เมื่อความรู้สึกเบื่อคือฮีโรในคราบของตัวร้าย

เมื่อความรู้สึกเบื่อคือฮีโรในคราบของตัวร้าย

.

เมื่อพูดถึงความรู้สึกเบื่อ เราคงรู้สึกอึดอัด ไม่ชอบใจ และคงไม่อยากจะรู้สึกถึงความเบื่อใช่ไหม? แต่ความจริงแล้วการรู้สึกเบื่อนั้นดีกว่าที่เราคิด เพราะความรู้สึกเบื่อนี่แหละที่จะช่วยให้เราได้เข้าใจตัวเอง

.

ทำไมเราถึงเบื่อ? 

.

เคยลองสังเกตดูไหมว่า ทุกครั้งที่เราเบื่อ เรามักจะคิดถึงสิ่งที่เราอยากจะทำเพื่อแก้เบื่อ หรือคิดถึงสิ่งที่เราอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมหรือวงสนทนา ดังนั้น ‘ความรู้สึกเบื่อไม่ใช่สิ่งที่อยู่ ๆ จะเกิดขึ้นมา แต่มันมาจากการที่เราอยากจะทำหรืออยากมีส่วนร่วมในสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่างหาก’

.

แล้วทำอย่างไรถึงจะหายเบื่อ?

.

ถ้าเป็นตอนนี้เราก็คงจะตอบว่าเล่นโทรศัพท์ หรือเช็กโซเชียลมีเดียแก้เบื่อ ถ้าไม่ทำแบบนี้จะแก้เบื่อได้อย่างไร ใช่ไหม? แต่บางทีการที่เราใช้เวลาว่างโดยที่ไม่มีอะไรให้ทำหรือไม่มีแม้แต่โทรศัพท์ก็อาจจะไม่ได้เป็นเวลาที่น่าเบื่อนัก ถ้าเราสามารถนำตัวเองเข้าไปในจิตใจของเรา รับรู้และควบคุมความรู้สึกหรือความคิดของเราได้

.

ทำไมต้องนำตัวเองเข้าไปในจิตใจด้วยล่ะ?

.

การนำตัวเองเข้าไปในจิตใจทำให้เราสามารถมองดูตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร อยากจะทำอะไร เป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร แล้วเรายังอยากจะทำอยู่หรือไม่ อยากจะให้อนาคตเป็นแบบไหน และจะต้องทำอย่างไร เมื่อเราสามารถเข้าใจตัวเอง สามารถตอบคำถามของตัวเองได้แล้ว เราก็จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น และนอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกด้วย ดังนี้

.

1. ช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

การที่เราได้พักมาทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองก็เหมือนทำให้เราได้ให้โอกาสกับสมองของเราได้หยุดพักจากเรื่องที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวัน รวมถึงได้คลายเครียดไปในตัวอีกด้วย

2. ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 

เพราะเรารู้สึกเบื่อ เราจึงอยากทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อแก้เบื่อ ได้ออกผจญภัย ได้ทดลองทำสิ่งที่ตัวเองไม่เคยได้ทำ ได้สัมผัสสิ่งที่เราไม่เคยได้สัมผัส ไม่แน่เราอาจจะได้ค้นพบความชอบใหม่ก็เป็นได้

3. มีแรงผลักดันที่จะสร้างเป้าหมายและลงมือทำ

นอกจากความรู้สึกเบื่อจะเกิดจากการที่เราอยากมีส่วนร่วมกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มันยังมาจากการที่เราไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำจริง ๆ เพราะฉะนั้น การที่เราได้คิดถึงสิ่งที่เราอยากจะทำจริง ๆ ในตอนที่กำลังเบื่อ ๆ ก็อาจจะทำให้เราได้ค้นพบเป้าหมายใหม่ และมีแรงผลักดันที่จะทำมันให้สำเร็จ

4. ได้รับสกิลการควบคุมตัวเอง

เพราะเมื่อเราเบื่อ เราจะต้องหาวิธีแก้เบื่อ วิธีควบคุมอารมณ์ ณ ตอนนั้น ดังนั้น เมื่อเราเริ่มคุ้นชินกับความเบื่อและสามารถควบคุมมันได้แล้ว เราก็จะสามารถอัปสกิลการควบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำของตัวเองได้

5. มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น

เพราะความรู้สึกเบื่อทำให้เราได้ใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง ได้ฝันกลางวัน ได้จินตนาการไปเรื่อยเปื่อย ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเราเพิ่มขึ้นนั่นเอง

.

การแก้เบื่อด้วยการเล่นโทรศัพท์ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะไม่ใช่เรื่องดีมากนัก และก็คงไม่ใช่เรื่องดีหากเราจะปล่อยให้ตัวเองจมอยู่แต่กับความเบื่อเพียงอย่างเดียว ในเมื่อความเบื่อเป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้เราได้หยุดและให้โอกาสเราได้จมอยู่กับความคิดและจินตนาการของตัวเอง เราก็ควรคว้าโอกาสนั้นไว้

.

ถ้าหากผู้อ่านได้อ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ก็อาจจะพบว่าความรู้สึกเบื่อไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอย่างที่คิด ในทางกลับกัน ความรู้สึกเบื่ออาจเป็นเหมือนดั่งฮีโรที่จะช่วยให้เราได้หยุดพักและเตรียมพร้อมก่อนออกเดินทางครั้งใหม่ต่างหาก

.

ถ้าอย่างนั้น ผู้อ่านทุกท่านพร้อมที่จะรู้สึกเบื่อหรือยังล่ะ?

.

เนื้อหา : พทธมณ สันทนานุการ

พิสูจน์อักษร : อชิรญาณ์ ศรีรัตนตาปี และ วรินทร สายอาริน

ภาพ : อคิราภ์ ผลาหาญ

.

อ้างอิง

Jesse Damiani, The history of boredom might surprise you What we can learn from our complicated relationship with boredom. [ออนไลน์], 1 กรกฎาคม 2564. แหล่งที่มา  https://www.freethink.com/culture/history-of-boredom

Shahram Heshmat, 5 benefits of Boredom How could we learn to benefit from Boredom? [ออนไลน์], 4 เมษายน 2563. แหล่งที่มา https://www.psychologytoday.com/.../shahram-heshmat-phd