‘วิลเลิน-อสูร-คำสาป’ เหล่าตัวร้ายในอนิเมะ : ผลผลิตของสังคมที่บิดเบี้ยว
.
หากคุณต้องเลือกระหว่างตัวละครฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย คุณจะเลือกอะไร?
หากวันหนึ่งคุณต้องกลายเป็น ‘ตัวร้าย’ คุณคิดว่าอะไรคือสาเหตุ?
.
ในทุก ๆ เรื่องราวย่อมมีทั้งฝ่ายที่ถูกกระทำและฝ่ายที่เป็นผู้กระทำ แน่นอนว่าผู้กระทำมักจะถูกมองว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ เสมอ… และวินาทีที่คุณถูกมองว่าเป็นตัวร้าย นั่นหมายถึงชีวิตในสังคมต่อจากนี้จะไม่มีคำว่าง่ายหรือสบายอีกต่อไป เพราะ
ตัวร้าย (น.) คือบุคคลที่สังคมพร้อมประณาม เหยียบย่ำ ซ้ำเติม และทับถมให้จมดิ่ง
…อย่างไรก็ตาม
ตัวร้าย (น.) อาจจะเป็นบุคคลที่สังคมไม่เคยฉุกคิดเลยสักนิดว่าได้ตีตราและกดทับมานานแค่ไหนแล้ว
.
ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงอยู่คู่กับเรามาตลอด แม้จะปรารถนาอย่างแรงกล้าให้สิ่งนี้หายไป แต่เพราะ ‘คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน’ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงไม่เคยแก้ไขได้ เมื่อใดที่โอกาสของเรามีไม่เท่ากัน เมื่อใดที่เวลาของเราเริ่มไม่พร้อมกัน เมื่อใดที่การเข้าถึงทรัพยากรของเราถูกจำกัดกั้น เมื่อนั้นช่องว่างระหว่างชนชั้นจะปรากฏและกว้างออกเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมนั้น ๆ ซึ่งในสังคมที่ช่องกว้างขยายใหญ่ขึ้น แต่ช่องแคบกลับถูกบีบให้เล็กลง สังคมนั้นจะมีประชากรบางส่วนถูกกดทับไว้ และโดนบีบบังคับให้ต้องเลือกเส้นทางชีวิตที่ตนเองไม่ได้กำหนด มิหนำซ้ำยังมีอยู่ไม่กี่ทาง อย่างน้อยที่สุดก็ทุลักทุเล อย่างมากที่สุดก็ทุรนทุราย นี่คือหลักฐานยืนยันความบิดเบี้ยวของสังคมได้เป็นอย่างดี
.
แต่ถ้าหากผู้คนเหล่านั้นทนต่อแรงกดทับของสังคมไม่ไหวล่ะ?
.
‘ตัวละครฝ่ายร้าย’ จากโลกอนิเมะที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นภาพแทนที่สะท้อนผลกระทบของความเหลื่อมล้ำทางสังคม เมื่อพวกเขาโดนกดทับโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ จนระเบิดความน้อยเนื้อต่ำใจออกมาเป็นความโมโหโกรธา พวกเขาจึงขอเลือกเส้นทางชีวิตที่ตนกำหนดเอง มิใช่เส้นทางที่สังคมกำหนดให้ และขอหันหลังให้กับสังคมอันบิดเบี้ยวและเน่าเฟะแห่งนี้ หันหลังให้กับบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคมที่พันธนาการพวกเขาอยู่ จนกลายมาเป็นสิ่งที่สังคมไม่ให้ค่าและตีตราว่าเป็น ‘ตัวร้าย’
.
My Hero Academia
.
อนิเมะเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอกอย่าง ‘มิโดริยะ อิซึกุ เด็กหนุ่มที่เกิดมา ‘ไร้อัตลักษณ์’ ในโลกที่มนุษย์เกิดมาพร้อมพลังวิเศษที่เรียกว่า ‘อัตลักษณ์’ ทุกคนต่างใช้อัตลักษณ์ของตนเองเพื่อดิ้นรนเสาะหาโอกาสในการเชิดหน้าชูตาทางสังคม และจะมีเพียง 20% จากประชากรโลกเท่านั้นที่ไม่มีอัตลักษณ์
.
เพราะสังคมไม่เคยเห็นค่าในความธรรมดาสามัญ หากแต่ให้ความสำคัญกับความพิเศษ คนที่เกิดมาพร้อมกับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจึงมีอาชีพที่เรียกว่า ‘ฮีโร (hero)’ ไว้รองรับ ในทางกลับกัน สำหรับคนที่เกิดมาไร้อัตลักษณ์อย่างมิโดริยะและคนอื่น ๆ อีกหลายคน ใครที่ไหนจะมาหยิบยื่นโอกาสให้พวกเขา แม้แต่คนที่มีอัตลักษณ์แต่สังคมมองว่าเป็นอันตราย ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นกัน สังคมไม่เทิดทูน ซ้ำยังเอาแต่ทับถม เหล่าคนที่ตกเป็นเหยื่อจากความเหลื่อมล้ำนี้จึงตั้งคำถามกับการมีอยู่ของฮีโร หลังจากรู้สึกได้ถึงความอยุติธรรมในสังคม พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอดในนามของ ‘วิลเลิน (villain)’ เพื่อเรียกร้องให้สังคมที่เคยมีความเท่าเทียมในยุคที่ทุกคนยังเป็นมนุษย์ธรรมดานั้นกลับมา
.
