ต่างคนต่างยุค ต่างมุมมอง : ว่าด้วยเรื่องความลำบาก ความอดทน และโรคทางใจ
.
เรามักได้ยินวาทกรรมที่ว่า “เด็กยุคปัจจุบันไม่ต้องเผชิญความยากลำบากมากเท่าเด็กสมัยก่อน ทำให้ไม่มีความอดทนมากพอ” และวาทกรรมดังกล่าวก็มักถูกใช้เป็นข้อกล่าวโทษเด็กยุคปัจจุบันที่มี ‘โรคทางใจ’ ด้วย ผู้ใหญ่บางคนมองว่าคนรุ่นก่อนต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วง ใช้ชีวิตท่ามกลางความยากลําบากที่ไม่มีเทคโนโลยีคอยอำนวยความสะดวกเหมือนเด็กในปัจจุบัน แต่พวกเขาก็ยังสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้โดยไม่มีอาการป่วยทางใจ ตรงกันข้ามกับเด็กยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ถูกคาดหวังให้เรียนอย่างเดียว อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ ดังนั้นเด็กในยุคปัจจุบันจึงถูกมองว่ามีความอดทนน้อยลงเมื่อเทียบกับเด็กสมัยก่อน และเมื่อเด็กยุคปัจจุบันมีสุขภาพจิตไม่ดี ผู้ใหญ่หลายคนจึงคิดว่าเป็นเพราะเด็กไม่ได้เผชิญกับความลำบากมากพอ หรือไม่อดทนมากพอจึงทำให้เกิดโรคทางใจขึ้น จริงอยู่ที่เด็กยุคปัจจุบันมีโรคทางใจต่าง ๆ อย่างโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลกันมากขึ้น แต่ความจริงนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดโรคเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะการขาดความความอดทนเพียงอย่างเดียว
.
องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อมูลว่าปัญหาสุขภาพจิตกําลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าวิธีการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบันนั้นง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป เหตุที่นำไปสู่ความยากลำบากแบบเก่าจะจางหาย แต่เหตุแห่งความยากลำบากแบบใหม่ก็กลับคืบคลานเข้ามาแทน เด็กในยุคปัจจุบันต้องเตรียมพร้อมสําหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาจึงเปลี่ยนไปเพื่อปรับเนื้อหาการศึกษาให้เท่าทันยุคสมัย ที่เห็นได้ชัดคือการเพิ่มรายวิชาใหม่ ๆ เช่น การเขียนโค้ด การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการเล่นหุ้นลงไปในหลักสูตร ส่งผลให้จำนวนชั่วโมงเรียนเพิ่มขึ้น รายวิชาที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการบ้านที่มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งการบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่แค่เพียงการเขียนบรรยายหรือการทำแบบฝึกหัด แต่ยังรวมถึงการใช้เทคโนโลยี เช่น การตัดต่อวิดีโอ การทำกราฟิกเพื่อนำเสนองาน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ สมองและร่างกายของเด็กจึงอ่อนล้ามากขึ้นตามไปด้วย และหลังจากเรียนที่โรงเรียนแล้วก็ยังต้องเรียนพิเศษ เนื่องจากสังคมที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ต้องการคนที่มีความสามารถจึงมีการออกแบบข้อสอบให้ยากขึ้นทุกปี การเรียนพิเศษจึงเปรียบเสมือนเข็มทิศที่นำไปสู่เส้นทางในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ ความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอที่จะได้รับการคัดเลือก ดังนั้นจึงต้องมีความสามารถพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขันกับผู้อื่น เด็กอย่างเรา ๆ จึงจำต้องให้ความสําคัญกับการฝึกการซ้อมเพื่อฟูมฟักความสามารถพิเศษเหล่านี้จนแทบจะกินเวลาทั้งหมดของชีวิตไป
.
ยุคของเทคโนโลยีเฉกเช่นปัจจุบันยังทำให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ มีบทบาทอย่างมากในการเรียน ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office, Zoom, Google Classroom หรือ Microsoft Teams นอกจากนี้โซเชียลมีเดียก็มีความจําเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากเป็นช่องทางที่อัปเดตข้อมูลได้ทันท่วงที แม้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้รับจะทำให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์ แต่ท่ามกลางข้อมูลจํานวนมากนั้นก็มีทั้งเรื่องจริงและเท็จปะปนกันอยู่ ซึ่งต้องใช้พลังงานอย่างมากในการประมวลผลและตัดสินใจเลือกข้อมูลที่ถูกต้อง จึงทําให้เด็กเกิดอาการเหนื่อยล้าได้
.
นอกจากนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์บ่อย ๆ อาจทําให้เกิดความเศร้าและความกังวล เช่น ข่าวอัตราการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ข่าวอัตราการจ้างงานต่ำและอัตราการว่างงานสูง ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ หรือข่าวช่องว่างระหว่างชนชั้นและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งแม้ว่าเนื้อหาข่าวจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อเด็ก แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้คนแต่ละวัยก็ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในแบบของตัวเอง เราควรทำความเข้าใจและร่วมกันช่วยหาทางแก้ไขมากกว่าที่จะอ้างว่าเด็กในยุคก่อนมีความแข็งแกร่งและอดทนมากกว่าเด็กในยุคปัจจุบัน
.
เนื้อหา : สิริยากร พุ่มประดับ
พิสูจน์อักษร : พิมทอง ธนาวุฒิกุล และ ชามา หาญสุขยงค์
ภาพ : อคิราภ์ ผลาหาญ
.
อ้างอิง
แมนน์, การดูข่าวมากเกินไปเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ [ออนไลน์], 24 สิงหาคม 2565. แหล่งที่มา
https://www.upi.com/.../news-addiction.../3941661356143/
วิลเลียมส์, ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นหรือไม่? [ออนไลน์], 8 ธันวาคม 2565. แหล่งที่มา
https://www.news-medical.net/.../Are-Mental-Health-Issues...