เด็กน้อยในใจ และความหมายของการเติบโต

เด็กน้อยในใจ และความหมายของการเติบโต

สำหรับใครหลายคน ปีใหม่อาจเป็นสัญญาณแห่งความหวังและการเริ่มต้นใหม่ 

แต่ในขณะเดียวกัน เลขปีที่มากขึ้นก็มาพร้อมกับการต้องเติบโตโดยที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

.

แล้วการ ‘เติบโต’ ที่ว่าคืออะไร?

.

ย้อนไปสมัยยังเด็ก เรามองว่าการเป็นผู้ใหญ่นั้นเต็มไปด้วยอิสระ ไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ต้องโดนบังคับให้นอนกลางวัน ไม่ต้องดื่มนมช็อกโกแลตให้หมดแก้ว หรือไม่ต้องรีบเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำทั้งที่ยังอยากดูการ์ตูนต่อ การเติบโตจึงเป็นเหมือนชีวิตในอุดมคติของเด็กคนหนึ่ง แต่เมื่อเราโตขึ้น เรากลับได้ค้นพบความจริงว่าการเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะการเติบโตนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงภาระงานที่เข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน จนบางครั้งก็ขโมยเวลาชีวิตของเราไปเสียจนหมด และเมื่อไหร่ที่เราอยากจะกลับมาทำตัวเป็นเด็ก กลับไปเล่นเกม ดูการ์ตูนเรื่องโปรดในวัยเด็กของเรา ก็มักจะมีคำถามจาก ‘ผู้ใหญ่’ ว่า “โตแล้วยังทำอะไรแบบนี้อยู่อีกเหรอ” ดูเหมือนว่าการเติบโตสำหรับผู้ใหญ่เหล่านั้นจะหมายถึงการละทิ้งความเป็นเด็กไปอย่างสิ้นเชิง 

.

แต่หากเรายังอยากเหลือพื้นที่เล็ก ๆ ให้ได้กลับไปเป็นเด็กไว้บ้างล่ะ ‘Kidult’ อาจเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับความรู้สึกนั้น

.

คำว่า Kidult มาจากคำว่า Kid + Adult หมายถึงผู้ใหญ่ที่ยังคงความเป็นเด็กไว้ในตัวเอง คำดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในวงการโทรทัศน์ในช่วงปี 1950s เพื่อใช้พูดถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่ชอบดูรายการทีวีของเด็ก Kidult ในปัจจุบันอาจรวมถึงผู้ใหญ่ที่ยังชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สะสมของเล่นเด็ก ดูการ์ตูน หรือแต่งตัวลายการ์ตูนน่ารัก ๆ แม้สิ่งเหล่านี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเด็ก ๆ แต่เหล่า Kidult นั้นช่วยผลักดันให้เทรนด์เก่า ๆ ในวัยเยาว์ รวมไปถึงวงการของเล่นเด็กเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก NPD Group บริษัทวิจัยตลาดสัญชาติอเมริกัน ได้เปิดเผยว่า ความเป็นเด็กในหัวใจและกำลังซื้อแบบผู้ใหญ่ของเหล่า Kidult มีส่วนทำให้ยอดขายของเล่นเด็กในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2020 ถึง 2021 

.

การเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องสูญเสียความไร้เดียงสาในวัยเด็กเสมอไป ซูซาน เนย์แมน (Susan Neiman) ผู้เขียนหนังสือ Why Grow Up? กล่าวว่า การเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่การยอมแพ้ให้กับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สังคมยัดเยียดให้แก่เรา แต่การต่อสู้เพื่อรักษาตัวตนของตัวเองในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนต่างหากที่เป็นคำนิยามของผู้ใหญ่ที่แท้จริง 

.

ไม่ว่าใครต่างก็มี ‘เด็กน้อยในใจ’ ซ่อนอยู่ทั้งนั้น หากแต่แรงกดดันมากมายที่เพิ่มขึ้นในระหว่างทางของการเติบโตทำให้เด็กน้อยคนนั้นไม่สามารถปรากฏตัวได้ ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกเหนื่อยกับการก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ อย่าลืมปล่อยให้เด็กน้อยในใจช่วยปลอบโยนกันนะ

อ้างอิง

Juliet Bennett Rylah, The rise of the ‘kidult’ [ออนไลน์], 17 ธันวาคม 2565.แหล่งที่มา https://thehustle.co/07052022-kidults/

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา, ยังเล่นของเล่นกันอยู่ไหม? ว่าด้วย ‘Kidult’ และของเล่นที่ไม่ใช่เรื่องของเด็กเสมอไป [ออนไลน์], 17 ธันวาคม 2565. แหล่งที่มา https://thematter.co/social/kidults-and-toys/178869

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล, คำสารภาพของคนไม่อยากโต [ออนไลน์], 17 ธันวาคม 2565. https://thematter.co/thinkers/growup/35383 

Kelly Gilblom, Adults Who Love Toys? The Toy Industry Loves Them, Too [ออนไลน์], 22 ธันวาคม 2565. https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-17/toys-for-adults-a-growth-spot-for-lego-razor-and-mattel?leadSource=uverify%20wall 

เนื้อหา : ณัฐวรรณ พันธ์ศรีมังกร

พิสูจน์อักษร : พิชชาภรณ์ วรบุตร และ พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์

ภาพ : พศรินทร์ ตรีไพชยนต์ศักดิ์