Why is love so hard?: จะมีความรักแต่ละที ทำไมมันยากจัง?

Why is love so hard?: จะมีความรักแต่ละที ทำไมมันยากจัง?

.

‘14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์’ วลีที่ใคร ๆ ต่างก็คงเคยได้ยิน

‘วันวาเลนไทน์’ ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็น ‘วันแห่งความรัก’

ไม่ว่าจะเข้าอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ไลน์ออฟฟิเชียลก็มีข้อความ ‘Happy Valentine’s Day’ ขึ้นมาเต็มไปหมด กุหลาบแดงเต็มหน้าฟีด ช็อกโกแลตหลากหลายแบรนด์ที่วางขายอยู่เต็มชั้น

ทว่า

ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรักน่ะสิ

.

ปัจจุบันอัตราการแต่งงานในประเทศไทยกำลังลดลงไปพร้อม ๆ กับอัตราการเกิด และจากผลการสำรวจคนโสดกว่า 2,500 คนในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และไทยในปี 2021 โดย MeetNLunch บริษัทจัดหาคู่รายใหญ่ในเอเชีย พบว่ามีคนโสดไทยถึงร้อยละ 69 (จากผู้เข้าร่วม 630 คน) ที่ยังไม่ได้ไปเดตในปี 2021 ร้อยละ 78 ยังไม่เคยแม้แต่เดตเสมือนจริง และอีกร้อยละ 75 คือกลุ่มคนโสดที่รู้สึกประหม่าที่จะออกเดตอีกครั้ง แน่นอนว่าปัจจัยหลักนั้นมาจากโรคระบาดอย่าง COVID-19 ที่ทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมต้องแยกกันอยู่และต้องติดต่อกันผ่านหน้าจออย่างเลี่ยงไม่ได้ และแม้ว่าการติดต่อกันผ่านหน้าจอจะเป็นไปได้ด้วยดีด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นแบบนี้นั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าการได้พบเจอกับบุคคลนั้นจริง ๆ หนำซ้ำการอยู่ตัวคนเดียวนาน ๆ ยังทำให้มนุษย์เกิดความเครียดและค่อย ๆ สูญเสียความมั่นใจไปพร้อม ๆ กับทักษะทางสังคมอีกด้วย

.

‘ทำไมถึงยังโสด’

.

คำถามที่หลาย ๆ คนคงเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือถูกคนอื่นตั้งคำถาม บ้างก็หาคำตอบได้ บ้างก็หาไม่ได้ บ้างก็ยังคงเฝ้าตามหามัน ‘ก็แค่ยังอยากสนุกกับชีวิตโสด’ ‘ยังไม่อยากเอาตัวเองไปผูกมัดกับใคร’ ‘อยู่คนเดียวก็ชีวิตดีอยู่แล้ว’ ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ และสามารถใช้ชีวิตโสดได้อย่างมีความสุข แต่สำหรับคนที่ยังหาคำตอบไม่ได้ล่ะ คนที่บางจังหวะอยากมีแฟน แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาก็คิดว่าไม่อยากมีแล้ว หรือคนที่พูดว่า ‘ไม่เป็นไร ไม่มีก็ได้’ แต่ลึก ๆ ยังโหยหาความรักจากใครสักคนที่ไม่ใช่ครอบครัวหรือเพื่อนอยู่เสมอ แต่เมื่อมีคนเข้าหาเข้าจริง ๆ ก็มักจะส่ายหน้าและถอยหนี ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ทำความรู้จักกันดี

.

อยากมีแฟนแต่ไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ๆ

อยากมีแฟนแต่ไม่อยากออกจาก Comfort Zone

อยากมีแฟนแต่รู้สึกตัวเองไม่ดีพอ

อยากมีแฟนแต่รู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรัก

.

ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไรกันนะ?

.

สิ่งที่น่าสนใจคือจากผลสำรวจข้างต้น เมื่อได้ถามถึงสาเหตุนั้น มีผู้คนถึงร้อยละ 48 ที่กล่าวว่าพวกเขาไม่มั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกไม่กล้า ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกกลัวความรัก ความรู้สึกทั้งหมดนี้ดูเผิน ๆ แล้ว แล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่กระทบชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

.

