ไม่ขออยู่ข้างใคร ขออยู่ข้างคนชนะ : ดราม่า #ทิดไพรวัลย์ และ #น้าเน็ก
.
ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสดราม่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของ "ทิดไพรวัลย์" อยู่เป็นระยะ แต่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่าทิดไพรวัลย์รับรู้ถึงผลกระทบจากการกระทำของตนมากที่สุด ก็คงจะเป็นวันที่ออกรายการ “นินทาประเทศไทย” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 เพราะถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักลงบนโพสต์โปรโมตรายการในเพจ Nanake555 ซึ่งมีใจความสำคัญหลัก ๆ คือ สงสัยในจุดยืนของทิดไพรวัลย์ต่อการออกมา call out วงการสงฆ์ไทย รวมถึงไม่เข้าใจว่าทำไมทิดไพรวัลย์ถึงต้องบล็อกคนที่มีความเห็นต่างในเพจ มิหนำซ้ำยัง “แขวน” โพสต์ของคนที่เห็นต่างและ “ด่า” กลับอย่างเปิดเผย ทว่าไม่ทันข้ามวันไปได้นาน ก็มีกระแสตีกลับน้าเน็กอีกเช่นกันว่า “ตอนยังเป็นพระดังก็เกาะกระแสเขา ถึงขั้นโทรเข้าไปหากลางไลฟ์ พอมาตอนนี้ที่ทิดไพรวัลย์กำลังดับ ก็ถีบหัวส่งเขากลางรายการ” อีกทั้งยังมีกระแสที่มองว่าสิ่งที่น้าเน็กทำนั้นเกินกว่าเหตุและทำร้ายจิตใจของทิดไพรวัลย์มากเกินไป กระแสสังคมที่ตอบกลับทั้งทิดไพรวัลย์และน้าเน็กดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ความศรัทธาที่คนไทยมีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น “ไม่จีรังยั่งยืน” (ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า) เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
.
“ไม่ว่าจะดารา คนดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์ พวกเขาอยู่ได้ด้วยเสียงของประชาชน”
ผู้เขียนเองขอยอมรับว่าตนเองเคยติดตามอดีตพระมหาไพรวัลย์เช่นกัน ด้วยเหตุผลธรรมดาสามัญที่หลายคนก็คงเห็นด้วยนั่นคือ “เพราะวิธีการเทศนาที่สร้างสรรค์” แต่หลังจากท่านสึกออกมาไม่นาน ผู้เขียนเริ่มเห็นการตอบกลับชาวเน็ตของทิดไพรวัลย์ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายเกินกว่าจะเป็นสื่อที่เสพได้อย่างสบายใจ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสภาพสังคมที่เป็นอยู่และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่หลั่งไหลผ่านผัสสะของพวกเรามีแต่เรื่องแย่ ๆ และสร้างความเครียดมากเกินพอแล้ว หากเรื่องใดไม่ประเทืองปัญญาหรือจรรโลงใจก็คงต้องตัดมันออกไปบ้าง เมื่อมีคนที่รู้สึกเหมือนกันกับผู้เขียนอีกร้อยคน พันคน แสนคน ภายในเวลา 1 เดือนยอดผู้ติดตามของเพจทิดไพรวัลย์จึงค่อย ๆ ลดลง (และบางคนก็ยังไม่ทันได้กดปุ่ม unfollow เองด้วยซ้ำ) ส่วนน้าเน็กเอง ผู้เขียนก็เคยเห็นเนื้อหาต่าง ๆ ที่เขานำเสนออยู่บางคราว ก็พบว่ามีคนติดตามเขาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หลังเกิดกระแสตีกลับ ในเพจของ Nanake555 ก็มีแต่คอมเมนต์ที่แสดงความผิดหวังเป็นจำนวนมาก ทำให้ #น้าเน็ก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาไม่ช้า เพราะมีผู้คนมากมายที่พร้อมจะขุดคดีเก่า ๆ ของน้าเน็กกลับมาเล่นงานเขาอีกครั้ง เป็นที่น่าสนใจว่า อินฟลูเอนเซอร์ทั้งสองคนจะ “จึ้งมากแม่” หรือจะ “ตุ้บหายไป” ในซอกหลืบของวงการบันเทิง ผู้เขียนจึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านมาย้อนทบทวนข้อเท็จจริงทั้ง 2 ด้าน และกลับมาตั้งคำถามเพื่อหาจุดยืนของตัวเองว่า
“เรากำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียหรือไม่”
.
