‘กลับไปยังอดีตอันรุ่งโรจน์!’ : ละครย้อนยุคกับความสิ้นหวังของคนในปัจจุบัน

‘กลับไปยังอดีตอันรุ่งโรจน์!’ : ละครย้อนยุคกับความสิ้นหวังของคนในปัจจุบัน

.

ในประเทศที่ผู้คนต้องพึ่งโชค มีโรคระบาดหลากชนิด พิษเศรษฐกิจที่รุมทึ้ง ลามไปถึงสงครามระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้คนในยุคสมัยปัจจุบันรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังกับชีวิตของตัวเอง คงจะดีไม่น้อยหากเราได้หลีกหนีความเป็นจริงสักชั่วขณะ ท่องไปในโลกที่แสนสงบสุข วิจิตรงดงาม วัดวาอารามสูงตระหง่าน ไร้ซึ่งเงาบดบังจากตึกสูงทรุดโทรม การเที่ยวต่างจังหวัดอาจยังตัดเราไม่ขาดจากความตึงเครียดนี้ได้ ละครย้อนยุคจึงเป็นที่พึ่งทางใจของคนในปัจจุบันที่ง่ายและได้ผล (?) ทำไมไทยจึงผลิตละครย้อนยุคบ่อยเช่นนี้ กระแสตอบรับก็ดีแทบทุกเรื่อง อักษรสาราขอพาทุกคนหันกลับมามองตัวเองผ่านการดูละครย้อนยุคกัน

.

#ย้อนเวลากลับไปยังเซฟโซน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไวรัสที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเปลี่ยนชีวิตปกติของเราไปอย่างน่าใจหาย ไม่แปลกที่เราจะต้องการความมั่นคงทางจิตใจ เราอยากตอบให้ได้ว่าต้องทำเช่นไรจึงจะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งให้สำเร็จลุล่วง การแก้ปัญหาในปัจจุบันเป็นไปด้วยความไม่แน่นอน และต้องรับผลลัพธ์ที่จะตามมาในอนาคต แต่การมองปัญหาในอดีตไม่ก่อให้เกิดผลเสียใด ๆ เรายังได้รู้อีกด้วยว่าคนในอดีตต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรจึงจะรอดพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้ ความรู้สึก ‘รู้แจ้ง’ และ ‘ปลอดภัย’ นี้เองที่เป็นหนึ่งในสาเหตุให้ผู้คนชอบดูละครย้อนยุค ละครย้อนยุคไม่เพียงแต่ตอบสนองความคิดถึงอดีต (nostalgia) เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรารู้สึกเหมือนสามารถรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน ความผันผวน และความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในปัจจุบันอีกด้วย นอกจากนี้ การกลับไปแก้ไขปัญหาในอดีตด้วยตัวตนอีกตัวตนหนึ่งอาจทำให้คนดูรู้สึกปลอดภัยกว่าการกล่าวถึง เรียกร้อง หรือลงมือแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบันด้วยชื่อและตัวตนของตัวเอง เพราะการกระทำข้างต้นในบ้านเมืองที่สิทธิเสรีภาพยังไม่ได้รับการคุ้มครองนั้นอันตรายถึงชีวิต หลายครั้งผู้ประพันธ์จึงเลือกพูดถึงปัญหาในปัจจุบัน โดยใช้อดีตเป็นฉากบังไว้ และผู้ชมจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกสบายใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ในอดีตมากกว่าปัจจุบัน

.

#ย้อนเวลากลับไปยังบ้านเมืองที่งดงาม เมื่อประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองมากพอ เมืองต่าง ๆ ในประเทศจึงก่อร่างสร้างตัวอย่างไร้ระเบียบ ไม่มีระบบที่รองรับคนจำนวนมากอย่างเพียงพอ ใช้ระบบ ‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’ ใครมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็จะได้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกนานาชนิด ส่วนคนที่ฐานะไม่ดีเท่าก็จะถูกผลักออกไปอยู่ไกลจากความเจริญ ซ้ำร้ายในหลายชุมชนยังต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดเบียดเสียดอีกด้วย คงไม่น่าอภิรมย์นักที่จะต้องใช้ชีวิตในเมืองเช่นนี้ หลายครั้งเมื่อคนในเมืองมีเวลาว่างก็มักจะต้องออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ พักใจที่ต่างจังหวัด ถวิลหาพื้นที่สีเขียวกว้างใหญ่ น้ำใสงดงาม แต่ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องกลับมาทำงานหาเลี้ยงชีพในเมืองที่ไร้ระเบียบนี้อยู่ดี การย้อนเวลากลับไปยังอาณาจักรโบราณที่ยังไม่ใหญ่โตจนผู้คนคับคั่งเฉกเช่นปัจจุบันจึงเป็นความฝันของใครหลายคน ได้ย้อนเวลากลับไปมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ พายเรือไปไหว้พระที่วัดฝั่งตรงข้าม เสียงไก่ขันเจื้อยแจ้วกลบเสียงแตรรถยนต์จนมิด ไม่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้ แต่ที่น่าตั้งคำถามคือ มายาคติเหล่านั้นเป็นสิ่งที่รัฐหรือชนชั้นนำสร้างเอาไว้เพื่อจูงใจประชาชนหรือเปล่าว่า ‘อดีต = สงบสุข’ เพราะในอดีตก็มีการรบพุ่ง โรคระบาด มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ไม่น้อย เมื่อรัฐและชนชั้นนำผูกขาดว่าตัวเองคือกลุ่มคนที่กำหนดคุณค่าความเป็นไทย ละครย้อนยุคในไทยจึงต้องมีภาพลักษณ์ที่งดงาม สงบสุข ไร้ซึ่งความทุกข์เป็นธรรมดา เพื่อจูงใจประชาชนว่า หากอยากให้ไทยกลับไปเป็นเมื่อแต่เก่าก่อนก็ต้องเชื่อฟังกลุ่มคนกลุ่มนี้เท่านั้น

