5 เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับการ “โยนบก”
เหตุการณ์โยนบกจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ 68 ปีที่แล้ว (28 ตุลาคม 2496) นับเป็นเหตุการณ์อันโหดร้ายที่เกิดขึ้น ณ กลางหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ถูกจับโยนลงจากเวทีต่อหน้านิสิตทั้งมหาวิทยาลัย วันนี้ อักษรสาราจึงขอเชิญชวนทุกคนมาทำความรู้จักเหตุการณ์โยนบกให้มากขึ้นกับ 5 เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับการ “โยนบก”
1. ผู้ที่จับจิตรโยนบกมีทั้งหมดสามคน
ภาพจำโดยทั่วไปของเหตุการณ์โยนบกมักพุ่งเป้าผู้โยนไปที่นายสีหเดช บุนนาค แต่นอกจากนายสีหเดชแล้ว ยังมีอีกสองคนที่ขึ้นไปช่วยจับจิตรโยนลงมาด้วย ได้แก่ นายศักดิ์ สุทธิพิศาล และนายชวลิต พรหมมานพ ทั้งสามคนล้วนเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ เวลานั้น โดยนายสีหเดชเป็นผู้แทนนิสิตในสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายศักดิ์เป็นหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายชวลิตเป็นเลขานุการคณะกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์
2. นิสิตส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการโยนบกและเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้ที่จับจิตรโยนบก
จากคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ทันทีที่จิตรถูกจับโยนบก ก็มีนิสิตตะโกนออกมาว่า “ป่าเถื่อน” “ไร้มนุษยธรรม” จากนั้นก็มีนิสิตหญิงจากคณะอักษรศาสตร์ขึ้นไปบนเวทีและกล่าวประณามการกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดการยื้อแย่งไมโครโฟนกันอย่างชุลมุน ภายหลัง นายธวัชชัย ไทยยง นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) ได้ขอเสียงในที่ประชุม พบว่ามีนิสิตเพียง 300 คนจาก 3,000 คนเท่านั้นที่เห็นด้วยกับการโยนบก จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในยุคสมัยของจิตรเอง การโยนบกก็มิใช่การกระทำที่ได้รับการยอมรับโดยนิสิตส่วนใหญ่
3. เหตุการณ์โยนบกเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมขณะนั้น
ภายหลังจากเหตุการณ์ จิตรได้รวบรวมหนังสือพิมพ์ที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์โยนบกในขณะนั้นไว้หลายฉบับ ในบรรดาหนังสือพิมพ์เหล่านั้นก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป มีทั้งไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับการโยนบก เช่นเดียวกับนิสิตจุฬาฯ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้พยายามเข้าไปบันทึกภาพหรือขอสัมภาษณ์ในจุฬาฯ ทว่าถูกต่อต้าน ห้ามไม่ให้ถ่ายภาพ นักข่าวบางคนยังถูกทำร้ายร่างกายอีกด้วย และเหตุการณ์เหล่านี้ก็ถูกนำไปเขียนเป็นข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์ต่อไปอีก
4. โยนน้ำคนโยนบก พักการเรียนคนถูกโยนบก
หลังจากเหตุการณ์โยนบกในวันที่ 31 ตุลาคม คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) ได้ประชุมกันและมีมติให้โยนน้ำนายสีหเดช บุนนาค และนายศักดิ์ สุทธิพิศาล ส่วนกรณีของจิตร สภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้พักการเรียนจิตรเป็นเวลาถึง 12 เดือน เพราะหนังสือที่จิตรทำมีเนื้อหาเอียงซ้าย ส่งผลให้จิตรไม่สามารถเข้าสอบได้เป็นเวลาสองปีเต็ม
5. จิตรถูกตัดชื่อออกจากหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับเซนเซอร์
เมื่อหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับวันที่ 23 ตุลาคม ตีพิมพ์ออกมา ปรากฏว่าเป็นฉบับที่ถูกเซนเซอร์ไปจากเดิมมาก ทั้งเนื้อหาและจิตร กล่าวคือ ตัดบทที่ถูกกล่าวหาว่าเอียงซ้ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นบทกวี “เธอคือหญิงรับจ้างแท้ ใช่แม่คน” หรือบทความ “พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติคแก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบของสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติคกับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้” นอกจากนี้ ชื่อของจิตรยังถูกตัดออกจากการเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ในรายชื่อกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ตำแหน่งสาราณียกรเป็นชื่อของนายธวัชชัย ไทยง นายกสโมสรนิสิตในขณะนั้นแทน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนหน้าปก หน้าปกเดิมจิตรออกแบบเป็นสีดำลวดลายเนบิวลาและมีพระปรมาภิไธย “สยามินทร์” แต่ในฉบับเซนเซอร์ หน้าปกถูกเจาะเป็นวงกลมเผยให้เห็นภาพพระบรมรูปทรงม้า การแก้ไขนี้นับว่าเป็นการย้อนหนังสือฉบับนี้กลับไปสู่แนวทางเดิมที่เคยทำกันมา แทนที่จะเป็นหนังสือแนวใหม่แบบที่จิตรได้ทดลองทำไว้
เรื่องน่ารู้ทั้ง 5 ข้อนี้ล้วนชี้ให้เห็นความขัดแย้งในสังคมที่ใหญ่กว่า และความขัดแย้งระหว่างจิตรกับนิสิตด้วยกันเอง ท่ามกลางบริบทสำคัญนั่นก็คือสงครามเย็น การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ในทุกรูปแบบทำให้คนในสังคมพร้อมจะใช้ความรุนแรงกำจัดคนที่คิดเห็นต่าง จิตรเองก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงซึ่งไม่สมควรจะเกิดขึ้นนี้เช่นกัน
เนื้อหา : ดอม รุ่งเรือง
พิสูจน์อักษร : สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ และ เธียรชัย ทองเงิน
ภาพ : จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์
รายการอ้างอิง :
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มหาวิทยาลัย 2496. พระนคร: สโมสรจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2496. เข้าถึงได้จาก http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/detail.php...
จิตร ภูมิศักดิ์. กรณี `โยนบก' 23 ตุลา. กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2539.
วิชัย นภารัศมี. หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.