“คุณวิพากษ์ดิฉันได้เต็มที่เลยค่ะ เหมือนที่ดิฉันก็วิพากษ์คุณได้ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการสะตอตาใสนะคะ อย่างที่เขียนว่าดิฉันไม่พูดอะไรเลยนะคะ ก็ตอนพูดไปเมายากันยุงอยู่ พอสร่างเมาจะมาโวยวายเล่าความเท็จเหมือนผู้หญิงเสียสติแบบนี้ไม่ได้”
- ไพรวัลย์ วรรณบุตร โพสต์วันที่ 22 มกราคม 2565
ข้อความข้างต้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างการตอบกลับของทิดไพรวัลย์โดยการ “แขวน” โพสต์ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กคนหนึ่งที่โพสต์ทวงถามทิดเรื่องการออกมา call out เกี่ยวกับวงการสงฆ์ ซึ่งทิดไพรวัลย์ก็ได้ชี้แจงไว้ว่าเคยออกมาพูดแล้ว ไม่ใช่ไม่เคยพูดอะไรเลย พร้อมกับตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่เหยียดเพศหญิง (misogyny) ดังที่ปรากฏไว้ข้างต้น ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าทิดไพรวัลย์สามารถตอบโต้ว่าตัวเองได้ว่าทำอะไร “เพื่อสังคม” ดังที่ตนเองเคยป่าวประกาศไว้ไปแล้วบ้าง ไม่ควรโจมตีที่ความเป็นหญิงของผู้ที่ทวงถาม เพราะมันสะท้อนว่าตัวทิดเองไม่ได้เคารพความเท่าเทียมทางเพศดังที่ตนเองเคยกล่าวไว้ และถูกครอบงำด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ (ปิตาธิปไตย) อย่างไม่รู้ตัว (หรือเลือกที่จะเมินเฉยก็ไม่อาจทราบได้) เมื่อพูดถึงเรื่องแนวคิดชายเป็นใหญ่ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกโพสต์ของอาจารย์ปวิน ชัชวาลพงษ์ เกี่ยวกับปิตาธิปไตยและวงการสงฆ์มาให้ผู้อ่านได้คิดตามมีความว่า
“สังคมพุทธคือสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ไม่ต้องพิสูจน์อะไรมาก แค่การอนุญาตให้ผู้หญิงบวชแบบเท่าเทียมก็ไม่ได้ รวมไปถึงการปฏิบัติของพระต่อผู้หญิง (สีกา) เอาจริง ๆ การเหยียดเลยไปถึงกลุ่ม LGBTQ ด้วย นี่เป็นสังคมที่ต้องชำระ แต่มันเป็นแคมเปญที่ต้องใช้เวลานาน และต้องฝ่าด่านอนุรักษ์นิยมอีกมาก
...ทีนี้ คนที่ผ่านการบวชมา โดยเฉพาะการบวชนาน ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะติดเอานิสัยชายเป็นใหญ่มาด้วย ที่ตลกร้ายคือ บางคนเป็น LGBTQ กลับติดเอานิสัยชายเป็นใหญ่มาหลังจากลาสิกขาแล้ว เอาจริง ๆ คนที่บวชนาน ๆ อาจเหมือนคนที่ติดคุกนาน ๆ พอเป็นอิสระแล้วชีวิตไปไม่ถูก ใครงง ขอให้ดู The Shawshank Redemption ค่ะ”
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าโพสต์ของอาจารย์ปวินมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำของทิดไพรวัลย์ แต่ก็น่าจะอนุมานได้ว่าอาจจะเกี่ยวกับทิดไพรวัลย์ไม่มากก็น้อย เพียงแค่พูดรวม ๆ ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หล่อหลอมคนในวงการสงฆ์ให้ยังคงติดอยู่ในแนวคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
.
“ละเมื่อวานก็พูดกับคุณเป็นการส่วนตัวว่าผมกำลังเริ่มชอบคุณแล้ว เสียดายจังที่เราไม่ได้ทำงานกัน แต่คุณที่ผมเคยชอบก็เป็นคนละคนกับคุณวันนี้ ผมก็เลยเข้าใจความรู้สึกของคนหลายล้านคนที่เขาคงรู้สึกเหมือนผม ว่าเขาเคยชอบคุณในแบบหนึ่ง วันนี้คุณก็กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันไม่ได้ผิดอะไรเลย…”
- ส่วนหนึ่งของคำชี้แจงขอโทษทิดไพรวัลย์ของน้าเน็ก วันที่ 30 มกราคม 2565
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทิดไพรวัลย์ประกาศขอถอนตัวออกจากรายการ “นินทาประเทศไทย” และลุกออกไปกลางรายการ พิธีกรร่วมรายการอย่างน้าเน็กกล่าวว่าไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน แม้ว่าตัวเองจะทำงานพิธีกรมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่หลังจากนั้นก็มีกระแสโต้กลับน้าเน็กว่า การอ่านคอมเมนต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ทิดไพรวัลย์กลางรายการเป็นพฤติกรรมที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ แค่ต้องการสร้างกระแสหรือเปล่า และการกระทำเช่นนี้ทำร้ายจิตใจทิดไพรวัลย์มากไปหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่ หากโดนตอกย้ำว่ามีผู้คนจำนวนมากไม่พอใจตนเอง ก็คงไม่สามารถทนอยู่จนจบรายการได้ วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา น้าเน็กจึงออกมาชี้แจงและขอโทษทิดไพรวัลย์ต่อเหตุการณ์ัที่เกิดขึ้น แต่คำพูดบางส่วนของน้าเน็กดังที่ยกมาข้างต้นก็ยังคงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก เพราะคำพูดเหล่านั้นอาจตีความได้ว่า น้าเน็กแค่ต้องการเกาะกระแส “พระมหาไพรวัลย์” แต่พอเป็น “ทิดไพรวัลย์” ที่ยังไม่เจนโลกแห่งฆราวาสแล้ว ก็พร้อมที่จะทิ้งเขาไว้กลางทางเพราะไม่มีประโยชน์สำหรับตนเองอีกต่อไป
.
