“เสียใจ แต่ไม่แคร์” : เมื่อความไม่ใส่ใจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม
.
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสุขภาพและการสาธารณสุขได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในสังคมมากกว่าช่วงเวลาใดที่ผ่านมา แต่กระนั้น การระบาดของโรคโควิด-19 กลับเป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาตอกย้ำให้เห็นถึงความ ‘ไม่แคร์’ ที่ฝังรากลึกในสังคมของเรามาเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว
.
คำว่า ‘แคร์’ หรือ ‘care’ นั้นมีความหมายที่ทั้งหลากหลายและซับซ้อน มันอาจสื่อถึงความใส่ใจ การดูแล การคำนึงถึง หรือความกรุณาอาทร ในความหมายที่เฉพาะและจับต้องได้ การแคร์หมายรวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานดูแลเด็กและคนชรา งานสังคมสงเคราะห์ ไปจนถึงงานบริการทางด้านสุขภาพ
.
ในความหมายที่กว้างและเป็นนามธรรมมากขึ้น การแคร์ยังอาจสื่อถึงการตระหนักในภาวะพึ่งพาอาศัยกัน (interdependence) ของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งบ่งบอกถึงความใส่ใจและความระวังไหวต่อกันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง หรือระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว แต่ไม่ว่าเรากำลังพูดถึงในความหมายระดับใดก็ตาม ‘แคร์’ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เลือนหายไปเรื่อย ๆ จากสังคมที่เราอาศัยอยู่
.
“โลกของเราทุกวันนี้คือโลกที่การ ‘ไม่แคร์’ นั้นได้ครอบงำทุก ๆ แง่มุมของชีวิตเรา” ประโยคเปิดของหนังสือ The Care Manifesto: The Politics of Interdependence ที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่ม The Care Collective ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนจากหลากหลายสาขาวิชา โดยมีเป้าหมายในการหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับ ‘การแคร์’ ขึ้นมาเพื่อวิพากษ์โลกร่วมสมัยและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในสังคม
.
ใจความสำคัญของหนังสือเล่มดังกล่าวคือการชี้ให้เห็นถึงปัญหาของความไม่แคร์ ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในยุคของโรคระบาด ตั้งแต่การเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศ ไปจนถึงการปล่อยให้มีคนตายกลางท้องถนนในบางประเทศ เหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนบ่งชี้ถึงศักยภาพในการแคร์ที่ลดลงทั้งในระดับสังคมและในระดับบุคคล
.
ในสังคมปัจจุบัน วิธีคิดแบบปัจเจกนิยม (individualism) ที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์แต่ละคนในฐานะปัจเจกบุคคลหรือหน่วย ๆ หนึ่งที่เป็นอิสระ และแยกขาดจากกัน (independent) กลับทำให้เรามองไม่เห็นว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์และสิ่งอื่น ๆ ในโลกล้วนเกี่ยวโยงกันเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ กล่าวคือ มนุษย์คือสิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น ๆ (interdependent) รอบตัวอยู่เสมอ
.
เช่นเดียวกัน การมีชีวิตที่ดีหรือการมีสุขภาพที่ดีนั้น เกิดขึ้นได้เพราะเราพึ่งพิงกันและกัน สังคมดำรงอยู่ได้เพราะทุกคนร่วมมือกัน ผู้ประกอบการสร้างผลกำไรได้เพราะมีลูกจ้างคอยทำงานอยู่เบื้องหลัง คนหนึ่งคนจะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะมีคนอีกหลายคนคอยสนับสนุน แต่โลกทุกวันนี้กลับทำให้เราเข้าใจไปว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวของแต่ละคนเอง การพึ่งพาคนอื่นจึงกลายเป็นเรื่องของความอ่อนแอและความไร้ศักยภาพ ไม่มีใครที่จะเข้ามาดูแลหรือรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ได้นอกจากตัวเราเอง เหมือนที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ‘คนแพ้ต้องดูแลตัวเอง’
.
เราอยู่ในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมการดูแลตัวเอง (self-care) และการพัฒนาตัวเอง (self-improvement) กำลังเฟื่องฟู ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการเเพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม คอร์สบำรุงผิว สมาชิกฟิตเนส หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติธรรมและการแสวงหาทางจิตวิญญาณ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น และการมีสุขภาพที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้การมีสุขภาพที่ดีนั้นกลายเป็น ‘สินค้า’ ที่เราต้องใช้เงินจ่ายเพื่อให้ได้มา สังคมของเราจึงกลายเป็นสังคมแห่งการเอาตัวรอด (society of survival) ที่ซึ่งทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาหาเงินเพื่อต่อชีวิตของตัวเอง โดยมีความสามารถและความสำเร็จเป็นเครื่องตัดสินความเป็นตาย
.
ตรรกะของตลาด (market logic) มีอิทธิพลต่อวิธีคิดซึ่งให้ความสำคัญกับการต่อสู้แข่งขันและการสะสมทุนที่มากจนเกินพอดี นำไปสู่นโยบายแบบรัดเข็มขัดที่ลดทอนศักยภาพในการช่วยเหลือดูแลผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากและให้ความสำคัญกับ ‘กำไร’ ก่อน ‘คน’ การแคร์ในรูปแบบใดที่ไม่ได้นำมาซึ่งผลกำไรย่อมถูกตัดออกไปจากสมการของตลาดจนเป็นเรื่องปกติ แม้จะไม่ใช่ในทุกกรณีก็ตาม
.
