรณกรรมเด็กชื่อ ‘I am David’ จำได้เลย ไทยวัฒนาพานิชแปลมาขาย เป็นวรรณกรรมที่รางวัลเยอะมาก ขนาดที่เราเด็ก ๆ เราไม่รู้เรื่องอะไรก็ยังอ่านสนุก เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายที่หนีออกจากค่ายกักกันชาวยิวด้วยความช่วยเหลือของคนคุมคุกที่เคยรักแม่ของเขา จนได้ผจญภัยทั่วยุโรป ผ่านไปทีละเมืองโดยไม่เจอแม่ตัวเองเลย…เราเป็นเด็กที่โตในไทย มันไม่มีเรื่องเร้าใจอะไรแบบนี้ให้เด็กอ่าน พออ่านแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้มันสนุกจังเลย ถึงจะยังเด็กแต่เร่ไปอยู่บ้านคนนู้น อยู่บ้านคนนี้ มีคนช่วยบ้าง มีคนรังแกบ้าง มีมิตรภาพรายทาง ความเป็นวรรณกรรมของมันสูงมากเลย”
พี่แหม่มเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ตนเองจำคำว่า “วรรณกรรม” ได้ ตั้งแต่ตอนนั้นเพราะมันแปะอยู่บนหน้าปกว่าเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก ไม่ใช่หนังสืออ่านเล่น ไม่ใช่หนังสือนิทาน แล้วพอดีกับที่บ้านได้รับนิตยสารมาอย่าง ‘ฟ้าเมืองไทย’ ที่มีเรื่องสั้นมา ก็เลยชอบหมวดเรื่องสั้นมากกว่าหมวดสารคดีบทความ แล้วหลังจากนั้นพอพี่แหม่มเห็นคำว่าวรรณกรรมที่ไหนก็รู้สึกอยากอ่าน จะเก็บเงินค่าขนมซื้อ อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ในยุคสมัยนั้นเป็นยุคหลัง 14 ตุลา พี่แหม่มอายุประมาณ 12-13 ปี ช่วงนั้นจะมีวรรณกรรมการเมืองต่าง ๆ ซึ่งพี่แหม่มบอกว่ามีวิธีการเขียนที่เหนือชั้นกว่าเรื่องแต่งแบบไลต์โนเวล และน่าสนใจกว่าผลงานของนักเขียนไทยสมัยนั้นที่มีแต่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ
“วรรณกรรมการเมืองมันดีกว่าว่ะ สนุกดี มีปฏิวัติด้วย แล้วปฏิวัติทำไม ตอนนั้นพี่ยังเด็กก็เลยไม่รู้เรื่อง” พี่แหม่มหัวเราะ
จากนั้นเราจึงถามพี่แหม่มว่าพี่แหม่มมองว่าวรรณกรรมเป็นเสมือนเพื่อนหรือไม่
“แน่นอนค่ะ เพราะไม่มีเพื่อนเลย (หัวเราะ) เราโตกว่าอายุไง การอ่านหนังสือทำให้เราโตกว่าเพื่อนที่โรงเรียน คุยกับเขาก็ไม่รู้เรื่อง แบบที่ผู้ใหญ่เขาเห็นว่า ‘เด็กไม่รู้เรื่องการเมืองหรอก’ อะไรประมาณนั้น” พี่แหม่มตอบอย่างจริงใจ
เราอดสงสัยไม่ได้ว่าพี่แหม่มคิดว่าหนังสือเล่มไหนเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของพี่แหม่มในวัยเด็ก
“เจ้าชายน้อย เจ้าชายน้อยเป็นเรื่องที่พิเศษมากนะ พิเศษในลักษณะที่มันง่ายและมันสนุกแล้วก็มีจินตนาการที่น่าสนใจ เด็กมาจากดาวอื่นอะไรอย่างนี้ เหมือนนิทานเลย แล้วพอเราโตขึ้น เรามีความรัก ก็พบว่าจริง ๆ แล้ว ดอกกุหลาบในเรื่องมันเกี่ยวกับเรื่องรักเว้ย เด็ก ๆ เราก็คิดว่าดอกกุหลาบเป็นเรื่องเพื่อนเนอะ เพื่อนที่ไม่แยแสเรา พอโตขึ้นมา อ่าว มันเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ไม่แยแสเรา ทำนองนั้น พอเวลาผ่านไปเราก็พบว่ามันเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เรื่องชีวิตก็ได้ รัฐบาลก็ได้ ตอนเด็ก ๆ เราอ่านเจ้าชายน้อยไปประมาณ 10-20 รอบได้ เพราะหลัง 6 ตุลาปุ๊บหนังสือในตลาดก็หายหมด เหลือแต่หนังสือแบบหนังสือเด็กอะ ‘จิ๋วแจ๋ว’ อะไรพวกนี้อ่านไม่สนุกสำหรับเราแล้ว”
“ไม่ใช่แนวใช่ไหมคะ” เราถามเพื่อความแน่ใจแม้จะรู้คำตอบอยู่แล้ว
“ไม่ใช่แนวเพราะเราอ่านไปทางฝ่ายซ้ายแล้วไง ถ้าแบบทมยันตีที่หมกมุ่นเรื่องรัก มันน่าเบื่อ” หลังจากที่ได้ยินคำตอบเราก็พยักหน้ารับอย่างเข้าใจ
“ถ้าให้ย้อนเวลานึกกลับไปตอนแรก ๆ ที่ได้อ่านเจ้าชายน้อยในวัยเด็ก ความรู้สึกพี่แหม่มตอนนั้นเป็นยังไงคะ”
“โห จำไม่ค่อยได้ แต่จำได้ว่า…(นิ่งคิด) มันสะเทือนใจ เช่น ตอนสุนัขจิ้งจอกรอเจ้าชายน้อย ตอนต้องจากกัน หรือว่าตอนต้องกลับดาว ซึ่งวรรณกรรมมันทำได้เยอะกว่านิยายทั่ว ๆ ไป ที่นางเอกพลัดพรากจากพระเอก นิยายทั่วไปมันก็สั่นสะเทือนผู้อ่านได้ในระดับหนึ่ง แต่วรรณกรรมมันทำได้มากกว่านั้น” พี่แหม่มเล่าด้วยความรักในวรรณกรรมเรื่องนี้
หลังจากที่คุยกับพี่แหม่มมาได้สักพัก พี่แหม่มเป็นนักเขียนซีไรต์ที่มีคนชื่นชอบผลงานอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเราจึงอยากรู้ที่มาที่ไปว่าจุดไหนในชีวิตของ “วีรพร นิติประภา” ที่ทำให้รู้สึกว่าอยากเขียนวรรณกรรม
“มันก็เหมือนคนอื่น ๆ คือวันนึงพี่จะไปซื้อสมุดบันทึกมาเล่มนึง ก็เหมือนเด็กสาวอายุ 13-14 ที่อยากจะมีสมุดบันทึกเป็นของตัวเอง คราวนี้ความที่เราอ่านหนังสือมาเยอะแล้ว พอเราจะเริ่มเขียนก็เขียนไม่เหมือนบันทึกทั่วไปแล้ว เช่น ‘ไดอารี่ที่รักจ๊ะ’ เริ่มมีจินตนาการมากขึ้น แล้วการอ่านนิยายเนี่ย ตอนเด็ก ๆ อ่านแบบตะบี้ตะบันมาก ความเร็วก็สูง ความเยอะก็เยอะ มันก็มีวิธีหลากหลายในการจัดการกับภาษา เขียนสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตจริง เขียนถึงทุ่งหญ้า แสงแดด ครึ่งนึงลอกเขามา ครึ่งนึงก็เพ้อ ๆ เอาเอง แล้ววันนึงไม่รู้นึกยังไง เอา 4 บท ในสมุดบันทึกนั้นมาเรียงต่อกันแล้วก็ไปส่งเขาตีพิมพ์ ตอนอายุ 17 ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ ‘หญิงสาว’ เป็นหนังสือนม ๆ ก้น ๆ อะ เป็นหนังสือนู้ดผู้หญิงที่ใช้กลยุทธ์แบบหนังสือ ‘playboy’ มีบทความที่ดี มีเรื่องสั้นที่ดี แล้วที่เหลือก็ตูด ๆ นม ๆ ส่งปุ๊บก็ได้ตีพิมพ์เลย”
หลังจากที่ไม่ได้เขียนมานานตอนไปอยู่เมืองนอก เมื่อกลับมาประเทศไทยตอนอายุประมาณ 20-21 ปี พี่แหม่มก็เขียนเรื่องสั้นส่งสำนักพิมพ์หนุ่มสาว โดยที่ไม่รู้ว่าเขามีประกวดเรื่องสั้นกันอยู่
