Imposter Syndrome สุดท้ายแล้วฉันเก่งจริงไหมนะ

Imposter Syndrome สุดท้ายแล้วฉันเก่งจริงไหมนะ

.

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “อิมโพสเตอร์” จากตัวละครในเกมยอดฮิตอย่าง Among Us ซึ่งตัวอิมโพสเตอร์นี้มีเป้าหมายคือ ปกปิดตัวตน ทำลายส่วนต่าง ๆ ในแผนที่ และฆ่าลูกเรือก่อนที่พวกเขาจะทำภารกิจสำเร็จ อย่างไรก็ตาม คำว่า “อิมโพสเตอร์” ไม่ได้มีแค่ในเกมเท่านั้น เราอาจเจออิมโพสเตอร์ในชีวิตจริงซึ่งอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เคยคิดไว้ก็เป็นได้

.

Imposter Syndrome ได้รับการนิยามขึ้นครั้งแรกราว ๆ ปี ค.ศ.1970 โดยนักจิตวิทยาคลินิก Pauline Clance และ Suzanne Imes คนที่มีอาการนี้มักจะรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลเกี่ยวกับความสามารถหรือความสำเร็จของตัวเอง มักคิดว่าตนเองไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถมากพอ และมักรู้สึกกลัวว่าวันหนึ่งผู้อื่นจะจับได้ว่าตนเองนั้นไม่ได้เก่งจริง ๆ

.

“สอบได้ 18 เต็ม 20 แต่ยังตกค่าเฉลี่ย”

โลกแห่งการแข่งขัน โลกทุนนิยมที่บีบบังคับให้เราต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอด สังคมมหาวิทยาลัยหรือสังคมการทำงานที่เต็มไปด้วยหัวกะทิ ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้บางครั้งเรารู้สึกว่า “ฉันเก่งพอไหมนะ” “ฉันสู้คนอื่นได้หรือเปล่า” หรือ “ทำไมคนอื่นรู้ แต่ฉันไม่รู้” จนทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าในตนเอง และความมั่นใจในตนเองลดลง ถึงแม้จะได้รับคำชมจากคนรอบข้าง แต่เรามักจะคิดเสมอว่า “ฉันไม่คู่ควรกับคำชมนี้เสียเลย” หรือมองว่าความสำเร็จที่เราได้รับมาเป็นเพียงแค่โชค จังหวะ หรือโอกาสเท่านั้น จึงต้องพัฒนาตนเองเพื่อพิสูจน์ว่าความสามารถของเราไม่ใช่เรื่อง “หลอกลวง”

.

Imposter Syndrome ไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่กับคนธรรมดา แม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง Natalie Portman ผู้รับบท Jane Foster จาก Thor ภาพยนตร์ชื่อดังของ Marvel Studios ก็เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ (Time) ว่าตนมีอาการนี้เช่นกัน ถึงแม้เจ้าตัวจะเคยได้รับรางวัลออสการ์มากมาย หรือเรียนจบจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard แต่เธอกลับรู้สึกไม่เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “I wasn’t smart enough to be in this company and that every time I opened my mouth, I would have to prove I wasn’t just a dumb actress.” (ฉันไม่ฉลาดพอที่จะอยู่ในบริษัทนี้ และทุกครั้งที่ฉันเปิดปากพูด ฉันต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าฉันไม่ใช่เพียงแค่นักแสดงโง่เง่า)

.

อย่าชะล่าใจว่าความรู้สึกด้อยศักยภาพในตนเองเช่นนี้จะไม่มีผลกระทบที่ร้ายแรง เพราะความจริงแล้วความรู้สึกนี้อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า โรคเครียดสะสม หรือการขาดความมั่นใจในตนเองได้ในที่สุด

.

ดังนั้น อักษรสาราจึงนำวิธีรับมือและประคับประคองสภาพจิตใจจากอาการเหล่านี้มาฝากทุกคน 3 ข้อด้วยกัน

1. ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เพราะหากเรานำผู้อื่นมาเปรียบเทียบกับตัวเราเอง เราอาจรู้สึกว่าตนเองรู้น้อยกว่า ด้อยกว่า หรือไม่สมควรอยู่ในที่ที่อยู่ ณ ตอนนี้

2. ลองหาเพื่อนคุย แบ่งปันความรู้สึกกับคนรอบข้าง บางครั้งการเก็บความรู้สึกแย่ ๆ ไว้กับตนเองเพียงผู้เดียวอาจทำให้เกิดความเครียดสะสมมากเกินไป

3. ให้กำลังใจตนเองอยู่เสมอ และพยายามมองโลกในแง่บวก

.

อย่างไรก็ตาม หากผู้อ่านรู้สึกว่าอาการเหล่านี้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การเข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถลงทะเบียนเข้ารับการปรึกษาได้ที่ https://chula.wellness.in.th/

.

สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้อ่านพึงระลึกไว้เสมอว่าคนเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง และตัวเราในวันนี้ก็เป็นเราในเวอร์ชันที่เก่งกว่าเมื่อวาน ดังนั้น อย่าลืมให้อภัยตนเองเมื่อทำผิดพลาด และจงจำไว้เสมอว่าคุณไม่ได้เดียวดาย เมื่อเกิดปัญหายังมีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจคุณอยู่เสมอ

.

เนื้อหา : ธัญชนก โยธามาตย์

พิสูจน์อักษร : กัญญาวีร์ ศิริมโนรม และ วรินทร สายอาริน

ภาพ : ภูริทัต ชูชัยยะ

.

อ้างอิง :

Wikipedia. (2021). อะมังอัส. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2021, จาก https://th.wikipedia.org/.../%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%A1...


Arlin Cuncic. (2021). What is Imposter Syndrome?. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2021, จาก

https://www.verywellmind.com/imposter-syndrome-and-social...


Innews. (2021). Imposter Syndrome อาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2021, จาก https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_87313/


Simone Torn. (2020). Natalie Portman Opens up About Having Impostor Syndrome. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2021, จาก https://www.cheatsheet.com/.../natalie-portman-opens-up.../