มาจัดการความกังวลและความคิดแง่ลบด้วย ‘Morning Pages’ กันเถอะ!

มาจัดการความกังวลและความคิดแง่ลบด้วย ‘Morning Pages’ กันเถอะ!

.

ในช่วงต้นเดือนมกราคมอันเป็นช่วงที่เพิ่งจะผ่านพ้นวันปีใหม่มาได้ไม่นานเช่นนี้ หลาย ๆ คนคงจะกำลังคิดหาเป้าหมายของปีนี้ หรืออาจกำลังมุ่งมั่นที่จะทำตามแผนประจำปีให้สำเร็จ เป้าหมายหนึ่งที่น่าจะปรากฏในลิสต์แผนการที่อยากทำให้สำเร็จในปี 2023 ของหลายคนนั้นคงจะมี ‘มีความสุขมาก ๆ’ หรือ ‘มีความสุขในทุก ๆ วัน’ รวมอยู่ด้วย

.

แม้ว่าวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จดูเหมือนจะตรงไปตรงมา คือถ้าอยากมีความสุข ก็ต้องทำสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุข แต่ในความเป็นจริงบรรดาความรู้สึกแง่ลบ เช่น ความเครียด ความกังวล ความกดดันล้วนแต่มาพบปะเราอยู่แทบจะเป็นประจำ อีกทั้งในบางครั้งมวลความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ก็ถาโถมเข้ามาพร้อมกัน อักษรสาราจึงอยากนำเสนอวิธีที่อาจสามารถช่วยให้คุณจัดการความคิดแง่ลบเหล่านั้นได้โดยใช้การเขียน Morning Pages

.

‘Morning Pages’ คืออะไร

.

Morning Pages เป็นชื่อไอเดียการเขียนที่จูเลีย คาเมรอน (Julia Cameron) ศิลปินชาวอเมริกันคิดขึ้น จูเลียเป็นศิลปินที่มีบทบาทเป็นทั้งนักเขียน นักประพันธ์เพลง ผู้ผลิตภาพยนตร์ และอีกมากมาย ผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเธอคือหนังสือชื่อ The Artist’s Way ซึ่งเป็นหนังสือที่เธอได้กล่าวถึงไอเดียการเขียน Morning Pages เอาไว้

.

เดิมทีจูเลียต้องการนำเสนอไอเดียดังกล่าวให้กับคนที่ทำงานด้านศิลปะ เพราะเธอเชื่อว่าการเขียนเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถเอาชนะความคิดแง่ลบที่มีต่อผลงานของตนได้ แต่เนื่องจากไม่ว่าใครก็ล้วนแต่ต้องเผชิญกับความรู้สึกในแง่ลบกันทั้งนั้น ไอเดียการเขียน Morning Pages จึงไม่ได้มีประโยชน์แค่สำหรับศิลปิน หากแต่รวมไปถึงคนที่ไม่ได้ทำงานด้านศิลปะด้วย

.

กติกาของการเขียน Morning Pages ตามที่จูเลียบอกเอาไว้มีอยู่ว่า

จะต้องใช้ปากกาเขียนความคิดที่วิ่งผ่านเข้ามาในหัวทั้งหมดลงไปในกระดาษเป็นจำนวน 3 หน้า

เมื่อเขียนเสร็จแล้วห้ามย้อนกลับไปอ่านเด็ดขาดจนกว่าจะผ่านไปแล้ว 2 เดือน เพื่อไม่ให้ความคิดแง่ลบที่เขียนออกมากลับไปสะสมในตัวเราอีก

ต้องเขียนในทันทีหลังตื่นนอน

แม้ว่ากติกาเช่นนี้จะดูคล้ายคลึงกับวิธีการเขียนไดอารีเพียงแต่เปลี่ยนมาเขียนในตอนเช้า แต่จุดที่แตกต่างคือ ในระหว่างที่เขียน Morning Pages เราจะต้องเขียนทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในหัวออกมาโดยห้ามหยุดคิดกลั่นกรอง (และหยุดมือ) เด็ดขาด (และต้องเขียนทุกอย่างจริง ๆ นะ เช่น ถ้าคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร ก็เขียนว่าคิดไม่ออกได้เลย!)

.

ส่วนถ้าหากผู้เขียนอยากปรับเปลี่ยนกติกาบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้นก็สามารถทำได้ เช่น อาจปรับเปลี่ยนมาเขียนในไอแพด หรือพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์แทนการเขียนลงในกระดาษ หรือปรับจำนวนหน้าให้ลดน้อยลง แม้กระทั่งการเลือกช่วงเวลาที่จะเขียน ผู้เขียนก็สามารถปรับเปลี่ยนจากตอนเช้าเป็นช่วงเวลาอื่นที่สะดวกได้เช่นกัน ขอเพียงแค่เขียนทุกความคิด ความรู้สึกลงไปตามจริงเท่านั้นก็เพียงพอ

.

ด้วยลักษณะเช่นนี้ Morning Pages จึงเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนตัวที่ปลอดภัยอีกที่หนึ่ง ผู้เขียนสามารถระบายความคิด ความรู้สึกของตนลงไปได้โดยไม่ต้องหยุดพิจารณา หรือสกัดกั้นความคิดใดเอาไว้ จะเขียนไม่ปะติดปะต่อ เขียนคำผิด เขียนลายมือหวัด ๆ ก็ย่อมได้ทั้งนั้น

.

Morning Pages ไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่ให้เราได้ระบายความรู้สึกแง่ลบหรือตะกอนความคิดที่ตกค้างในสมองของเราลงไป แต่ยังช่วยให้เราได้ใช้เวลาสำรวจความรู้สึกของตนเองในแต่ละวันเพื่อที่จะบรรเทาความรู้สึกนั้นให้บางเบาลงไปได้

.

อักษรสาราหวังว่าการเขียน Morning Pages จะเป็นอีกวิธีการที่ช่วยให้คุณผู้อ่านก้าวผ่านความรู้สึกลบ หรือบรรเทาความรู้สึกเหล่านั้นให้บางเบาลง เพื่อที่จะได้มีความสุขในทุก ๆ วันตลอดปี 2023

.

เนื้อหา : esther

พิสูจน์อักษร : พงศภัค เหลืองทองนารา และ เธียรชัย ทองเงิน

ภาพ : จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์

.

อ้างอิง

Apichaya Jutatain, รู้จัก ‘Morning Pages’ เพราะการเขียนหลังตื่นนอนมีประโยชน์กว่าที่คิด [ออนไลน์], 1 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://missiontothemoon.co/psychology-morning-pages/

Future Trends, งานออกมาไม่ดี สมองล้า ไอเดียฟุ้ง แก้ด้วย Morning Pages เทคนิคบูสต์สมองให้ไบรท์หลังตื่นนอน [ออนไลน์], 1 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://futuretrend.co/psychology-and-benefit-of-morning.../

Rewrite, Rewrite EP.2 Morning Pages อ้วกความคิดหลังตื่นนอนลงหน้ากระดาษ [ออนไลน์], 1 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://open.spotify.com/episode/309Vn2YdufpDGW81kn9wis...

Vanat Putnatk, Morning Pages เทรนด์การเขียนอะไรก็ได้หลังตื่นนอน [ออนไลน์], 1 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://thematter.co/.../morning-pages-and.../27512