ตัวละคร ‘วิลเลิน’ ในเรื่องล้วนถูกออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจ พวกเขาไม่ได้เป็นตัวร้ายมาแต่กำเนิด หากแต่เกิดเรื่องราวสะเทือนชีวิตมามากมายในตอนที่ยังเป็นคนธรรมดา เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้ายจนกลายเป็นปมแผลในใจ
แล้วใครเล่าจะรู้ว่าพวกเขาต้องอดทนกับความกดดันและการโดนดูถูกเหยียดหยามมามากแค่ไหน สุดท้ายจึงจำต้องกลายเป็น ‘ตัวร้าย’ เพียงเพราะต้องการที่จะมีตัวตนในสังคม และได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง หรืออย่างน้อยที่สุด แค่ต้องการให้มีใครสักคนได้ยินเสียงอันแผ่วเบาที่ตะโกนกึกก้องอยู่ในใจเขาก็เท่านั้นเอง
.
ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer)
.
มาถึงอนิเมะเรื่องที่สอง ดาบพิฆาตอสูร หรือ Kimetsu no Yaiba เรื่องนี้มีฉากอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926) ซึ่งเป็นยุคที่ยังมี ‘อสูร’ ออกล่ามนุษย์เป็นอาหาร แต่อสูรนั้นเป็นอมตะ วิธีเดียวที่จะสังหารอสูรได้คือ ‘นักล่าอสูร’ จะต้องใช้ดาบที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษฟันคออสูรให้ขาดในดาบเดียว
.
ตามเนื้อเรื่อง อสูรก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เลือกจะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นอสูร ราวกับว่าได้ตายแล้วเกิดใหม่อีกครั้งเป็นอมตะ ‘คิบุตสึจิ มุซัน’ ราชันย์ในโลกของอสูร ผู้หยิบยื่นโอกาสให้กับชีวิตที่กำลังจะมอดดับให้กลับมาสุกสว่างอีกครั้ง เพียงแค่คนคนนั้นยินยอม มุซันจะเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นอสูรและได้ใช้ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ ในแต่ละตอนที่มีการเปิดตัวอสูร มักจะทิ้งปมชีวิตอันขมขื่นของอสูรแต่ละตนไว้ เรื่องราวเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ของอสูรแต่ละตนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเลือก (?) ที่จะละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และยอมให้ชีวิตพลิกผันเข้าสู่ด้านมืดเช่นนั้น
.
คำตอบของคำถามดังกล่าวคือ การขาดโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อสูรบางตนเมื่อตอนที่ยังเป็นมนุษย์ได้ถูกความเหลื่อมล้ำกีดกันจากการเข้าถึงทรัพยากร พวกเขาไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอต่อการรักษาโรค และไม่ได้เข้ารับการศึกษา บางคนตกเป็นเหยื่อของความเน่าเฟะแห่งกระบวนการยุติธรรม แม้แต่ปัจจัยสี่ก็มีไม่ครบทั้งสี่ข้อ และทั้งหมดนี้ปราศจากความช่วยเหลือจากสังคมรอบข้างและรัฐสวัสดิการ
สิ่งสำคัญคือ พวกเขาไม่ได้เป็นคนเลือกที่จะเป็นอสูรเองแต่แรก หากแต่ถูกสังคมบีบคั้นจนชีวิตไม่เหลือทางอื่นให้เลือกเดินต่อแล้วต่างหาก
.
มหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen)
.
อนิเมะเรื่องสุดท้ายกล่าวถึงโรงเรียนไสยเวทแห่งหนึ่งที่ภายนอกก็ดูเหมือนโรงเรียนมัธยมปลายทั่วไป แต่ภายในคือสถานที่ที่คอยบ่มเพาะวิชาให้กับเหล่าผู้ใช้คุณไสย เพื่อเพิ่มพลังเวทและพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้คุณไสยของแต่ละคน เพื่อทำหน้าที่ ‘ผนึกมาร’ ซึ่งก็คือการ ‘ปัดเป่าคำสาป’
.
