‘ห้องเช่าหมายเลข 112’ กฎหมายมาตรามรณะกับอิสรภาพที่หายไป
.
ในช่วงหลายปีมานี้ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่รุนแรงและมีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน กฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกนำมาใช้จับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ของจำเลยในคดีไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ซ้ำยังถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหลายปีแทบทุกคดี กระบวนการยุติธรรมที่วิปริตผิดเพี้ยนเช่นนี้ทำให้ผู้บริสุทธิ์มากมายถูกพรากอิสรภาพในชีวิตไปในชั่วพริบตา และต้องย้ายออกจากบ้านอันแสนอบอุ่นของตนเองมาอาศัยอยู่ใน ‘ห้องเช่าหมายเลข 112’ ที่ทำให้ความหวัง ความฝัน ความสุข และความรักของพวกเขาพังทลายไปต่อหน้าต่อตา
.
‘ห้องเช่าหมายเลข 112’ คือหนังสือบันทึกเรื่องราวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจริงของจำเลยคดี 112 ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความผิดที่ไม่ได้ก่อ และแม้บางคดีจำเลยจะให้การยอมรับว่าทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง แต่เหตุใดกันการที่คนคนหนึ่งเพียงแค่เห็นต่าง แค่แสดงความคิดเห็น หรือแค่ ‘ไม่ศรัทธา’ จึงต้องถูกกฎหมายมาตราอำมหิตนี้ทำลายอิสรภาพทั้งชีวิต และถูกจองจำอยู่ในลูกกรงเป็นเวลานานหลายปี
.
ปัญหาของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือการที่ตัวบทกฎหมายนี้ไม่มีขอบเขตชัดเจน สามารถตีความและบังคับใช้ได้กว้างขวาง ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเพียงกลุ่มหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด และยังมีการจับกุมผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนมากพอจะเอาผิดได้ เช่น คดีของ ‘ศศิพิมล’ หญิงสาวธรรมดาผู้เป็นแม่ของเด็กน้อยอีก 2 คน เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้เธอจะยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว และไม่ได้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวอ้างนั้น แต่ท้ายที่สุด เธอกลับถูกพิพากษาจำคุกมากถึง 28 ปี โดยไร้ซึ่งความเมตตาเห็นใจจากผู้ใด
.
หรือแม้แต่การป้ายสีได้แม้กระทั่งจำเลยที่มีอาการทางจิตเวชอย่าง ‘ประจักษ์ชัย’ จำเลยที่มีอาการหลงผิดชัดเจน นอกจากประจักษ์ชัยจะป่วยทางจิตแล้ว แพทย์ยังลงความเห็นว่าเขามีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ แม้จะได้รับการวินิจฉัยเช่นนั้น แต่เขาก็ยังต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านเกิดที่จังหวัดศรีสะเกษกับศาล และกว่า 4 ปีในการต่อสู้คดี สุดท้ายประจักษ์ชัยเสียชีวิตด้วยโรคตับที่เรื้อรังมานานหลายปี เขาจากไปก่อนที่วันพิจารณาคดีจะมาถึง
.
อัตราโทษจำคุกของคดี 112 ยังรุนแรงเทียบเท่าอัตราโทษความผิดฐานตระเตรียมการกบฏหรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ด้วยเหตุนี้ ปวงชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันจึงมักใช้กฎหมาย ม.112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและทำร้ายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และถือเป็นตัวบทกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างไร้ซึ่งมนุษยธรรม
.
คดี 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดในประวัติศาสตร์คือคดีของ ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ ที่ถูกแจ้งจับข้อหา ม.112 เนื่องจากเธออัปโหลดและแชร์คลิปเสียง ‘บรรพต’ อันมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบัน ระหว่างการต่อสู้คดี อัญชัญถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลากว่า 3 ปี ในปี 2564 ศาลตัดสินพิพากษาจำคุกเธอนานถึง 87 ปี ต่อมาได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เธอจึงกลายเป็นจำเลยของกฎหมาย ม.112 ที่ถูกตัดสินจำคุกยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 และในขณะนี้ที่ผู้อ่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่ อัญชัญก็ยังคงต้องโทษอยู่ภายในเรือนจำ
.
‘ห้องเช่าหมายเลข 112’ ยังเผยให้เห็นว่าจำเลยส่วนใหญ่ในคดี 112 จำต้องยอมรับสารภาพในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อเพื่อให้ได้ลดโทษ เพราะแม้จะยื่นเงินประกันสูงแค่ไหน พวกเขามักจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวสู้คดี ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘คดีมีโทษสูง หากให้ประกันตัวจำเลยอาจจะหลบหนี’ ราวกับข้อหาและคำพิพากษาเหล่านั้นถูกจับยัดใส่มือของพวกเขาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เมื่อสู้ต่อไปก็มองไม่เห็นความหวังที่จะชนะคดี ซ้ำร้ายจิตใจและร่างกายยังถูกบั่นทอนด้วยความเครียดและความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน สุดท้ายหลายคนจึงยอมก้มหน้าเข้าสู่ห้องเช่าหมายเลข 112 พร้อมเฝ้ารอคอยว่าจะได้รับ ‘การอภัยโทษ’ เพื่อจะได้กลับไปหาคนรักและครอบครัวของพวกเขา
.
“เพิ่งตัดสินใจกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเลิกต่อสู้คดีและกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เพราะเห็นว่าคดียืดเยื้อมานาน และมีผลกระทบหลายเรื่อง ซ้ำเมื่อยิ่งต่อสู้นานเข้า ก็เห็นว่ามีแนวโน้มจะถูกฟ้องเพิ่มอีกหลายคดี” หนึ่งในเหตุผลที่จำเลยในคดี 112 ยอมให้การสารภาพแม้ความจริงเขาจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม
.
แม้หลายคดีจะสิ้นสุดลงไปแล้ว และแม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลได้ แต่สิ่งที่พวกเราทุกคนยังคงทำได้ คือการต่อสู้และผลักดันให้เกิดการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 นี้ที่บ่อนทำลายสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นของประชาคนทุกคน เพื่อไม่ให้ตัวเลข ‘112’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายหรือทำลายชีวิตของใครได้อีกต่อไป และเพื่อไม่ให้มีเหยื่อรายต่อไปที่ต้องมาสังเวยชีวิตและอิสรภาพให้กับความโหดร้ายของกฎหมายมาตรา 112 นี้อีกแม้แต่คนเดียว
.
#ยกเลิก112
.
เนื้อหา : ลิขิตฝัน
พิสูจน์อักษร : วันและดาว และ พราวฟ้า
ภาพ : pencilpoem
.
อ้างอิง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และคณะ, ห้องเช่าหมายเลข 112, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร: ภาพพิมพ์, 2560)