วัฒนธรรม Drag ที่ไม่ใช่แค่ ‘นางโชว์’
“If you can’t love yourself, how in the hell are you gonna love somebody else! Can I get amen?”
– RuPaul, RuPaul’s Drag Race host
.
การแต่งตัวแบบแดร็ก (Drag) คือ วัฒนธรรมการแต่งตัวที่ผู้คนจะแต่งตัวตรงข้ามกับเพศสภาพของตนเอง และยิ่งใหญ่อลังการกว่าการแต่งตัวแบบปกติทั่วไป โดยการจะได้เห็นวัฒนธรรมนี้ในสังคมไทยนั้น โดยส่วนมากคงพบได้เพียงในอาชีพ ‘นางโชว์’ เท่านั้น คนทั่วไปจึงอาจจะคิดว่าแดร็กเป็นเพียงนางโชว์ที่ออกมาร้องรำทำเพลง แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปในเชิงวัฒนธรรม เราก็จะพบว่า ‘แดร็กไม่ใช่เพียงแค่นางโชว์’
.
อักษรสาราขอพาท่านผู้อ่านย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการแต่งตัวข้ามเพศที่เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมแดร็ก วัฒนธรรมนี้มีต้นกำเนิดมาจากการแสดงละครเวทีที่เป็นผลงานของนักกวีชื่อดังอย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์ ซึ่งในอดีตนั้น นักแสดงที่สามารถเข้าร่วมละครเวทีได้จะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น จึงทำให้นักแสดงชายต้องแต่งตัวข้ามเพศของตนเอง ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมการแต่งตัวข้ามเพศเพื่อความบันเทิงแพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้วัฒนธรรมแดร็กถือกำเนิดขึ้น และเป็นที่โด่งดังเฉกเช่นในปัจจุบัน
.
แล้วทำไมแดร็กถึงไม่ใช่แค่นางโชว์?
คำตอบคือ วัฒนธรรมแดร็กเป็นหนึ่งในศิลปะที่นับได้ว่าสูงส่งและยังแสดงเอกลักษณ์ของบุคคลนั้น ๆ ได้อีกด้วย ตัวตนของเหล่าแดร็กจะถูกสื่อผ่านการแต่งหน้า การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งกิริยาท่าทาง จึงอาจเรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นการถอดตัวตนอีกคนหนึ่งของตัวเองออกมา ศิลปะการแต่งหน้าของชุมชนแดร็กนั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นการแต่งหน้าที่มีความพิเศษและแตกต่างจากบุคคลทั่วไป หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเขียนหน้า ทั้งการเขียนคิ้วที่ลากสูงไปถึงหน้าผาก การแต่งตาที่ใช้พื้นที่จนถึงคิ้ว หรืออีกสิ่งที่น่าสนใจคือการลบคิ้ว ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมแดร็กมีความพิถีพิถันในการแสดงของตนเองมาก และสมควรเป็นที่ยกย่องอย่างยิ่ง
.
การที่เราสามารถแสดงตัวตนในรูปแบบที่ตรงข้ามกับเพศสภาพของตนเองได้นั้น เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ หรือ gender identity ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็เหมือนได้สนับสนุนชุมชน LGBTQIA+ อีกด้วย ถ้าจะให้ยกตัวอย่างการที่วัฒนธรรมแดร็กมีผลต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คงต้องกล่าวถึงรายการวาไรตี้ชื่อดังอย่าง RuPaul’s Drag Race ที่สร้างมาเพื่อให้ผู้คนที่หลงใหลในการแต่งกายข้ามเพศได้ออกมาแสดงศักยภาพของตนผ่านเกมและกติกาต่าง ๆ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลที่ว่า มีผู้คนไม่น้อยสนใจเข้าร่วมการแข่งขัน และพร้อมเปิดเผยตัวตนอีกตัวตนหนึ่งของตนเอง อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ กล้าแสดงตัวตนของตนเองอีกด้วย
.
ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมแดร็กในประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้รับการพูดถึงในกลุ่มคนหมู่มาก แต่เมื่อมีชาวไทยได้ไปเข้าร่วมการแข่งขัน RuPaul’s Drag Race UK vs The World คือ คุณปันปัน นาคประเสริฐ หรือชื่อในวงการแดร็กว่า แพนไจน่า ฮีลส์ (Pangina Heals) ซึ่งเป็นทั้งผู้ดำเนินรายการ Drag Race Thailand และยังเป็นผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศอังกฤษ คุณปันปันได้นำวัฒนธรรมไทยมาผสมเข้ากับการแต่งกายแบบแดร็ก จึงทำให้วัฒนธรรมไทยเผยแพร่สู่สากล และเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เห็นเด่นชัดว่า วงการแดร็กไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQIA+ แต่ยังเป็นวัฒนธรรมที่รวบรวมทั้งศิลปะ ความชอบ และเป็นศูนย์รวมแห่งแรงบันดาลใจของหลาย ๆ คนด้วย
.
หมายเหตุ
.
อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) คือ การที่เรารับรู้ว่าตนเองต้องการที่จะเป็นเพศใด ทั้งตามเพศสภาพ หรืออาจจะแตกต่างจากเพศสภาพของตนเอง
.
เนื้อหา : อาทิตยา ขันทอง
พิสูจน์อักษร : พิชชาภรณ์ วรบุตร และ เธียรชัย ทองเงิน
ภาพ : สุวรรณี เมอแล
.
อ้างอิง
โรงพยาบาลเพชรเวช, LGBTQ ความหลากหลายที่ต้องเข้าใจ [ออนไลน์], 14 ธันวาคม 2563. แหล่งที่มา
www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/LGBTQ
Peeranat Chansakoolnee, 'DRAG' จากวัฒนธรรมบันเทิงเช็ก สเปียร์ สู่เครื่องมือเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ [ออนไลน์], 13 กรกฎาคม 2562. แหล่งที่มา www.vogue.co.th/fashion/article/draghistory101