ชวนอ่านหนังสือ 5 เล่มที่จะพาคุณออกจากโลกใบเดิม ไป ‘เปิดโลก’ ใบใหม่

ชวนอ่านหนังสือ 5 เล่มที่จะพาคุณออกจากโลกใบเดิม ไป ‘เปิดโลก’ ใบใหม่

.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือและวรรณกรรมคือกระจกสะท้อนสภาพสังคมและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราได้เปิดหูเปิดตามองโลกใบนี้ได้กว้างกว่าที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาตัวเอง

.

อักษรสาราจึงขอชวนทุกคนมาอ่านหนังสือที่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยเนื้อหาสุดลึกล้ำและการเล่าเรื่องอันเฉียบคมที่จะพาคุณออกจากโลกใบเดิม ไป ‘เปิดโลก’ ใบใหม่ กับหนังสือทั้ง 5 เล่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวในแง่มุมของความหวัง ความหลากหลาย ความเจ็บปวด หรือแม้แต่ความคับแค้นใจ

.

1. ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว ผลงานของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บันทึกเชิงสารคดีที่รวบรวมเรื่องราวของผู้คนที่เปี่ยมด้วยความหวังในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปมากถึง 13 เรื่องราวอันสะท้อนชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตาที่ยืนยันว่า ‘มนุษย์มีความหวังเป็นของตัวเองเสมอ’

.

หนังสือเล่มนี้จะพาคุณออกไปเจอกับโลกแห่งความจริงที่ซ่อนอยู่ตามซอกหลืบต่าง ๆ ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ ผ่านวิถีชีวิต ประสบการณ์ เรื่องราว รวมถึงชะตากรรมของผู้คนมากมายบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคนไทยในช่วงที่วิกฤติโควิดมาเยือน ความหวังทุกวันที่ 16 ของคนชนชั้นรากหญ้า ทางเลือกในชีวิตที่มีไม่มากนักของ Sex Worker ในไทย เสรีประชาธิปไตยที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไรของชาวฮ่องกง แรงงานพม่าในกรุงเทพฯ ที่รอคอยวันที่จะได้กลับบ้าน และอีกหลากหลายเรื่องราวชีวิตที่ไม่มีการปรุงแต่ง อันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าในทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์นั้นมีความหวังซ่อนตัวอยู่เสมอ

.

“มนุษย์น่ะ เมื่อถอดหมวกหน้าที่ออก เราก็มนุษย์ เขาก็มนุษย์ นอกจากความทุกข์ของเราเอง การมองคนอื่นทนทุกข์ก็นับเป็นเรื่องเศร้าเหลือทนของชีวิต” - ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

.

2. แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary)

.

ออกจากโลกใบเดิมที่มนุษย์ตีกรอบความหลากหลายด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘Gender Binary’ ไปสู่โลกที่พร้อมโอบรับทุกอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศไปกับ ‘แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน’ หนังสือบันทึกเรื่องราวชีวิตจริงของ อลก เวด เมนอน (Alok Vaid-Menon) ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกทำร้ายและกดทับจากอคติทางเพศของคนในสังคมตั้งแต่เด็ก อลกตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อหวังเป็นอย่างยิ่งให้ผู้คนในสังคมโอบกอดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองด้วยความรักและภาคภูมิใจ และเพื่อให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานที่พวกเขาและพวกเธอต้องพบเจอ

.

“ลองนึกดูสิว่าวัน ๆ หนึ่งคุณต้องใช้ชีวิตโดยมีคนพร่ำบอกอยู่ข้างหูตลอดเวลาว่าคุณมันทั้งปลอมทั้งผิดปกติ การได้ยินประโยคที่บั่นทอนตัวตนของคุณซ้ำ ๆ สร้างผลกระทบอันหนักหนาให้กับจิตใจอย่างไม่อาจปฏิเสธได้” - อลก เวด เมนอน (Alok Vaid-Menon)

.

3. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

.

หนังสือเล่มนี้คือบทบันทึกที่แบ่งปันเศษเสี้ยวของความอัปลักษณ์และความอัปยศของสังคมไทย เขียนโดยรัช นักข่าวคนหนึ่งที่ได้เห็นและรับรู้ถึงสังคมอันสงบสุข ทว่ามีความวิปลาสอยู่คู่ขนาน ในดินแดนที่สิทธิเสรีภาพตกต่ำเป็นเวลายาวนาน จนความอยุติธรรมกลายเป็นมาตรฐานปกติ ในที่ที่ชีวิตของสามัญชนมีค่าเพียงเศษฝุ่นของชนชั้นสูง และทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความโหดเหี้ยมในประเทศที่ตัวเลข ‘112’ สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ในชั่วพริบตา

.

รัชถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ด้วยภาษาเรียบง่าย ไม่ได้หวือหวาหรือมีสำบัดสำนวนอะไรมากมาย ทว่ากลับบาดลึกและร้าวรานจิตใจของผู้อ่านได้ในทุก ๆ บรรทัด บรรยากาศแห่งความทุกข์ระทมและสิ้นหวังถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือ รวมถึงความเจ็บปวดอันเกินจะจินตนาการของผู้คนที่รัชนำมาเล่าให้ฟังนั้นล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนแห่งนี้ที่พวกเรากำลังอาศัยอยู่มันโคตร ‘วิปลาส’

.