หากลองพินิจพิจารณาดูให้ดีแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่ได้ไม่อยากมีความรัก พวกเขาเพียงแค่กำลังรู้สึกว่าพวกเขาไม่คู่ควรกับคนอื่น ไม่คู่ควรกับสิ่งที่เรียกว่าความรัก กำลังรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะดูไม่ดี ไม่น่ารักในสายตาคนอื่น การมีความรักอาจส่งผลให้คนกลุ่มนี้นั้นเครียดกว่าเดิม เพราะพวกเขามักจะคิดว่าตัวเองนั้นไม่สามารถเป็นคนรักที่ดีแบบที่อีกฝ่ายหวังไว้ได้ พวกเขาไม่อยากให้ใครมาคาดหวังในตัวเอง ไม่อยากจะทำให้ใครต้องผิดหวัง เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง คนที่เสียใจที่สุดก็จะเป็นตัวพวกเขาเอง ฉะนั้น การอยู่คนเดียวจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด อาจจะกล่าวได้ว่าคนกลุ่มนี้กำลังอยู่ในภาวะ ‘กลัวความรัก’ หรือ ‘Philophobia’ ที่เป็นภาวะความกลัวอย่างหนึ่งของมนุษย์

.

ภาวะกลัวความรักนี้อาจจะมีอาการตั้งแต่วิตกกังวลภายในใจไปจนถึงอาการทางกายภายนอกอย่างการวิงเวียนศีรษะ สั่นกลัว หรือเป็นลมเมื่อต้องข้องเกี่ยวกับการเริ่มต้นความสัมพันธ์หรือความรัก บุคคลที่รู้ตัวว่าตนเองเริ่มมีอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แต่เมื่อรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเก็บตัว หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม และไม่สามารถแก้ไขมันได้ด้วยตัวเอง การเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์นั้นก็ถเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง

.

อย่างไรก็ตาม ‘การกลัว’ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนเราจะกลัวสิ่งที่ไม่เคยประสบ หรือกลัวสิ่งที่เคยมีประสบการณ์ไม่ดีด้วย การกลัวความรักเองก็เช่นกัน บางคนจะกลัวเพราะไม่เคยมีความรักก็ไม่ผิด บางคนกลัวเพราะความทรงจำในอดีตก็ไม่ผิด หรือบางคนไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครเพราะไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ผิดเช่นกัน แต่จงพึงระลึกไว้เสมอว่า ‘มนุษย์ทุกคนนั้นสมควรได้รับความรัก’ ไม่ว่าจะเป็นความรักจากครอบครัว เพื่อน หรือคนรักก็ตาม

.

หากยังกลัวและยังไม่อยากจะศึกษาดูใจกับใคร ไม่อยากเอาใจของตัวเองไปผูกมัดกับใคร ไม่มั่นใจในตัวเอง หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองสมควรได้รับความรักไหม ‘การเรียนรู้ที่จะให้ใจกับตนเอง’ หรือ ‘การรักตนเอง’ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้เขียนแนะนำ เพราะน่าแปลกเหลือเกินที่มนุษย์มักจะมองข้ามสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดอย่าง ‘ตัวเอง’ ไป อาจจะเป็นเพราะเราถูกสอนว่าให้ใส่ใจคนอื่นตั้งแต่ยังเด็ก แต่แทบไม่เคยมีใครสอนให้เรารักตัวเองเลย

.

ความรักมีหลายรูปแบบและการรักตัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หากยังไม่คิดที่จะเริ่มต้นใหม่กับใคร ยังไม่มั่นใจว่าจะรักใคร ไม่มั่นใจว่าจะรักษาความสัมพันธ์ได้รึเปล่า หากคิดว่าการตามหาความรักมันเหนื่อย การหยุดพักดูแลใจตัวเองก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

.

บางที การหยุดพักในครั้งนี้ อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจความรู้สึกที่อยู่ภายในใจมากขึ้น และค่อย ๆ ยอมรับมันเพิ่มขึ้นทีละนิด ทีละนิด และท้ายที่สุด สิ่งที่คุณเคยคิดว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุดอย่างการรักและเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นก็จะเกิดขึ้น ซึ่งหากรักตัวเองได้แล้ว การรักคนอื่นก็คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรแล้วใช่ไหมล่ะ ?

.

เนื้อหา : ธนพร รัตนมณี

พิสูจน์อักษร : ลลดาภัทร เบญญาพุฒิภัส และ ภูรรินทร์ วิบูลย์จันทร์

ภาพ : พศรินทร์ ตรีไพชยนต์ศักดิ์

.

ที่มาของข้อมูล : https://www.healthline.com/health/philophobia

https://www.webmd.com/anxiety-panic/what-is-philophobia

https://thestandard.co/69-percents-of-single-thai-did.../