.

#ย้อนเวลากลับไปมีตัวตน น้อยเรื่องนักที่ตัวละครจากยุคปัจจุบันจะย้อนเวลากลับไปเป็นไพร่ทาสที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ส่วนมากคนจากยุคปัจจุบันจะย้อนกลับไปเป็นคนสำคัญในอดีต มีทั้งกลับไปเป็นคนในรั้วในวัง กลับไปเป็นเจ้าขุนมูลนาย หรืออย่างน้อยก็ต้องกลับไปเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่ไม่ต้องออกไปหว่านแหไถนาแบบสามัญชนทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะโครงสร้างสังคมในปัจจุบันทำให้ประชาชนโดยทั่วไปรู้สึกเหมือนไร้อำนาจ ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การย้อนเวลากลับไปยังอดีตแล้วได้เป็นชนชั้นนำหรือนายทุนจึงเป็นเหมือนการปลดเปลื้องพันธนาการที่เหนี่ยวรั้งคนชนชั้นกลาง-ยากจนในปัจจุบันจนสิ้น เมื่อมีสถานะ อำนาจ และฐานะทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำและผู้คนในยุคสมัยนั้นแล้ว การกระทำ คำพูด หรือความต้องการใด ๆ ก็จะได้รับการตอบสนองด้วย สังเกตได้จากการที่ตัวละครจากยุคปัจจุบันมักย้อนเวลากลับไปยังรัชสมัยหรือห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เช่น รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ชาวต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในสยาม ช่วงเสียกรุงครั้งที่สองที่เป็นบาดแผลในใจของคนไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองขนานใหญ่ เช่น การเลิกทาส การก่อตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผู้คนต้องปรับตัวจากระบอบการปกครองหนึ่งไปอีกระบอบหนึ่งก็ตาม ตัวละครที่ย้อนยุคกลับไปจะมีส่วนช่วยคลี่คลายปมปัญหาโดยใช้แนวคิดของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ นำไปสู่การรู้สึก ‘มีตัวตน’ ในสังคมในที่สุด

.

แม้ละครย้อนยุคอาจสามารถสร้างความรู้สึกรักชาติให้กับคนในชาติ และสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งไปยังคนต่างชาติได้ แต่การที่ผู้คนถวิลหาอดีตอย่างมีนัยยะสำคัญอาจบ่งบอกได้ว่า เรากำลังไม่มีความสุขกับปัจจุบัน และรู้สึกไม่มั่นคงมากพอที่จะเผชิญหน้ากับอนาคต

.

เนื้อหา : ดุสิต บริสุทธิ์

พิสูจน์อักษร : กัญญาวีร์ ศิริมโนรม และ พงศภัค เหลืองทองนารา

ภาพ : อคิราภ์ ผลาหาญ

.

อ้างอิง

ภาษาไทย

วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส และอรัณย์ หนองพล, ย้อนยุคบ่อยมาก! ทำไมละครพีเรียดไทยมีเยอะจัง? | โลกคือละคร EP.10 [ออนไลน์], 30 พฤศจิกายน 2564. แหล่งที่มา https://thestandard.co/podcast/loke-kue-lakorn-ep10/

อรรถพล อนันตวรสกุล, ละคร ความบันเทิง และประวัติศาสตร์ [ออนไลน์], 12 มีนาคม 2561. แหล่งที่มา https://www.chula.ac.th/cuinside/5153/

English

Susan Devaney, Rewatching Your Favourite Period Dramas Can Improve Your Mental Health [ออนไลน์], 18 มกราคม 2564. แหล่งที่มา https://www.vogue.co.uk/.../rewatching-films-period...

Vanja M. Jaksic, Why watching historical dramas is good for you according to psychologists [ออนไลน์], 2 มีนาคม 2563. แหล่งที่มา https://www.cbc.ca/.../why-watching-historical-dramas-is...