“เราวันนี้กับเราเมื่อวานอาจมีความคิดเกี่ยวกับดราม่าครั้งนี้ต่างกัน”
เพราะทุกอย่างไม่จีรังยั่งยืน เราวันนี้กับเราเมื่อวานมีอะไรที่แตกต่างกันออกไปไม่มากก็น้อย และเห็นได้ชัดจากกรณีของดราม่า #ทิดไพรวัลย์ และ #น้าเน็ก ที่กระแสสังคมผกผันไปมาอย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน อาจเป็นเพราะเราอยู่ในยุคสมัยที่สื่อโซเชียลมีเดียมีผลเข้ามาแทรกแซงความคิดของคนในสังคมไม่มากก็น้อย ดังที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไว้ข้างต้นว่า “เรากำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียหรือไม่” ในคำให้การต่อรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ นาง Frances Haugen ได้ชี้ว่า อัลกอริทึมถือเป็นศูนย์กลางของปัญหาบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระบบนี้เผยแพร่เนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก และทำให้เข้าใจผิด ซึ่งบางครั้งก็มีการจัดลำดับข้อมูลเหล่านี้ไว้ด้านบนสุดบนฟีด (feed) ของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ชี้ว่า เฟซบุ๊กมีระบบจัดอันดับเนื้อหาบนหน้าฟีดที่ทำให้ผู้ใช้งานติดใจ และเสพสื่อบนโลกออนไลน์อย่างบ้าคลั่ง จนในที่สุดก็อาจสร้างความเกลียดชัง และผู้คนก็พากันเฮตามกระแสที่เปลี่ยนผันไปมาอย่างรวดเร็ว แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ดราม่าในครั้งนี้เช่นกันว่า “ไม่ควรด่วนสรุปหาผู้ร้ายในเวลาอันสั้น เพราะคนเรานั้นช่างซับซ้อนและหม่นเทาเหลือเกิน” ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ทิดไพรวัลย์กับน้าเน็กใครจึ้งหรือใครตุ้บ เพราะเราไม่อาจไว้ใจข้อมูลบนจอสี่เหลี่ยมที่อยู่ตรงหน้ามากนัก ข้อเท็จจริงต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากมายที่รังสรรค์มาเพื่อผ่านตาของเรานั้นมีมากเกินจนวิจารณญาณของเราทำงานได้ไม่เต็มที่ และทั้งคู่ต่างก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พลั้ง “ทำผิด” หรือ “พูดผิด” ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป
.
“ไม่ขออยู่ข้างใคร ขออยู่ข้างคนชนะ”
ผู้เขียนเห็นข้อความข้างต้นจากคอมเมนต์ของผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กหลายราย ซึ่งอาจกล่าวว่าเป็นคอมเมนต์เชิงขบขัน เสียดสีสังคมออนไลน์ และแม้กระทั่งตัวเอง เพราะเราไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้น ความคิดของเราอาจเปลี่ยนไปในทันทีที่รับข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคมที่ไม่จีรังยั่งยืน ผันผวนไปมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาชั่วข้ามคืน ผู้คนพร้อมที่จะตอบโต้และตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ทั้งยังเปลี่ยนแปลงความคิดและจุดยืนของตนเองได้อย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะพวกเราตกอยู่ภายใต้อำนาจอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ขณะที่ดราม่าหนึ่งกำลังเป็นกระแส อาจมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เรามองข้ามหายเข้ากลีบเมฆไปแล้วก็ได้ เราอาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองกันอีกครั้งว่า “เราต้องให้แสงกับดราม่าขนาดนี้เลยหรือ” ในเมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้ยังหาผู้ชนะไม่ได้ แล้วเราจะอยู่ข้างใคร?
.
เนื้อหา : เพ็ญพิชชา พุ่มเปี่ยม
พิสูจน์อักษร : พรรวษา เจริญวงศ์ และ นิติธร ตรีสุรมงคลโชติ
ภาพ : จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์
.
รายการอ้างอิง :
Will Oremus. (2021, November 15). Why Facebook won’t let you control your news feed. The Washington Post. เข้าถึงเมื่อ 31 มกราคม 2565, จาก https://www.washingtonpost.com/.../facebook-news-feed.../