ยังจำได้ไหม ‘เพจเจอร์’ ไอเทมที่วัยรุ่นยุค 90 ทุกคนต้องมี

ยังจำได้ไหม ‘เพจเจอร์’ ไอเทมที่วัยรุ่นยุค 90 ทุกคนต้องมี

.

ถ้าหากจะพูดถึงซีรีส์ที่มาแรงที่สุดในช่วงเวลานี้ ก็คงจะขาดเรื่อง ‘Twenty Five Twenty One ยี่สิบห้า ยี่สิบเอ็ด’ ไปไม่ได้ ซีรีส์สัญชาติเกาหลีที่จะพาทุกคนไปสัมผัสเส้นทางชีวิตของวัยรุ่นในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่าง IMF จนทำให้วัยรุ่นหลาย ๆ คนต้องสูญเสียความฝันไป และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระเอกและนางเอกได้มาพบกันครั้งแรกตอนพวกเขาอายุ 22 และ 18 ปี ทั้งคู่ได้ผ่านทั้งความเจ็บปวด ความเสียใจ ความสุข และความปิติยินดีร่วมกัน ก่อนจะได้เริ่มเรื่องราวความรักของพวกเขาในอีก 3 ปีต่อมา ช่วงอายุ 25 และ 21 ปีของพระเอกและนางเอกจึงได้นำมาใช้เป็นชื่อของซีรีส์เรื่องนี้

.

ในซีรีส์เรื่องนี้ ผู้ชมจะได้เห็นบรรยากาศบ้านเมืองของเกาหลีใต้ช่วงปลายศตวรรษที่ 90 ทั้งผู้คนที่ล้มเพราะพิษเศรษฐกิจ รวมถึงไอเทมคลาสสิกต่าง ๆ จากยุคแอนะล็อกที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ตโฟนอย่างในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น กล้องฟิล์ม เทปคาสเซ็ตหรือตลับเทป คอมพิวเตอร์จอนูนที่นางเอกใช้พิมพ์แชทกับคนที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต หรือจะเป็นการ์ตูน Full house ที่ออกฉบับต่อฉบับในสมัยนั้น และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ‘เพจเจอร์’ อุปกรณ์ขนาดเล็กกว่าฝ่ามือสำหรับใช้ติดต่อสื่อสารกันที่ตัวละครพูดถึงในหลาย ๆ ฉาก หลาย ๆ คนดูแล้วอาจจะสงสัยว่าเพจเจอร์อันเล็กเพียงแค่นั้นจะสามารถใช้คุยกันได้อย่างไร วันนี้เราจึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘เพจเจอร์’ หรือ ‘วิทยุติดตามตัว’ กัน

.

‘เพจเจอร์’ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารในยุค 90 ในยุคแรกนั้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำ ต่อมาได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากขึ้นจึงมีการผลิตเพจเจอร์สีอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและดึงดูดกลุ่มลูกค้า เพจเจอร์นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่เป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารก็จริง แต่มันกลับสามารถรับได้เพียงข้อความสั้น ๆ เท่านั้น ถ้าหากจะส่งข้อความไปที่เพจเจอร์ของคนอื่นจะต้องทำผ่านโทรศัพท์สาธารณะ โดยแจ้งเบอร์เพจเจอร์ของอีกฝ่ายและข้อความผ่านคอลเซ็นเตอร์ อย่างในเรื่อง Twenty Five, Twenty One นี้ เราก็จะได้เห็นฉากที่ตัวเอกได้รับข้อความจากอีกคน รวมถึงฉากที่นางเอกขอเบอร์เพจเจอร์ของพระเอกจากเพื่อนอีกด้วย

.

แล้วคนไทยได้รู้จักไอเทมชิ้นนี้ตอนไหน ?

.

บริการเพจเจอร์ในประเทศไทยเปิดตัวครั้งแรกในปี 1987 (พ.ศ. 2530) โดยมีกลุ่มชินคอร์ป และบริษัทแปซิฟิก เทเลซิส เป็นผู้ให้บริการรายแรกในชื่อ “แพคลิงค์” (Packlink - 1144) ซึ่งบริการเพจเจอร์ในตอนนั้นเป็นเพจเจอร์ระบบตัวเลข และให้บริการเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น

.

ต่อมาไม่นานก็มีบริษัทอื่น ๆ เปิดให้บริการเพจเจอร์เพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มชินคอร์ปที่ได้แยกตัวออกมาจากบริษัทแปซิฟิก เทเลซิส ก็ได้เปิดบริการเพจเจอร์ขึ้นใหม่ในชื่อ “โฟนลิงค์” ซึ่งบริการเพจเจอร์ในระยะนี้นั้น นอกจากจะมีผู้ให้บริการหลากหลายมากขึ้นแล้ว รูปแบบของเพจเจอร์ยังมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นด้วย กล่าวคือ เพจเจอร์ในช่วงนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบตัวเลขและตัวอักษรแทน ต่างจากบริการเพจเจอร์ในประเทศไทยในช่วงแรกที่ใช้เฉพาะตัวเลขเท่านั้น

.

ด้วยข้อดีของเพจเจอร์ที่ช่วยให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น บริการเพจเจอร์ในประเทศไทยจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพจเจอร์กลายมาเป็น ‘ไอเทมที่วัยรุ่นยุค 90 ทุกคนต้องมี’ ดังที่เราจะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับวัยรุ่นยุค 90 หลาย ๆ เรื่อง เพจเจอร์เป็นไอเทมที่ตัวละครวัยรุ่นในเรื่องต้องมีพกติดตัว ทั้งเพื่อเอาไว้ใช้ติดต่อเพื่อน และในบางครั้งก็ใช้เพื่อส่งจดหมายรัก

.

น่าเศร้าที่ฉากอวสานของเพจเจอร์เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน

.

แม้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2530 - 2544 เพจเจอร์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่หลังจากเปิดให้บริการในไทยได้ประมาณ 10 ปี เพจเจอร์ก็มีคู่แข่งใหม่ คือ ‘โทรศัพท์มือถือ’ ที่ดูจะสนองความต้องการผู้ใช้งานได้ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนผู้ใช้เพจเจอร์ก็ค่อย ๆ ลดลงไป จนบริษัทที่เปิดให้บริการเพจเจอร์ในไทยต้องพากันทยอยปิดตัวลง และในที่สุดไอเทมชิ้นนี้ก็กลายไปเป็น ‘ไอเทมในตำนาน’ ของวัยรุ่นยุค 90 แทน

.

เนื้อหา: ธนพร รัตนมณี และธัญลักษณ์ ทองสุข

พิสูจน์อักษร : วรินทร สายอาริน และ แพรพลอย นาเมืองรักษ์

ภาพ : พรประภา พงษ์ลภัสธร