‘ต้วนซิ่ว’ แปลว่าอะไร? ชื่อเรียกนั้นสำคัญไฉน ไยความรักจึงควรมีเพศ
.
เมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘คุณชาย’ คุณจะนึกถึงอะไร? สุภาพบุรุษ บุคคลผู้มีสกุลสูง หรือละครเรื่องหนึ่งที่กำลังออกอากาศอยู่ตอนนี้ เราเชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินและได้ชมละครเรื่องนี้อย่างผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย หากมองเพียงผิวเผิน ละครเรื่องนี้อาจเป็นเพียง ‘ซีรีส์วายย้อนยุค’ สำหรับใครบางคน ทว่าหากพินิจดูให้ดี ละครเรื่องนี้อาจกำลังจุดประเด็นอะไรบางอย่างให้เราฉุกคิดอยู่ก็เป็นได้
.
ละครเรื่อง ‘คุณชาย’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เทียน’ ลูกชายคนโตของตระกูลซ่ง ที่จะต้องรับหน้าที่เป็นผู้สืบทอดตระกูลคนต่อไปในฐานะคุณชายใหญ่ แต่เรื่องกลับไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะเทียนเป็น ‘ต้วนซิ่ว’ หรือชายที่รักชายด้วยกัน เขาหลงรัก ‘จิว’ ชายหนุ่มเชื้อสายจีนอีกคนหนึ่ง แต่เพราะเกิดมาพร้อมสายเลือดจีนที่ความเป็นชายมีค่าเท่ากับความเป็นใหญ่ การเป็นต้วนซิ่วจึงถือเป็นเรื่องต้องห้ามและไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้เทียนต้องปิดบังตัวตนและปิดซ่อนความลับของตัวเองไว้ให้ลึกที่สุด
.
บทความนี้จะพาคุณเจาะลึกไปถึงที่มาของคำว่า ‘ต้วนซิ่ว’ และร่วมถกประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศในแง่ของบริบททางสังคม วัฒนธรรมของชนชาติ และมิติของยุคสมัยที่ปรากฏอยู่ในละครเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
.
‘ต้วนซิ่ว’ แปลว่าอะไร?
.
‘ต้วนซิ่ว (断袖)’ เป็นภาษาจีนกลาง มีที่มาจากวัฒนธรรมจีนหลวง มีความหมายว่า ‘ตัดแขนเสื้อ’ มาจากตำนานรักของจีนในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 😎 ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของฮ่องเต้ ‘ฮั่นอายตี้’ ผู้มีฮองเฮาและพระสนมมากมาย แต่หาได้ลุ่มหลงในสตรีเพศไม่ เพราะภายในหัวใจของพระองค์มีไว้ให้บุรุษเพียงคนเดียว นั่นคือ ‘ต่งเสียน’ ทั้งสองตกหลุมรักกันจนเป็นที่มาของตำนานรักที่มีสำนวนจีนว่า ‘ต้วนซิ่วจือผี่ (斷袖之癖)’ หรือ ‘พิศวาสจนตัดแขนเสื้อ’
.
สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในบ่ายวันหนึ่งที่ฮ่องเต้ฮั่นอายตี้และต่งเสียนได้ร่วมรักกัน เมื่อพระองค์ตื่นขึ้นมาก็เห็นต่งเสียนนอนหลับทับแขนเสื้อของพระองค์อยู่ จึงไม่อยากปลุกเขาให้ตื่นไปด้วย พระองค์จึงตัดแขนเสื้อของตนเองออกแล้วค่อย ๆ ลุกจากเตียง จึงเป็นที่มาของคำว่าต้วนซิ่วที่เป็นคำที่ใช้เรียก ‘ชายรักชาย’
.
อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกไปถึงบริบททางประวัติศาสตร์ จะพบว่าชาวจีนส่วนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ณ ขณะนั้นเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งในภาษาแต้จิ๋วเองก็มีคำศัพท์ที่ใช้เรียกชายรักชายอยู่แล้วว่า ‘ปั๊วหน่ำนึ่ง (半男女)’ มีความหมายว่า ‘ครึ่งชายครึ่งหญิง’ และในปัจจุบัน วัฒนธรรมจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีคำว่า ‘ถงจื้อ (同志)’ เพื่อใช้เรียกในเชิงสุภาพ แต่ก็มีคำว่า ‘เหยินเยา (人妖)’ ที่มีความหมายตรงตัวว่า ‘คนปีศาจ’ มาใช้เรียกในเชิงเหยียดหยามเช่นกัน รวมไปถึงคำว่าต้วนซิ่วด้วย
.
