ถอดฮิญาบของเธอออก และเปล่งเสียงอันมีค่าทัดเทียมผู้ชายทั้งปวง

ถอดฮิญาบของเธอออก และเปล่งเสียงอันมีค่าทัดเทียมผู้ชายทั้งปวง

.

“เผด็จการจงพินาศ!” (“Death to the dictator!”) คือคำกู่ร้องของประชาชนในกรุงเตหะราน ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงและขับไล่ ‘อายะตุลลอฮ์ อาลี คอเมเนอี’ ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน จากกรณีที่ ‘มาห์ซา อามินี’ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เธอไม่สวมฮิญาบ’

.

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ‘มาห์ซา อามินี’ หญิงสาวชาวอิหร่านวัย 22 ปี เดินทางไปยังกรุงเตหะรานกับครอบครัวตามปกติ แต่กลับถูกตำรวจศีลธรรม (Guidance Patrol) เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามของอิหร่านจับกุมโทษฐาน ‘ไม่สวมฮิญาบ’ หรือผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะตามกฎระเบียบที่รัฐบาลกำหนด โดยเจ้าหน้าที่บอกกับครอบครัวของอามินีว่าจะพาตัวเธอไปเข้ารับการอบรม และจะปล่อยตัวเธอภายในหนึ่งชั่วโมง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอกลับถูกพาตัวไปยังโรงพยาบาลด้วยอาการโคม่า และเข้ารักษาตัวกว่าสองวันก่อนจะเสียชีวิตลง

.

ตำรวจให้การว่าอามินีเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะที่ครอบครัวของอามินีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าศีรษะและขาของอามินีเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ ตรงกันกับที่พยานในเหตุการณ์ซึ่งเป็นผู้หญิงอีกคนที่ถูกจับขึ้นรถตำรวจพร้อมอามินีให้การว่าเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายฟาดศีรษะอามินีด้วยกระบอง ทั้งยังมีแพทย์หลายคนออกมาให้ข้อมูลว่าสมองของอามินีได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง มีเลือดออกที่หูและมีรอยช้ำวงใหญ่ที่เบ้าตาทั้งสองข้าง นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่เผยให้เห็นภาพกะโหลกศีรษะของอามินีซึ่งมีรอยแตกขนาดใหญ่ พร้อมกับมีภาวะเลือดออกและสมองบวม

.

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงในอิหร่านลุกขึ้นมา ‘เผาฮิญาบ’ ของตัวเองเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและการใช้ความรุนแรงต่อสตรีเพศ เพียงแค่เพราะพวกเธอ ‘ไม่สวมฮิญาบ’ โดยกฎการให้สตรีชาวอิหร่านสวมฮิญาบในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 1979 มีข้อบังคับคือผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมศีรษะตลอดเวลาหากอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และต้องสวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดรูปเพื่อไม่ให้เปิดเผยสัดส่วนของร่างกาย โดยจะมีหน่วยที่เรียกว่าตำรวจศีลธรรมคอยสอดส่อง และมีสิทธิ์จับกุมพวกเธอหากไม่ปฏิบัติตามกฎดังกล่าว

.

มากไปกว่านั้น การเต้นรำในที่สาธารณะก็เป็นสิ่งต้องห้ามในอิหร่าน ยกเว้นการเต้นรำแบบดั้งเดิมที่อนุญาตให้แสดงได้โดยผู้ชาย ผู้หญิงอิหร่านจึงไม่มีสิทธิ์ร้องเพลงและเต้นรำในที่สาธารณะ แม้ว่าจะมีการลักลอบเปิดชั้นเรียนเต้นรำแบบลับ ๆ อยู่บ้างก็ตาม

.

กระแสการประท้วงเพื่อสิทธิสตรีและต่อต้านความรุนแรงของผู้หญิงในอิหร่านยังคงขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากถ่ายวิดีโอขณะที่พวกเธอถอดฮิญาบของตนเองมาเผาไฟ และนำมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #MahsaAmini ทั้งยังมีการประท้วงรัฐบาลโดยมีกลุ่มผู้หญิงเป็นแนวหน้า แม้จะถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยการยิงกระสุนจริง ฉีดน้ำแรงดันสูง และทุบตีผู้ประท้วง แต่ก็ยังคงมีผู้หญิงออกมาถอดและเผาฮิญาบเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีที่พวกเธอพึงมีอย่างไม่ย่อท้อ

.

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับอามินีและปรากฏการณ์เผาฮิญาบของสตรีอิหร่านล้วนเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนการตอบโต้ต่อสังคมชายเป็นใหญ่ และประกาศให้โลกได้รู้ว่าสตรีเพศก็สามารถใช้ชีวิตอิสระอย่างปัจเจกชนคนหนึ่งในสังคมได้เช่นเดียวกับบุรุษเพศ ทั้งยังสะท้อนอุดมการณ์ของการปฏิวัติความเท่าเทียมทางเพศในสังคมปิตาธิปไตย ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงบทบาทและสถานภาพของสตรีเพศในประเทศอิหร่าน

.

ไม่ว่าท้ายที่สุดการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้อามินีและการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในอิหร่านจะเป็นเช่นไร สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีวันแปรเปลี่ยนไป คือความจริงที่ว่า สิทธิสตรีอันทัดเทียมผู้ชายและเสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิตจะเป็นของผู้หญิงทั่วทั้งโลกอยู่เสมอ และจะไม่มีผู้ชายหน้าไหนมีสิทธิ์พรากมันไปจากพวกเธอ

.

ขอความเท่าเทียมจงมีชัยเหนือเผด็จการ

.

Death to the dictator!

.

เนื้อหา : ลิขิตฝัน

พิสูจน์อักษร : ธมนวรรณ ฟักเล็ก และ รสิกา วิเศษสมภาคย์

ภาพ : มาภา จ่ายเจริญ

.

รายการอ้างอิง

.

BBC News. (2022). Iran unrest: Women burn headscarves at anti-hijab protests. Retrieved 25 October 2022, from https://www.bbc.com/news/world-middle-east-62967381 

.

Alarabiya News. (2022). Iranian women burn hijabs as protests over Mahsa Amini’s death continue for fifth day. Retrieved 25 October 2022, from https://english.alarabiya.net/.../Iranian-women-burn...