Hope Haddon ตัวละครสะท้อนครูไทย จากซีรีส์เรื่อง Sex Education ซีซั่น 3

Hope Haddon ตัวละครสะท้อนครูไทย จากซีรีส์เรื่อง Sex Education ซีซั่น 3


หากพูดถึงภาพลักษณ์ของครูไทยแบบที่หลายคนเข้าใจ อาจนึกถึงครูที่ใช้ปัตตาเลี่ยนไถผมนักเรียนและประจานหน้าเสาธง ครูที่ตามยึดถุงเท้าพื้นสีดำ ครูที่ห้ามนักเรียนไว้ผมหน้าม้า หรือแม้กระทั่งครูที่ห้ามนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงนั่งข้างกัน และซีรีส์เรื่อง Sex Education ซีซั่น 3 ทำให้ผู้เขียนนึกถึงครูไทย “บางคน” ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ อย่างตัวละคร Hope Haddon (โฮป แฮดเดิน) ครูใหญ่คนใหม่แห่งโรงเรียนมัวร์เดลที่ได้เข้ามา “พลิกโฉม” โรงเรียนให้เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” (Safe space) สำหรับทุกคน และปรับปรุงภาพลักษณ์โรงเรียนให้ใสสะอาดมากที่สุด แต่พื้นที่ปลอดภัยแห่งนี้กลับกลายเป็นเหมือน “คุก” ที่ทำลายอัตลักษณ์ของเด็กวัยรุ่นจนไม่เหลือความเป็นตัวเอง เหมือนอย่างที่นักเรียนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกันอยู่ในปัจจุบัน


(เนื้อหาต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในเรื่อง)


“I told you, it’s never just the line.” ราฮีมบอกกับเพื่อนหลังจากที่โฮปประกาศว่า ต่อจากนี้นักเรียนทุกคนจะต้องใส่เครื่องแบบตามที่โรงเรียนกำหนด ห้ามฝ่าฝืน และไม่มีการต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ โฮปให้ช่างทาสีล็อคเกอร์กับกำแพงภายในโรงเรียน และขีดเส้นแบ่งให้นักเรียนเดินเป็นแถวตรง โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการให้ทุกคนมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเดินของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นกับนักเรียนไทยเช่นกัน โดยที่ทุกคนต้องต่อแถวเดินเข้าชั้นเรียน ซ้ำร้ายหากแถวไม่ตรงอย่างที่ครูต้องการ อาจโดนทำโทษยกห้อง อย่างที่ราฮีมบอกไว้ว่ามันจะไม่จบอยู่แค่ “เส้น” บนทางเดิน เมื่อใดที่ครูเริ่มใช้อำนาจ “ขีดเส้น” ให้นักเรียนเดินตาม เมื่อนั้นคือเวลาที่สิทธิเสรีภาพของนักเรียนกำลังหายไป


สังเกตได้ว่าการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักเรียนมักจะเริ่มจากเรื่องภายนอก แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของอำนาจนิยมในโรงเรียน (หรือแม้กระทั่งนอกโรงเรียน) คือต้องการควบคุมจิตใจของนักเรียนในฐานะผู้ถูกปกครอง เพราะการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของคน เกิดจากความรู้สึกนึกคิด นิสัยใจคอ อุดมการณ์ ความเชื่อ รวมถึงรสนิยมทางเพศ และเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของโรงเรียน ครูอย่างโฮปและครูไทยบางคนจึงพยายามกีดกันไม่ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นที่แปลกแยกไปจากบรรทัดฐานเดิม จนนำไปสู่การรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของนักเรียน แม้กระทั่งเรื่องบนเตียงของนักเรียนด้วย


ในซีรีส์เรื่องนี้มีฉากที่นักเรียนต้องเข้าเรียนวิชา “การเจริญเติบโตและการพัฒนา” (Growth and Development) ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อจากวิชา “เพศและความสัมพันธ์” (Sex and Relationships Education: SRE) ในวิชานี้มีการห้ามไม่ให้นักเรียนถามคำถามใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงให้นักเรียนชายและหญิงแยกกันเรียน นักเรียนที่เป็นเควียร์ (Queer) จึงโต้กลับโฮปไปว่า “ถ้างั้นห้องเรียนนี้ใช้แค่ช่องคลอดกับองคชาตเป็นตัวกำหนดสินะ” แสดงให้เห็นว่า โฮปมองข้ามความหลากหลายทางเพศของเด็ก และยังยึดติดกับกรอบ Binary อยู่ มิหนำซ้ำเนื้อหาการเรียนยังสร้างความเข้าใจผิดให้นักเรียนกลัวการมีเพศสัมพันธ์ โดยให้วิทยากรภายนอกมาบรรยายถึงความเลวร้ายของมัน และชี้แนะว่าการไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหาการเรียนยังแสดงถึงความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) อีกด้วย ฉากนี้ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงสมัยชั้นประถมศึกษาที่ครูเปิดคลิปการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัยให้ดูและพยายามปลูกฝังค่านิยมรักนวลสงวนตัว รวมถึงสอนให้นักเรียนไม่ชิงสุกก่อนห่ามด้วยการสร้างภาพจำเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ว่าเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมและน่าอาย อีกทั้งบรรยากาศในห้องเรียนก็ไม่เอื้อให้เกิดการถกเถียง


แต่ถ้าลองพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่าทั้งโฮปและครูไทยต่างก็เป็นเบี้ยล่างของผู้มีอำนาจอีกชั้นหนึ่ง จากซีรีส์จะพบว่าโฮปต้องการลบภาพจำของโรงเรียนมัวร์เดลว่าเป็น “Sex School” เพื่อเอาใจนายทุน ไม่ใช่เพื่อตัวนักเรียน แต่เธอกลับใช้ข้ออ้างดังกล่าวมาสนับสนุนการกระทำของตน เมื่อเทียบกับประเทศไทย ครูที่พยายามเน้นย้ำเรื่องระเบียบวินัยก็จะอ้างว่าทำไปเพราะต้องการสร้างคนดีออกสู่สังคม รวมถึงเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษในวันที่มีคณะกรรมการมาประเมินโรงเรียน แต่สุดท้ายแล้วการเน้นย้ำเรื่องระเบียบวินัยนั้นก็เป็นเพียงแค่ผักชีโรยหน้าที่ทำไปเพียงเพื่อโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง อำนาจทับซ้อนนี้อาจเป็นต้นตอสำคัญของการกำเนิดตัวละครอย่างโฮป และครูไทยในโลกแห่งความเป็นจริง


สุดท้ายแล้วโฮปอาจไม่ได้เพียงสะท้อนภาพครูไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นคนในระบบคนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของโรงเรียน เพราะพวกเราต่างต้องทนอยู่กับกฎระเบียบที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพมาตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน จนอาจพูดได้ว่า เราสูญเสียตัวตนมามากกว่า 10 ปีแล้ว และหากระบบการศึกษาไทยยังเน้นสร้างเด็กให้เป็น “คนดี” ด้วยวิธีทำลายตัวตนของพวกเขาอยู่อย่างนี้ ต่อให้ร่างยุทธศาสตร์ชาติอีกสักกี่ร้อยปี ประเทศไทยก็คงไม่มีทางเจริญ


เนื้อหา : เพ็ญพิชชา พุ่มเปี่ยม

พิสูจน์อักษร : กัญญาวีร์ ศิริมโนรม, ภูรรินทร์ วิบูลย์จันทร์

ภาพ : อภิชญา ยอดนิล


อ้างอิง :

https://sexeducation.fandom.com/wiki/Hope_Haddon