Philosophy and Politics of Porn: การผลิตซ้ำชีวิตเซ็กส์และความปรารถนาทางเพศผ่านอุตสาหกรรมหนังโป๊ในศตวรรษที่ 21
.
ในทศวรรษที่ 1980 ปัญหาเรื่อง “สื่อลามกอนาจาร” (Pornography) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะภายในขบวนการเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สอง (Second-wave feminism) ที่ประเด็นดังกล่าวได้ก่อให้เกิดจุดแตกหักทางความคิดของนักสตรีนิยมสองฝ่ายว่า สื่อลามกประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึง “หนังโป๊” นั้นเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในการผลิตซ้ำความรุนแรงและการกดขี่ผู้หญิง หรือแท้จริงแล้วมันคือหนทางที่จะนำไปสู่การปลดแอกความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงโดยปราศจากการถูกตีตรากันแน่
.
สำหรับเฟมินิสต์ที่ต่อต้านสื่อลามก หนังโป๊คือการฉายภาพของการกดขี่ผู้หญิงผ่านเซ็กส์ที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการทางเพศและความพึงพอใจของฝ่ายหญิง เซ็กส์ที่ปราศจากการยินยอม เซ็กส์ที่ทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องชวนฝัน และหากจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว มันก็คือ “เซ็กส์สำหรับผู้ชาย” เท่านั้น
.
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการกำเนิดขึ้นของอุตสาหกรรมหนังโป๊เองก็วางอยู่บนพื้นฐานของการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงในชนชั้นแรงงาน แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงผู้หญิงข้ามเพศและเควียร์ด้วย
.
แนวคิดของเฟมินิสต์กลุ่มดังกล่าวได้ถูกท้าทายและโจมตีอย่างหนัก ทั้งจากฝ่ายปฏิกิริยาและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีด้วยกันเอง ซึ่งมองว่าข้อวิจารณ์ในลักษณะนี้เป็นคำกล่าวที่เกินจริงเกี่ยวกับอำนาจของหนังโป๊ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หนังโป๊เองก็ส่งผลดีมากมายต่อสิทธิ เสรีภาพ และสุขภาวะทางเพศของผู้หญิง ไม่ว่าจะในแง่ของการแสดงออกถึงวิถีชีวิตทางเพศอย่างเปิดกว้าง หรือการปลดปล่อยความปรารถนาและรสนิยมทางเพศของผู้หญิงและเควียร์ (เช่นในกรณีของหนังโป๊สำหรับผู้หญิงหรือหนังโป๊เควียร์)
.
อย่างไรก็ดี ในหนังสือ The Right to Sex: Feminism in the Twenty-First Century (2021) นักปรัชญาอย่างอาเมีย ศรีนิวาสัน (Amia Srinivasan) ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ที่โลกได้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ข้อกังวลและคำเตือนของเหล่า Anti-porn Feminists จากยุค 80s ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกขึ้นมาขบคิดกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
.
เมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และโลกได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ‘หนังโป๊ออนไลน์’ (Internet porn) ก็เข้าถึงได้ง่ายและเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ในปี 2018 ห้าเว็บไซต์หนังโป๊ที่ใหญ่ที่สุดมียอดเข้าชมรวมกันสูงกว่า 6 พันล้านครั้งต่อเดือน โดยจากการสำรวจพบว่าอายุเฉลี่ยของเยาวชนที่เริ่มเข้าถึงและรับชมหนังโป๊นั้นอยู่ที่ 11 ปี นั่นหมายความว่าสำหรับคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคดิจิทัล ประสบการณ์ครั้งแรกและความเข้าใจขั้นต้นเกี่ยวกับเซ็กส์ของพวกเขานั้นเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งสำหรับศรีนิวาสันแล้ว มันคือพื้นที่บ่มเพาะเชิงอุดมการณ์ (Ideological training ground) ที่สนับสนุนโครงสร้างชายเป็นใหญ่และความเกลียดชังต่อผู้หญิง (Misogyny)
.
เมื่อเพศศึกษาในโรงเรียนไร้ประสิทธิภาพ แหล่งทรัพยากรทางความรู้ที่พอจะเหลืออยู่ก็คือเว็บโป๊ แต่ในความเห็นของเธอ สิ่งที่เว็บโป๊กระแสหลักทำนั้นไม่ใช่การให้ความรู้ด้านเพศศึกษา แต่มันกำลัง ‘ฝึก’ ให้คนมีเซ็กส์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ตามแต่ที่อัลกอริธึม (Algorithm) จะกำหนดให้
.
