How to heal your inner child : โอบกอดเด็กน้อยในหัวใจด้วยอ้อมแขนแห่งวัยผู้ใหญ่

How to heal your inner child : โอบกอดเด็กน้อยในหัวใจด้วยอ้อมแขนแห่งวัยผู้ใหญ่


ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปี… ยังคงมีเสียงของเด็กน้อยร่ำไห้อยู่ในใจเสมอมา


แม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องบางเรื่องในวัยเด็กยังคงย้อนกลับมาให้เราเจ็บปวดหัวใจได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูนที่แม่ไม่ยอมซื้อให้ในวันนั้น วันที่โดนเพื่อน ๆ หัวเราะเยาะที่โรงเรียน ไปจนถึงคำมั่นสัญญาที่ครอบครัวมอบให้แก่เรา แต่กลับรักษาไว้ไม่ได้ เรื่องราวในวัยเด็ก แม้จะผ่านไปนานสักเท่าใด แต่เด็กน้อยคนนั้นยังคงยืนร้องไห้อยู่ในใจของเราตลอดมา บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักเด็กน้อยคนนั้นให้มากขึ้น และแบ่งปันวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยเยียวยาแผลใจในวัยเด็กกัน


จิตวิญญาณในวัยเด็ก หรือ inner child คือ คำศัพท์ทางจิตวิทยาที่อธิบายความเป็นเด็กที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ในทางจิตวิทยาเชื่อว่า ตัวตนของเราในแต่ละช่วงวัยจะหลอมรวมและประกอบสร้างเป็นตัวตนของเราในปัจจุบัน เรียกได้ว่าอดีตไม่ได้ผ่านมาและผ่านไปเสียทีเดียว แต่ทุกหน้าในบันทึกแห่งความทรงจำจะค่อย ๆ กลายเป็นเหมือนเศษเสี้ยวแห่งตัวตนของเรานั่นเอง ดังนั้น การที่เรายังรู้สึกแย่กับเรื่องที่เกิดขึ้นตอนเรา 5 ขวบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด


และแม้ว่าในช่วงวัยเด็กของหลาย ๆ คนอาจจะมีแต่ความสดใส เต็มไปด้วยพลัง รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเหมือนท้องฟ้าวันฝนพรำที่อาจจะไม่ได้สดใสอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้พวกเขาไม่ได้เดินบนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่หัวใจยังคงเต็มไปด้วยบาดแผลจากวัยเด็ก ดังนั้น การรักษาจิตวิญญาณในวัยเด็กจึงเป็นวิธีที่จะเยียวยาเด็กน้อยคนนั้นในตัวเรา และทำให้เราในวัยผู้ใหญ่กลับมายิ้มได้อีกครั้ง


ลำดับแรก หากต้องการจะเรียกหาเด็กน้อยในใจเรา เราควรพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มอบความสุขแก่เราในวัยเด็ก เด็กน้อยคนนั้นอาจจะชอบกินไอศกรีมรสเรนโบว์พร้อมกับอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มโปรด หรือวิ่งเล่นท่ามกลางกลิ่นของไอดินในวันที่ฝนตกจาง ๆ เมื่อเด็กน้อยคนนั้นมีความสุขขึ้นมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะชวนเด็กคนนั้นมาคุยกัน เพื่อค้นหาต้นตอของบาดแผลในจิตใจ และรับฟังสิ่งที่จิตวิญญาณในวัยเด็กต้องการที่จะสื่อสารกับเรา การนึกย้อนความทรงจำหรืออ่านไดอารีที่เราเขียนตอนเด็กเพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่อาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจจะช่วยทำให้เราเห็นภาพเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างชัดแจ้งขึ้นได้


และเมื่อพบต้นตอของปัญหาแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะมาเช็ดน้ำตาให้เด็กน้อยคนนั้นกัน การสำรวจความรู้สึกและเลือกที่จะปลดปล่อยความทุกข์หรือปมในใจจะช่วยให้จิตวิญญาณในวัยเด็กของเราเป็นอิสระจากบาดแผลที่เคยเกิดขึ้น การเยียวยาบาดแผลในวัยเด็กนั้นต้องอาศัยความรักและความเมตตาต่อตนเอง ซึ่งมีหลากหลายวิธี เช่น การกอดตนเองด้วยวิธี butterfly hug การห่มผ้าหนา ๆ หรือ weighted blanket เพื่อจำลองความรู้สึกเวลาถูกกอด การฝึกลมหายใจ หรือ breathing exercise เพื่อลดความเครียดและอาการวิตกกังวล นอกจากนี้ การพูดหน้ากระจกหรือการแปะโพสต์อิตที่มีข้อความให้กำลังใจ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราฟื้นตัวจากแผลใจในวัยเด็กได้เร็วขึ้น


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอว่าการเยียวยาเช่นนี้ต้องใช้เวลาและความอดทน ถึงแม้เส้นทางในการผจญภัยครั้งใหม่นี้อาจจะขรุขระไปบ้าง แต่ปลายทางจะมีท้องฟ้าที่สดใสคอยเราอยู่เสมอ.


ขอให้ผู้อ่านบทความนี้เจอแต่ความรักและความอ่อนโยนที่ปลอบประโลมเด็กน้อยในใจทุกคนให้ไม่เจ็บปวดอีกต่อไป…


เนื้อหา : โชติภา พุ่มไพจิตร

พิสูจน์อักษร : พรรวษา เจริญวงศ์ และ วรินทร สายอาริน

ภาพ : อสมาภรณ์ โลหแสงเรือง


อ้างอิง

พบแพทย์, Inner Child เรียนรู้และเยียวยาแผลใจในวัยเด็กด้วยความเข้าใจ [ออนไลน์], (ม.ป.ป.). แหล่งที่มา 


https://www.forbes.com/sites/womensmedia/2021/09/02/5-self-soothing-tips-to-heal-your-inner-child/?sh=7cc0ac2d2f32


Esther Goldstein, What Is An Inner Child & What Does It Know? [ออนไลน์], (n.d.). แหล่งที่มา https://integrativepsych.co/new-blog/what-is-an-inner-child


Forbeswomen, 5 Self-Soothing Tips To Heal Your Inner Child [ออนไลน์],  2 กันยายน 2564. แหล่งที่มา 


https://www.forbes.com/sites/womensmedia/2021/09/02/5-self-soothing-tips-to-heal-your-inner-child/?sh=7cc0ac2d2f32