“ได้รางวัลค่ะ อายุ 21 ซึ่งก็มีนักเขียนที่เขียนเป็นแล้วด้วยอยู่จำนวนนึง แต่วีรพรได้รางวัลไปแล้ว พี่ก็เลยมีความมั่นใจแปลก ๆ เกี่ยวกับการเขียน คือไม่เคยโดนทิ้งถังขยะอะ ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอันใด อาจจะเพราะอ่านเยอะหรือว่าอะไรอย่างงี้” พี่แหม่มเล่าความสำเร็จของตนเองอย่างเรียบง่าย
นอกจากเรื่องที่มาที่ไปของการก้าวเข้าสู่อาชีพนักเขียนของพี่แหม่มแล้ว เรายังอยากรู้เกี่ยวกับทัศนคติ “ความรัก” ของพี่แหม่ม เพราะเวลาอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่แหม่ม พี่จะชอบบอกให้เด็ก ๆ อย่างเราออกไปมีความรัก เราจึงถามพี่แหม่มว่า
“พี่แหม่มมองภาพความรักของเยาวชน คนรุ่นเรา ๆ ว่ายังไง เช่น เป็นสี หรือเปรียบเป็นภาพอะไรหรอคะ”
“พี่จะรู้ไหม (หัวเราะ) มันยากมากอะถ้าให้มองเป็นภาพ เหมือนจะง่ายแต่ยาก ไม่เหมือนรุ่นของพี่ สมัยนี้มีแอปความรักตั้งไม่รู้กี่ร้อยแอป มีทุกอย่างเลยที่สมัยเราไม่มี สมัยเราไม่ได้รับการอนุญาต สมัยคุณคุณไม่ต้องขออนุญาตด้วยซ้ำ ไม่มีใครรู้ว่าคุณมีแอปอะไรหรือว่าคุณทำอะไรในแอปเหล่านั้น แต่คำถามก็คือว่า มันยากที่คุณจะรู้ว่าคุณชอบคนแบบไหน ในขณะที่ยุคของพี่เนี่ยมันจะเกิดขึ้นกับเพื่อนนักเรียน มันจะเกิดขึ้นกับคนข้างบ้าน มันจะเกิดขึ้นกับคนในซอย มันจะเกิดขึ้นผ่านที่ทำงาน มันจะเกิดขึ้นกับการรู้จักกัน หรืออย่างน้อยที่สุดคือเกิดจากการนั่งมองกัน ไม่รู้จักเขาก็นั่งมอง ซึ่งการมองมันเป็นการเรียนรู้กันเหมือนกันนะ ต่างกับสมัยนี้ที่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วหมด ปัดซ้าย ปัดขวา ไปมา มันทำให้เราไม่รู้ว่าเราชอบคนแบบไหน โอกาสที่เราจะรู้จักตัวเองผ่านความรักมันก็น้อยลง ซึ่งเศร้ามาก ถ้าไม่รู้จักตัวเองผ่านความรัก แล้วคุณจะรู้จักตัวเองผ่านอะไรดี”
การรู้จักตัวเองผ่านมิตรภาพ ความสัมพันธ์ ดูเหมือนจะหายไปหมดแล้วในสมัยนี้ บางทีอาจแค่ผ่านมาเจอกัน แล้วก็ไม่พบกันอีกเลย ความฉาบฉวยก็สูงขึ้น ความเห็นดังกล่าวของพี่แหม่มทำให้เราได้กลับมานึกคิดถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของเรา
“ความฉาบฉวยทำให้เราไม่สามารถลงลึกกับความรักแล้ว มันจะหลงเหลือความรักให้พวกคุณกี่เปอร์เซ็นต์กัน ความใคร่อะมาแน่นอน แต่มันตอบโจทย์หรือเปล่า ความใคร่มันก็เหมือนหิวข้าว พอกินอิ่มก็จบไม่หิวแล้ว ก็ค่อยรอให้หิวครั้งต่อไป แต่ความรักไม่ใช่ ต่อให้ไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ยังคิดถึงกัน มันเป็นการพัฒนาความรู้สึก ความคิด และความเป็นมนุษย์ พี่ว่ามันยากขึ้น ต่อให้ในระดับปกติ คุณมีแฟนเรียนอยู่ด้วยกันพอมีปัญหาเกิดขึ้นคุณก็มีแนวโน้มที่จะช่างแม่งหาใหม่ โอกาสที่จะแก้ปัญหา