“Toxic Productivity” เมื่อความขยันหันกลับมาทำร้ายเรา
ทุกคนเคยเป็นกันไหม…?
- ปล่อยให้ตัวเองอยู่เฉยไม่ได้ ว่างเมื่อไหร่ต้องหางานมาทำ
- เวิร์คไร้บาลานซ์ เวลาพักผ่อนกับเวลาทำงานปนกันไปหมด
- รู้สึกผิดกับตัวเองมาก ถ้าวันไหนไม่โปรดักทีฟ
- ยิ่งเห็นคนอื่นทำงาน ยิ่งรู้สึกกดดัน ต้องหางานมาทำเพิ่มอีก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “Toxic Productivity” หรือกับดักความโปรดักทีฟที่คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนกำลังเผชิญอยู่ ภาวะที่ไม่ว่าร่างกายและจิตใจจะเหนื่อยล้า หรือบอบช้ำมากแค่ไหน ก็ต้องทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เพื่อที่ว่าตัวเองจะได้ไม่หลุดกรอบของการเป็น “มนุษย์โปรดักทีฟ” หรือถ้าวันไหนไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีสาระ ก็จะไม่วายเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และรู้สึกผิดว่าทำไมวันนี้ถึงทำตัวขี้เกียจเช่นนี้ ตารางชีวิตในหนึ่งวันจึงต้องตื่นนอนแต่เช้า อ่านหนังสือ ทำงานทั้งวันแทบไม่พัก ประชุมงานจนปวดหลัง และจบที่โต้รุ่งยันตีสาม และไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ชีวิตประจำวันอันสุดแสนจะโปรดักทีฟแบบนี้นี่เองที่เรียกว่า “Toxic Productivity”
ปัญหา Toxic Productivity ของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทั้งสังคมทุนนิยมที่ปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง จนต้องรีบเติบโต ต้องพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดพัก ทั้งวัฒนธรรมการทำงานที่เอาแต่เชิดชูการโหมงานหนัก และแนวคิดแบบ Perfectionism ที่ทำให้มนุษย์หวาดกลัวความผิดพลาด รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่หล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่ทั้งหลายเริ่มกดดันตัวเองในทุก ๆ ด้าน ทั้งยังเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกติดอยู่กับการมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น จนสุดท้าย คุณค่าแห่งความโปรดักทีฟนี้ที่ยึดถือไว้ ก็กลับกลายมาเป็นหนามแหลมที่คอยทิ่มแทงทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเอง
เมื่อโลกทุนนิยมทำให้ “ความโปรดักทีฟ” กลายเป็นตัววัด “คุณค่าของมนุษย์” จนเป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่ต้องพยายามทำตัวให้มีประโยชน์ตลอดเวลาจนชีวิตเสียสมดุลไปหมด บางครั้งพวกเขาต้องแสร้งทำเป็นว่าชื่นชอบงานที่ทำอยู่ หรือฝืนยิ้มทำงานไปทุกวัน ทั้งที่ข้างในจิตใจรู้สึกเหมือนจะตายทั้งเป็น เพราะกังวลเหลือเกินว่า ถ้าหยุดทำตัวโปรดักทีฟเมื่อไหร่ จะถูกใครต่อใครตัดสินว่าเราไม่เก่ง Toxic Productivity กำลังกดดัน และบีบบังคับให้มนุษย์ต้องเดินหน้าตลอดเวลา ไม่อาจถอยหลัง หรือหยุดพักกลางทางได้เลย
แต่ทว่า ในช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ทั้งหลายกำลังติดหล่ม Toxic Productivity และทำงานกันเป็นบ้าเป็นหลังอยู่นั้น ก็มีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเขาหลงลืมไป นั่นคือความจริงที่ว่า ความโปรดักทีฟไม่สามารถนำมาวัดคุณค่าในตัวมนุษย์คนไหนได้ แน่นอนว่าการไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็อย่ากดดันตัวเองเสียจนร่างกายและจิตใจตึงเครียดจนเกินจะรับไหว ได้โปรดอย่าลืมว่า ร่างกายและจิตใจของเราก็ต้องการพักผ่อนเช่นกัน การหยุดพักเสียบ้างไม่ได้ทำให้เราสูญเสียคุณค่าใด ๆ ในชีวิตไป และการใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่โปรดักทีฟก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเสียหน่อย
ขอให้ผู้อ่านทุกคนจดจำไว้เสมอว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียนวัยมัธยม นิสิตนักศึกษา หรือผู้ใหญ่วัยทำงาน ท้ายที่สุดแล้ว งานและภาระหน้าที่ต่าง ๆ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนคุณค่าทั้งหมดของตัวเรา ลองปล่อยให้ตัวเองได้สนุกกับชีวิต ได้ทำในสิ่งที่ชอบ และได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องกดดันตัวเองเสียบ้าง เพราะเราทุกคนล้วนเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่เครื่องจักรทำงาน ที่ไร้ชีวิตจิตใจ
เนื้อหา : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
พิสูจน์อักษร : พิชชาภรณ์ วรบุตร, ภูรรินทร์ วิบูลย์จันทร์
ภาพ : ภัทรัฏฐ์ อัชชเสวิน