“ศาลสั่งจำคุก 13 ปี จากการปล่อยให้มีข้อความของคนอื่น 2 ข้อความปรากฏบนเว็บไซต์ที่เขาดูแล ตอนนั้นเองที่ฉันได้กลิ่นหวานอุ่นของความรักอวลเต็มห้อง ปนกลิ่นสาบฉุนของความสิ้นหวัง” – รัช

.

4. ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind)

.

วรรณกรรมแนวดิสโทเปียเรื่อง ดินแดนคนตาบอด แต่งโดยเฮอร์เบิร์ต จอร์จ หรือที่รู้จักในนาม เอช. จี. เวลส์ เป็นนวนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘นูเนซ’ คนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งพลัดหลงเข้าไปใน ‘ดินแดนคนตาบอด’ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาซึ่งตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ณ ที่แห่งนี้ ประชาชนทุกคนล้วนตาบอด พวกเขาจึงดำเนินชีวิตด้วยบรรทัดฐานอันเก่าแก่ที่บรรพบุรุษสร้างมาตั้งแต่อดีตกาล ทำให้การมีตาดีที่มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้กระจ่างชัดแบบนูเนซกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดและไม่อาจยอมรับได้

.

เรื่องราวและชะตากรรมของนูเนซในดินแดนคนตาบอดนี้สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางการเมืองในยุคสมัยแห่งการ ‘ตื่นรู้’ ที่ผู้คน ‘ตาสว่าง’ มากพอที่จะกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับความลับที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านได้ลองหันกลับมามองย้อนสังคมในปัจจุบัน และตั้งคำถามต่อค่านิยมเชิดชูสถาบันเบื้องบนที่ทำร้ายใครต่อใครมาเนิ่นนานอย่างเช่นที่นูเนซทำ

.

“หากอยากอยู่รอดปลอดภัย จงทำตาให้บอด เฉกเช่นผู้ที่ปราศจากความสามารถในการมองเห็นของประเทศนั้น … จาก ‘มองเห็นอะไรไม่เหมือนคนอื่น ๆ ’ เป็น ‘มองอะไรไม่เห็นเหมือนคนอื่นๆ ’ อัดอั้นตันใจเพียงใดถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าถูกฝูงพลเมืองดีตาบอดรุมทำร้าย หรือถูกผู้ทรงอำนาจของเผ่าเรียกเข้าถ้ำไปปรับทัศนคติ”

.

5. 1984 (หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่)

.

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยผ่านหูผ่านตาชื่อหนังสือเล่มนี้มาบ้าง 1984 คือนวนิยายคลาสสิกแห่งยุคสมัยของจอร์จ ออร์เวลล์ ด้วยเนื้อหาอันเข้มข้นและสำนวนการเขียนที่เสียดสีการปกครองอย่างสุดขีดจะพาคุณก้าวเข้าไปสู่ ‘โลกแห่งดิสโทเปีย’ ในยุค 1984 ที่แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทว่าความเป็นอยู่ของประชาชนกลับล้าหลัง แร้นแค้นและมีการแบ่งระดับชนชั้นอย่างชัดเจน ผู้ใต้ปกครองถูกกดทับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานทุกประการโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่การตั้งคำถาม เพื่อย้อนกลับมามอง ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ ที่อาศัยอยู่ว่าตอนนี้เรากำลังเข้าใกล้ความเซอร์เรียลที่เกิดขึ้นในนิยายเล่มนี้อยู่หรือเปล่า

.

“ประเด็นสำคัญของ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ล้วนแต่เป็นคำถามของสังคมและรัฐสมัยใหม่ … อำนาจของรัฐทำอะไรกับผู้คน ทำได้อย่างไร การควบคุมความคิดขนาดนั้นเป็นไปได้หรือ จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนและต่ออำนาจของรัฐเอง มนุษย์จริง ๆ จะยอมหรือ ถ้ายอม… มนุษย์จะกลายเป็นอะไร ถ้าไม่ยอม… มนุษย์จะตอบโต้อย่างไร” บางส่วนจากบทกล่าวตามของธงชัย วินิจจะกูล

.

หมายเหตุ

- Gender Binary (เพศทวิลักษณ์) คือการแบ่งแยกเพศสภาพออกเป็นสองฝั่ง ได้แก่ เพศชายและเพศหญิง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันและแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

- Dystopia (ดิสโทเปีย) คือสังคมที่ไม่พึงประสงค์หรือน่าหวาดกลัว ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับ Utopia (ยูโทเปีย) ที่หมายถึงดินแดนในอุดมคติ

- Surreal (เซอร์เรียล) คือความรู้สึกหรือบรรยากาศที่เหนือจริง ให้ความรู้สึกราวกับเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง

.

เนื้อหา : ลิขิตฝัน

พิสูจน์อักษร : ธมนวรรณ ฟักเล็ก และ พิชชาภรณ์ วรบุตร

ภาพ : ธัญยธรณ์ ขัตติยูทัยวงศ์