หรือฝึกการเป็นมนุษย์ของตัวเอง ฝึกเสียใจ ฝึกดีใจ ฝึกอยู่ร่วมกับคนอื่น ดูเหมือนมันเบาบางไปหมดเลย แต่พวกคุณอาจไม่มีปัญหาความรักแบบที่คนยุคพี่มีก็ได้ และอาจมีข้อดีในรูปแบบความรักของพวกคุณเอง ไม่รู้ตอบคำถามหรือเปล่า แต่พี่ว่าแต่ละรุ่น มีทางออกและทางไปของตัวเอง ไม่ใช่ไปคิดว่า ‘เด็กรุ่นนี้มันรักไม่เป็น’ เขาแค่รักไม่เหมือนรุ่นเธอต่างหาก เขาแค่ไม่ทำเหมือนรุ่นเธอ”
“พี่แหม่มว่าการอ่านวรรณกรรมมันส่งผลต่อมุมมองความรักของเราด้วยไหมคะ” เราถามพี่แหม่มเพิ่มเติมจากเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับความรัก
“ส่งผลมาก พี่กลายเป็นคนจริงจังกับความรัก พี่ค่อนข้างเป็นคนจริงจังนะ เห็นแรด ๆ อย่างนี้ (หัวเราะ) จริงจังแม่งทุกคนเลย เวลาเสียใจมันก็ค่อนข้างหนัก แต่ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่เขาอยากจริงจังกับเธออะ ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่เขาตามหารักแท้หรืออะไรแบบนั้น เราเชื่อว่ารักจริง ๆ มีอยู่ มันควรจะเป็นความรู้สึกที่หนักแน่น ถ้าเราไม่ชอบเราก็ไม่คุยด้วย เราไม่ต้องการผู้ชายมาเลี้ยงดู เราต้องการผู้ชายที่มองเห็นเราอย่างที่เราเป็น ยอมรับเราได้ ซึ่งมันก็ยากชิบหายในประเทศชายเป็นใหญ่เนอะ ในประเทศที่แบบว่า ‘ทำไมไม่แต่งตัวแบบเนี้ยอะ’ ‘เอ้า ทำไมฮิญาบสีดำ’ แล้วมันก็จะลามไปถึงลูก ลามไปถึงน้อง ลามไปถึงทุกคนในครอบครัว ชายเป็นใหญ่อะ…มุมมองมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มันก็เป็นการเป็นการเติบโต การมีอาชีพเป็นนักเขียน ไม่รักมันก็ทำไม่ได้นะ”
พี่แหม่มเชื่อมั่นในความรัก ซึ่งหมายรวมถึงความรักที่มีต่อการอ่าน มันทำให้พี่แหม่มก้าวสู่การเขียน สามารถอดทนเขียนได้เหมือนที่อดทนอ่าน ทุกคนจะเห็นการเติบโตของพี่แหม่มผ่านการทำอะไรสักอย่าง และหาสิ่งที่พี่แหม่มรักมากพอที่จะทำตลอด หากไม่ชอบก็ไม่ทำ ถ้าไม่สนุกแล้วก็เลิก ไม่ได้คิดเรื่องเงินเป็นหลัก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนมีเงินมากมายด้วย เพียงแค่ไม่อดตายไม่ลำบากมากเท่านั้น ถ้าคิดว่าน่าจะชอบทำสิ่งนี้ก็เข้าไปทำเลย
“นอกเหนือจากที่วรรณกรรมมีผลต่อมุมมองของพี่แหม่มเองแล้ว พี่แหม่มคิดว่า วรรณกรรมจะมีผลต่อมุมมองของนักอ่านคนอื่น ๆ ด้วยไหมคะ” เราถามต่อ
“แน่นอน วรรณกรรมคือสิ่งที่ถามคำถาม แสวงหาความเป็นมนุษย์ของคน พูดเรื่องชีวิตโดยตัวของมันเอง พี่ค่อนข้างแน่ใจว่า วรรณกรรมควรจะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มันบอกว่าเราเป็นใคร บอกว่าประเทศนี้เป็นอย่างไร ผู้คนที่ประกอบกันในประเทศนี้มีมุมมองอย่างไร เมืองนอกเค้าเข้มแข็งในเรื่องการอ่านวรรณกรรมมากเพราะเป็นส่วนสำคัญในการอยู่รอดทางเนี้ย (ชี้ที่หัว) ทางความคิดทางความรู้สึก ซึ่งสำคัญพอ ๆ กับความอยู่รอดทางกาย เพียงแต่ว่าเราอยู่ในรัฐบาลที่เค้าเป็นทหาร เค้าไม่เข้าใจว่าการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องยาก วันนี้เราผิดหวังเราจะจัดการยังไงกับมัน เวลาไม่มีความสุขก็ไม่รู้จะจัดการยังไงให้มีความสุข แล้วทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการเป็นมนุษย์ ทำไมเราถึงต้องแสวงหาความสุข ทำไมเราถึงต้องการความสบายใจ ทำไมเราถึงชอบอยู่กับคนนี้ คือความสนใจในเรื่องชีวิต ในเรื่องความเป็นมนุษย์ ในประเทศของเรามันต่ำด้วย ประเทศนี้ไม่เคยสนใจความเป็นมนุษย์เพราะว่ามันเป็นประเทศที่ผ่านการรัฐประหารมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ถูกร่างโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่สนใจความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แค่คิดยังไม่คิดเลย เพราะถ้าเกิดคุณคิดว่าคนหนึ่งคนตรงหน้านี้เป็นมนุษย์เหมือนกันจะไปยิงเขาได้ไงวะ ชีวิตนี่ก็ไม่ต้องถามถึงเพราะมันไม่มีรัฐสวัสดิการ สิ่งแรก ๆ ที่รัฐสวัสดิการสร้างก็คือพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดี เวลาเราเริ่มคุยเรื่องชีวิตกับเด็กมันก็ไม่พ้นคำถามว่า ‘ชีวิตที่ดีคืออะไร’ ชีวิตที่มีรัฐสวัสดิการ ชีวิตที่ทุกคนมีที่ซุกหัวนอน มีข้าวให้กิน มียารักษาโรค มีพื้นที่ให้ออกกำลังกาย ใช้ชีวิตอยู่แบบมีใครสักคนให้รัก อะไรแบบนี้ยังไม่มีใครพูดเลย มันไม่ถูกสอนในโรงเรียน เพราะทหารเป็นใหญ่ แต่ในรัฐบาลที่ดีกว่านั้นผู้นำจะเล่นเกมการเมืองด้วยการสร้างชีวิตที่ดีให้ประชาชนด้วยรัฐสวัสดิการ”
“ในฐานะนักอ่านและนักเขียนวรรณกรรม ให้พี่แหม่มขายวรรณกรรมให้เยาวชนหน่อยได้ไหมคะว่าดียังไง” เราถามคำถามส่งท้าย
“เหมือนที่พูดมานิด ๆ หน่อย ๆ แล้วว่าอย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เราเข้าใจชีวิต ซึ่งชีวิตก็ไม่มีอะไร ก็มีสุขมีทุกข์ มีความเป็นมนุษย์ การเข้าใจสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น อย่างหนังภาพยนตร์ก็จะมีเวลาจำกัดแค่สองชั่วโมงในการทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้ เลยทำให้เราตั้งคำถามได้แค่เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หนังสือมันช่วยให้เราลงลึกกับผู้คนสอนเราว่า ชีวิตมันไม่ได้ราบเรียบ คนมันไม่ได้มีแค่ดีกับชั่วสองแบบ มันมีเป็นล้าน ๆ แบบ มันมีคนมากมาย มีชีวิตหลายแบบมากที่เราจะต้องทำความรู้จักเพื่อที่วันข้างหน้าในการใช้ชีวิตแปดสิบปีของเรามันจะไม่ยากเกินไป วรรณกรรมคือสิ่งที่พูดถึงชีวิต วรรณกรรมคือสิ่งที่พูดถึงการเป็นมนุษย์ วรรณกรรมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน สองสิ่งที่สำคัญที่สุดในการมีอยู่ของเรา สองสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน ในการอ่านวรรณกรรมเราจะพบคนที่แปลก ๆ อย่างเช่นคนที่ไม่มีความสามารถในการรัก แล้วพอเราผ่านชีวิตไปครึ่งค่อนเราจะพบว่ามันมีจริงว่ะ เขาอาจจะอ้างว่าเขารักบางอย่าง แต่ที่จริงแล้วเขาไม่มีคุณสมบัตินั้น เขาไม่มีความสามารถ แต่ก็ไม่เป็นไรเลย”
พี่แหม่มให้ความเห็นว่าในประเทศที่อ่านมาก นอกเหนือจากที่เข้าใจคน ก็ยังมีผลอย่างอื่นด้วยเช่นเราสามารถทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้น สามารถรับมือกับลูกค้าได้ดีขึ้น สามารถจัดการกับความปรารถนาพื้น ๆ ของมนุษย์ได้ ไม่ใช่เพื่อเอาผลประโยชน์อย่างเดียว การทำงานให้สบายใจ การเข้าใจคนอื่นเป็นเรื่องดีเสมอ ประเทศนี้ตีกันตั้งแต่ในออฟฟิศไปยันรัฐสภา เพราะผู้คนไม่รู้จักอ่าน ผู้คนสนใจแต่ว่าฉันอยากได้อะไร เวลาที่เราอ่านหนังสือเยอะ ๆ เราจะเห็นผู้คนที่หลากหลายแล้วเราจะเข้าใจว่าเราทุกคนล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาบางอย่าง ความปรารถนาของการเป็นที่รัก ความปรารถนาของการเป็นคนประสบความสำเร็จ ความปรารถนาของการมีบางอย่างเท่ากับคนอื่น ซึ่งคนที่อ่านหนังสือเยอะ ๆ นอกจากจะประสบความสำเร็จในชีวิตกว่าคนไม่อ่านแล้วยังน่าจะมีความสุขมากกว่าอีกด้วย
“ไม่ว่าจะโอบามาหรือสตีฟ จอบส์ พวกนี้อ่านเยอะ อ่านนิยายด้วย ไม่ใช่ว่าเขาจะอ่านแต่สิ่งที่เขาจะใช้ทำมาหากิน อย่างตอนที่สตีฟ จอบส์วางแผนออกโทรศัพท์รุ่นใหม่พร้อมฟังก์ชันยืดหยุ่นแบบนี้ (ทำท่าซูมหน้าจอโทรศัพท์) มันก็ทำให้เกิดความคิดที่ว่าโทรศัพท์เครื่องนี้เป็นมิตรกับผู้ใช้ เพราะมันเป็นอะไรที่เป็นมนุษย์มาก มนุษย์ไม่ได้มีมาตรวัดประจำตัว มนุษย์มีความยืดหยุ่น ประเทศเราจะประสบความสำเร็จแบบนี้ได้ไหมในเมื่อผู้นำเราไม่ได้อ่านหนังสือ แค่จะพูดให้เราสบายใจยังทำไม่เป็นเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องดีลกับผู้คนและสถานการณ์ยังไง อย่างพอโควิดเกิดขึ้น เราต้องการอะไร เราต้องการความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นทำด้วยอะไร มีโรงพยาบาลให้ มียาให้ แค่นั้นเอง แต่รัฐบาลนี้ก็ละเลยสิ่งเหล่านั้นไป เราไม่ได้ต้องการเงินแจกภายหลัง เราต้องการข้าว อย่างที่แจกข้าวเป็นมื้อ ๆ ช่วงแรก ๆ ยังดีซะกว่าให้มาต่อแถวรอเงิน เมื่อไหร่จะได้ก็ไม่รู้”
“นายกแกคิดอะไรไม่ได้เพราะแกไม่อ่าน แต่กลับต้องดีลกับคนหกสิบหกล้าน คนในประเทศนี้ก็แปลกเนอะที่ยังทน”
เนื้อหา : อนันตญา กาฮ์นี และ เพ็ญพิชชา พุ่มเปี่ยม
พิสูจน์อักษร : พิชชาภรณ์ วรบุตร และ ชามา หาญสุขยงค์
ภาพ : ฮุสนา น้อยเรืองนาม