คำสาปคือสิ่งที่กำเนิดขึ้นมาจากความคิดด้านลบของมุษย์ อันเกิดจากจิตใจที่บอบช้ำ ความเละเทะของบ้านเมือง และความยุ่งเหยิงของสังคม ส่วนใหญ่คำสาปมักจะเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีความหดหู่และสิ้นหวังเกิดขึ้น อย่างในโรงเรียนและโรงพยาบาล ดังนั้น คำสาปจึงถือได้ว่าเป็นผลพวงมาจากสภาพสังคมที่ไม่พัฒนา หรือพัฒนาแต่ไม่ยั่งยืน จนส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้น ๆ คำสาปเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าในสังคมหนึ่ง ๆ มนุษย์จะต้องพบเจอกับปัญหาอะไรบ้าง คำสาปจึงเปรียบเสมือนกระจกที่ส่องสะท้อนจิตใจมนุษย์เลยก็ว่าได้
.
ตัวละครที่เป็นคำสาปส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายเดียวกันคือ การกวาดล้างพวกมนุษย์ และแทนที่ด้วยวิญญาณคำสาป เพราะตัวพวกเขาเองนั้นเกิดมาจากการโดนมนุษย์มอบความรวดร้าวให้ ทั้งความคิดที่ดูถูกเหยียดหยาม ทั้งคำพูดที่ด่าทอเสียดสี ราวกับว่าพวกเขาเป็นสนามอารมณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนประกอบสร้างขึ้นมาจนกลายเป็นวิญญาณคำสาปหนึ่งตน พวกเขาจึงมีความเกลียดชังต่อมนุษย์อย่างมาก ดังนั้น การมีอยู่ของคำสาปจึงไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นความผิดของพวกเขา และไม่อาจโทษมนุษย์ที่เป็นคนสร้างพวกเขาขึ้นมาได้เต็มที่เช่นกัน สิ่งที่ควรถูกตั้งคำถามมากที่สุดก็คงจะเป็นสภาพสังคมปัจจุบันอันเป็นบ่อเกิดแห่งวงจรอันเสื่อมทรามนี้
.
เมื่อสังคมเต็มไปด้วยการกดทับ ผลลัพธ์คือความเกรี้ยวกราดที่พลุ่งพล่านในใจคน คนธรรมดาต้องกลายเป็นตัวร้ายจากความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ จากเส้นทางชีวิตที่เขาไม่ได้เลือก ทุกวันนี้ผู้คนเริ่มหันหลังให้กับสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความกดดัน ความเหนื่อยล้า ความท้อแท้ และความเสื่อมศรัทธาต่อความหวัง แล้วสังคมจะทำอย่างไร? จะแก้ไขปัญหา หรือตีตราพวกเขาว่าเป็นตัวร้ายเช่นนี้ต่อไป หากมีแม้สักนิดที่ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจะแคบลง หากมีแม้สักนิดที่ใครสักคนจะหยิบยื่นโอกาสมาให้ วิลเลิน อสูร และคำสาป ก็คงจะมีวันที่ลืมตาอ้าปากได้สักที
.
ท้ายที่สุดแล้ว การดูอนิเมะสามเรื่องนี้บอกให้เรารู้ว่า ตัวละครฝ่ายร้ายก็คือตัวละครธรรมดา ๆ ตัวหนึ่ง เช่นเดียวกับมนุษย์ธรรมดา ๆ บางส่วนในสังคม ที่ถูกความเหลื่อมล้ำและการจัดลำดับทางชนชั้นกวาดต้อนให้เข้าไปอยู่ในสังคมที่มีแต่ความเสื่อมโทรม เมื่อถูกทรยศจากความหวัง ถูกหักหลังจากความฝัน ถูกกีดกันจากโอกาส ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ได้เกิดจากใจคน แต่เป็นเพราะสังคมที่บิดเบี้ยวต่างหาก
.
เนื้อหา : ปาณิสรา โพธิ์ศรีนาค
พิสูจน์อักษร : วรินทร สายอาริน และ แพรพลอย นาเมืองรักษ์
ภาพ : ธัญยธรณ์ ขัตติยูทัยวงศ์
.
อ้างอิง
เจ้าของร้าน, สะท้อนมุมมอง ความเหลื่อมล้ำผ่านอัตลักษณ์ของเหล่าตัวละครใน My Hero Academia [ออนไลน์], 2563. แหล่งที่มา http://shopfsa.lnwshop.com/article/13
หญิงเถื่อน, 5 ตัวละครร้ายใน มหาเวทย์ผนึกมาร Jujutsu Kaisen [ออนไลน์], 17 มิถุนายน 2565. แหล่งที่มา https://intrend.trueid.net/article/5-ตัวละครร้ายใน-มหาเวทย์ผนึกมาร-jujutsu-kaisen-trueidintrend_225764
The MATTER, เมื่อมนุษย์ถูกทำให้เป็นอสูร? สำรวจปูมหลังชีวิตเหล่าอสูร ใน Kimetsu no Yaiba [ออนไลน์], 11 มีนาคม 2565. แหล่งที่มา https://today.line.me/th/v2/article/5y07ELR