‘ชื่อเรียกนั้นสำคัญไฉน ไยความรักจึงควรมีเพศ’
.
“ผมฝันว่าสักวันหนึ่ง
เราทุกคนจะได้มีความรักแบบไม่แบ่งแยกว่าเป็นเพศไหน…
ไม่โดนรังเกียจ ไม่โดนดูถูกว่าผิดปกติ
ไม่มีคำว่าต้วนซิ่ว มีแต่คำว่าความรัก
และเมื่อถึงวันนั้น เราทุกคนก็จะเท่าเทียมกัน”
.
บทพูดข้างต้นเป็นคำพูดของตัวละครเอกอย่าง ‘เทียน’ ที่พูดกับ ‘จิว’ คนรักของเขา เมื่อผู้ชมอย่างเรา ๆ ได้ฟังพอผ่านหูแล้ว ก็เหมือนจะเป็นคำพูดที่ซาบซึ้งตรึงใจและช่วยปลอบประโลมจิตใจได้ดีเลยทีเดียว แต่หากวิเคราะห์ในแง่ของอัตลักษณ์ทางเพศ การที่เราไม่เอ่ยถึงชื่อเพศอย่างตรงไปตรงมาเมื่อพูดถึงความรักจะเป็นการลบเลือนอัตลักษณ์ของเพศใดเพศหนึ่งอยู่หรือไม่
.
เพราะเมื่อเราไม่ยืนยันถึงการมีอยู่ สังคมก็จะยิ่งผลักดันกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันให้กลายเป็นชนชายขอบและนำมาซึ่งการถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า การถูกเลือกปฏิบัติยังคงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) อยู่เสมอ ตัวตนของพวกเขายังคงถูกกดทับไว้ใต้บรรทัดฐานของสังคม อย่างที่เทียนและจิวเองก็ได้ประสบพบเจอมา ทั้งการถูกมองว่าแปลกเมื่อเขาทั้งสองเดินจับมือกัน หรือการโดนรังเกียจและโดนดูถูกว่าผิดปกติจากคนในครอบครัว คำว่าเท่าเทียมกันของเทียนจึงเป็นไปได้ยากนัก หากยังมีการแบ่งแยกอยู่เช่นนี้
.
การแบ่งแยกนี้จึงทำให้เกิดอคติทางเพศ ซึ่งก็เป็นผลที่สะท้อนมาจากโครงสร้างของสังคมอีกทอดหนึ่งคือ โครงสร้างของสังคมที่หล่อหลอมและหลอกลวงให้ใครต่อใครเชื่อว่าเพศนี้ปกติ เพศนั้นไม่ปกติ ทั้งที่แท้จริงแล้วเรื่องเพศนั้นมีมิติและสเปกตรัมที่หลากหลายกว่านั้นมาก จากปัญหาสังคมจึงลุกลามกระทบไปถึงปัจเจกบุคคล กลายเป็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนถูกกดดันไม่ให้เปิดเผยตัวตน (come out) เพราะถ้าหากแสดงออกอย่างชัดเจน สังคมจะไม่ยอมรับ ซึ่งความจริงแล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสังคมนั้นคือใครกันแน่ ดังเช่นที่เทียนถูกผู้เป็นแม่คอยย้ำเตือนเขาอยู่เสมอว่า “จำไว้นะเทียน จะให้ใครรู้เรื่องนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นชีวิตลูกลำบากแน่”
.
ปัญหาหนึ่งที่พบได้ในสังคมและปรากฏอยู่ในละครเรื่องนี้ด้วยก็คือ การที่สังคมของเรายังติดอยู่ในกรอบของ heteronormativity หรือบรรทัดฐานรักต่างเพศ ซึ่งเป็นกรอบปฏิบัติที่มองว่าการมีความรักกับเพศตรงข้ามนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีนอกเหนือไปจากนี้จะถือว่าแปลกแยก ถึงแม้ว่าตัวละครเองจะพยายามขับเคลื่อนในเรื่องของความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย แต่รายละเอียดเล็ก ๆ บางส่วนก็ยังคงยึดตามบรรทัดฐาน (norm) ของ heteronormativity เช่น ภาพลักษณ์ของคุณชายที่ดูอ่อนหวาน การชอบเล่นเป็นนางเอกงิ้ว หรือการชอบของสวยงาม เช่น ปิ่นปักผม
.