“สำหรับพวกเขาแล้ว เซ็กส์คืออะไรก็ตามที่หนังโป๊บอกว่ามันเป็น” ศรีนิวาสันตั้งข้อสังเกตจากการพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับนักเรียนในคลาสของเธอ
.
หนังโป๊ไม่ได้เพียงแค่ควบคุมการเคลื่อนไหว ท่าทาง หรือลักษณะในเชิงกายภาพของการมีเซ็กส์เท่านั้น แต่มันยังกำกับความปรารถนาทางเพศและความรู้สึกขณะมีเซ็กส์ด้วย ดังนั้น หนังโป๊จึงกลายเป็นบรรทัดฐาน (Normative standard) ของเซ็กส์ ที่กำหนดว่าเซ็กส์ควรมีหน้าตาแบบไหน เซ็กส์ที่ดีควรเป็นอย่างไร และผู้หญิงที่ “น่าเอา” (Fuckable) ต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้าง
.
ในแง่นี้ หนังโป๊จึงไม่ได้เพียงแค่สะท้อนภาพของความรุนแรงต่อผู้หญิงในโลกความเป็นจริง แต่ตัวมันเองได้ทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาด้วยอำนาจที่ศรีนิวาสันเรียกว่า “พลังในการสร้างโลก” (World-making power) ซึ่งผลิตซ้ำอุดมการณ์และความปรารถนาทางเพศภายใต้กรอบคิดปิตาธิปไตย และทำให้การอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าของเพศหญิงและความก้าวร้าวรุนแรงของเพศชายกลายเป็นเรื่องอีโรติกที่น่าเย้ายวนชวนฝัน
.
ข้อกังวลของศรีนิวาสันนั้นแตกต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าการบริโภคหนังโป๊นั้นเป็นการบ่อนทำลายคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ของเซ็กส์ในวิธีคิดแบบคริสเตียน สำหรับเธอแล้ว ความน่ากลัวของหนังโป๊อยู่ที่การลดทอนศักยภาพในการจะสร้างสรรค์และจินตนาการถึงเซ็กส์ในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือไปจากเซ็กส์ที่ถูกกำกับควบคุมโดยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่และระบบทุนนิยม
.
แน่นอนว่าในแง่หนึ่งแล้ว อินเทอร์เน็ตคืออิสรภาพในการสำรวจเซ็กส์และรสนิยมใหม่ ๆ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ศรีนิวาสันเห็นว่าเว็บโป๊กระแสหลักนั้นไม่ได้มอบเสรีภาพในการสำรวจทดลองแก่เรา ในทางตรงกันข้าม มันกำลังหลอมรวมความปรารถนาทางเพศของเราให้เป็นรูปแบบเดียว เพื่อที่พวกเขาจะได้ ‘ขายของ’ ให้เรา ผ่านการใช้อัลกอริธึมที่เลือกสรรให้ว่าวันนี้เราจะ “เสร็จ” กับอะไรดี
.
ท้ายที่สุดแล้ว ศรีนิวาสันเห็นว่าอันตรายของหนังโป๊นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวของมันเอง หากแต่เป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ เพศ และระบบการศึกษาที่ล้มเหลว เราจะเสพหนังโป๊อย่างไรไม่ให้ความปรารถนาที่แท้จริงของเราถูกกลืนกินไปเสียก่อน? สิ่งที่เราพอจะทำได้คือการหาทางเลือกของเพศศึกษาที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ที่ไม่ใช่การบอกความจริงเกี่ยวกับเซ็กส์ว่า “มันคืออะไร” แต่เป็นการเคารพในการตื่นรู้และให้สิทธิอำนาจทุกคนในการเลือกว่าเซ็กส์ “สามารถเป็นอะไรได้บ้าง”
.
เซ็กส์จะเป็นเรื่องของความรุนแรง ความเห็นแก่ตัว และความไม่เท่าเทียม หรือเซ็กส์จะเป็นสิ่งที่เปี่ยมไปด้วยความสุข เท่าเทียม และเป็นอิสระอย่างแท้จริง?
.
เนื้อหา : ภูวิศ พิศวง
พิสูจน์อักษร : ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์ และ พรรวษา เจริญวงศ์
ภาพ : พศรินทร์ ตรีไพชยนต์ศักดิ์
.
อ้างอิง :
Srinivasan, A. (2021). The right to sex: Feminism in the twenty-first century.Bloomsbury
https://www.prospectmagazine.co.uk/.../the-philosophy-of...
https://theconversation.com/yes-your-child-will-be...