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจำนวนหนึ่งได้พยายามรีแบรนด์ใหม่ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ‘carewashing’ ดังที่เราเห็นได้จากสโลแกนที่มักอ้างว่า ‘เราแคร์’ (We care) ไม่ว่าจะเป็นการแคร์สิ่งแวดล้อม แคร์ผู้บริโภค หรือแคร์ลูกจ้างก็ตาม แต่ในความเป็นจริง พวกเขาเพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ว่าตัวเองเป็นเเบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยที่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงเอารัดเอาเปรียบแรงงาน สนับสนุนความไม่เท่าเทียมในสังคม (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่) และผลักดันการผลิตที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินต่อไป
.
การแคร์ยังถูกด้อยคุณค่ามาเป็นเวลานานผ่านการเชื่อมโยงกับความเป็นหญิง (femininity) ซึ่งมองว่างานดูแลนั้นเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และทำให้การแคร์กลายเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต’ (unproductive) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว งานบ้านหรืองานดูแลนั้นคืองานที่เป็นรากฐานสำคัญของการผลิตจนอาจกล่าวได้ว่า งานของผู้หญิงคือสิ่งที่ทำให้งานของผู้ชายดำเนินต่อไปได้เสียด้วยซ้ำ แม้การที่ผู้หญิงคอยดูแลบ้าน หุงหาอาหาร เลี้ยงลูก และดูแลสามีเมื่อเลิกงานก็ถือว่าเป็น ‘งาน’ (work) เหมือนกัน แต่พวกเธอกลับถูกมองข้ามและไม่เคยได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ในสังคมชายเป็นใหญ่ ความรู้สึกและการดูแลใส่ใจจึงสำคัญน้อยกว่าเหตุผลและการผลิตเพื่อทำกำไร แม้ในปัจจุบันมุมมองและบทบาททางเพศจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม แต่รากฐานความคิดดังกล่าวก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมหลาย ๆ แห่ง
.
ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นล้วนส่งผลให้ความเป็นไปได้ที่เราจะ ‘แคร์’ และ ‘ถูกใครสักคนแคร์’ นั้นลดน้อยลง อันที่จริงแล้ว การไม่แคร์เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวหรือคิดไตร่ตรองก่อนเสียด้วยซ้ำไป มันจึงดูเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลกไปแล้ว จนกระทั่งโรคโควิด-19ระบาด เราถึงเพิ่งรู้สึกตัวว่าที่ผ่านมา เราแคร์กันน้อยขนาดไหน
.
เมื่อมองย้อนกลับมาที่สังคมไทย เรามองเห็นความ ‘ไม่แคร์’ ปรากฏอยู่ในที่ใดบ้าง เรามีรัฐบาลซึ่งล้มเหลวในการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ ท่าทีของพวกเขากลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขา ‘ไม่แคร์’ เลยแม้แต่น้อย
.
เรามีบุคลากรจำนวนมากที่ตรากตรำทำงานหนักทั้งที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง แต่ผู้มีอำนาจและกลุ่มนายทุนใหญ่กลับสนใจแต่การกอบโกยผลประโยชน์และหวังฟันกำไรจากการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เรามีแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและต้องทำงานหนักในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ แต่กลับไม่มีสวัสดิการหรือทุนทรัพย์มากพอที่จะเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีได้ เรามีนักเรียนนักศึกษาที่ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และหดหู่สิ้นหวัง แต่ระบบการศึกษาและสถาบันต่าง ๆ กลับนิ่งเฉยและลอยแพพวกเขาอย่างไร้ความรับผิดชอบ
.
แม้กระทั่งในระดับที่ใกล้ตัวมากขึ้น ความ ‘ไม่แคร์’ ก็ยังปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน ทั้งความเกลียดชังต่อผู้หญิง ความเกลียดชังต่อ LGBTQ+ และความเกลียดชังต่อเชื้อชาติต่าง ๆ เราเห็นคนมากมายถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกข่มขืน ถูกตีตรา ถูกขับไล่ออกจากบ้าน หรือถูกฆาตกรรม แต่เรากลับไม่แคร์ ไม่รวมถึงสภาพแวดล้อมของโลกที่กำลังเสื่อมถอยลงทุกวัน การสูญพันธุ์และภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา แต่เรากลับไม่แคร์ แม้แต่กับคนรัก เพื่อนฝูง หรือครอบครัวของเรา การแคร์ก็ยังเป็นไปได้ยาก เพราะในโลกแบบนี้ ลำพังแค่การดูแลตัวเองให้ได้ก็ยากเกินพอแล้ว เราอาจปลอบใจตัวเองโดยการพูดว่า ‘ช่างแม่ง’ หรือ ‘ฉันไม่แคร์’ ก็ได้ แต่นั่นอาจยิ่งทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวจากการตัดสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ในโลกมากขึ้นไปอีก
.
ในโลกที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา ทุกคนต่างรับรู้ถึงความเลวร้ายของมันและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราอาจไม่เคยถามตัวเองว่าเรา ‘แคร์’ มากพอหรือยัง
บางทีประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะแคร์ทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่คือ เราจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้อย่างไรในโลกที่ไม่มีใครแคร์กันเลย เราจะทำอย่างไรให้ผู้คนตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกใบนี้
หรือเราก็ทำได้เพียงแค่พูดว่า เราเสียใจนะ.. แต่ไม่แคร์
.
เนื้อหา : ภูวิศ พิศวง
พิสูจน์อักษร : กัญญาวีร์ ศิริมโนรม และ ลลดาภัทร เบญญาพุฒิภัส
ภาพ : พรประภา พงษ์ลภัสธร
.
รายการอ้างอิง:
Hakim, J., Chatzidakis, A., Littler, J., Rottenberg, C., & Segal, L. (2020). The Care Manifesto. Verso Books.
Sigüenza, C., & Rebollo, E. (2020, May 24). Byung-chul Han: Covid-19 has reduced us to a 'society of survival'. Retrieved from https://www.euractiv.com/.../byung-chul-han-covid-19-has.../