ฉะนั้น ชื่อเรียกของเพศจึงมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ที่จะช่วยแสดงอัตลักษณ์ (identity) ของคนแต่ละกลุ่มได้ เพราะหากเราเลือกที่จะปิดกั้นคำคำนั้นซึ่งจะบ่งบอกถึงความเป็นตัวเราเอาไว้ สังคมก็พร้อมที่จะละเลยและเหมารวม โดยเฉพาะคนบางกลุ่มที่มักตัดสินและคาดเดาอัตลักษณ์ของผู้อื่นจากลักษณะนิสัยหรือท่าทาง ว่าใคร ‘ออกสาว’ หรือใคร ‘โพผัว’ มากกว่ากัน ดังนั้น การที่เทียนอยากจะลบคำว่าต้วนซิ่วออกไปจากสังคม อาจเป็นการลดทอนการมีอยู่ของชุมชน LGBTQIA+ ที่เขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้
.
ในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน เรามักจะได้ยินคำพูดที่กล่าวว่า “จะเพศไหนก็ไม่สำคัญหรอก แค่รักกันก็พอแล้ว” หรือคำที่บอกว่า “ความรักไม่มีเพศ” ถ้อยคำเหล่านั้นอาจฟังดูสวยหรูก็จริง แต่เมื่อพูดจบประโยค การขับเคลื่อนหรือการตระหนักรู้ใด ๆ ก็จบลงไปด้วย เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเลย เมื่อแสงส่องไปไม่ถึง ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข กลุ่มคนที่ถูกผลักให้เป็นชนชายขอบก็จะยังคงอยู่ตรงที่เดิม ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือสนับสนุนกลุ่มคนที่ถูกกดทับอยู่ใต้บรรทัดฐานของสังคมและเรียกชื่อเพศของพวกเขาอย่างเปิดเผย เพื่อเป็นการสนับสนุนอัตลักษณ์ให้กับพวกเขาเหล่านั้นว่าพวกเขามีตัวตนจริง ๆ และความรักที่เกิดขึ้นก็มาจากหัวใจที่บริสุทธิ์ดังเช่นคนทั่วไป ไม่ใช่เพราะความผิดปกติ ไม่ใช่เพราะโรค และไม่ใช่เพราะบาปกรรมแต่อย่างใด
.
ความรักนั้นมีเพศ และทุกเพศมีศักดิ์และสิทธิ์อย่างเต็มที่ที่จะแสดงออกถึงตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีความรักให้กับคนเพศเดียวกัน ไม่มีใครสมควรถูกเลือกปฏิบัติจากมาตรฐานของสังคมที่ไม่ได้มาตรฐานเลยแม้แต่น้อย ขอผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกท่านจงดำรงไว้ซึ่งตัวตนอย่างชัดเจน เพื่อวันหนึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเราจะปรากฏอย่างเด่นชัดและไม่เลือนรางจางหายอีกต่อไป
.
เช่นกันกับเทียน เราเองก็มีความฝันว่าสักวันหนึ่ง
คำว่า ‘รัก’ จะยืนหยัดเคียงข้างคำว่า ‘เพศ’ ได้
โดยที่รักยังคงเป็นรัก และทุกเพศยังคงคุณค่าไว้ซึ่งอัตลักษณ์อย่างเท่าเทียม
.
อ้างอิง
.
เจ้าแพนด้าขอบตาดำ, รีวิวละคร + เรื่องย่อ "คุณชาย" เมื่อความรักต้องห้าม ถูกปิดกั้นในสังคมจีนภายใต้คำว่า ต้วนซิ่ว (断袖) ละครดราม่าสุดเข้มข้นจากช่อง ONE31
[ออนไลน์], 14 ตุลาคม 2565. แหล่งที่มา https://entertainment.trueid.net/detail/Jp74wBVQklK6
.
โบราณนานมา, “ต้วนซิ่ว (断袖)” แปลว่า “ตัดแขนเสื้อ” เป็นสำนวนที่ใช้เรียก “ชายรักชาย” [ออนไลน์], 3 ตุลาคม 2565. แหล่งที่มา https://web.facebook.com/.../a.17211.../3222077934713011/...
.
Kanruethai Thurakitseree, “ใครเป็นผัว ใครเป็นเมีย?” ว่าด้วย Gender role ที่ยังฝังอยู่ในคู่รักเกย์และเลสเบี้ยน [ออนไลน์], 22 มิถุนายน 2563. แหล่งที่มา https://thematter.co/social/gender-role-in-homosexual/115406
.
สัมภาษณ์ อภิชาติ บุญรอด, 8 พฤศจิกายน 2565
.
สัมภาษณ์ ภูริทัต หงษ์วิวัฒน์, 9 พฤศจิกายน 2565
.
เนื้อหา : ปาณิสรา โพธิ์ศรีนาค
พิสูจน์อักษร : วรินทร สายอาริน และ อจลญา เนตรทัศน์
ภาพ : อิงฟ้า หมวดทอง