‘I feel like I became a zombie’ : เมื่อทุนนิยมทำให้เรากลายเป็นซอมบี้
.
‘I feel like I became a zombie
Not alive but I’m still walkin’’
.
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากท่อนฮุกของเพลง ซอมบี้ (Zombie) ผลงานเพลงของเดย์ซิกซ์ (DAY6) วงดนตรีสัญชาติเกาหลีที่ปล่อยออกมาในปี 2020
.
เมื่อพูดถึง ‘ซอมบี้’ ภาพแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดของหลาย ๆ คนน่าจะเป็นภาพเดียวกันคือ ภาพของร่างที่ดูไร้วิญญาณ แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ราวกับว่ายังมีชีวิตอยู่ จินตนาการเกี่ยวกับซอมบี้เช่นนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกมาหลายทศวรรษแล้ว ดังที่ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้อธิบายวิวัฒนาการของซอมบี้เอาไว้ว่า คำว่า ‘Zombi’ ได้รับการหยิบยกมาใช้ในภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี 1819 โดย โรเบิร์ต เซาดีย์ (Robert Southey) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งนักวิชาการได้สันนิษฐานที่มาของคำนี้เอาไว้หลากหลาย โดยนักวิชาการส่วนหนึ่งอธิบายว่าซอมบี้มีที่มาจากคำว่า ‘Nzambi’ ที่หมายถึงเทพเจ้าตามความเชื่อของชาวพื้นเมืองแอฟริกันตะวันตก ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวว่ามาจากคำว่า ‘mvumbi’ ซึ่งเป็นคำที่ชาวคองโกใช้เพื่อเรียกผี หรืออาจมาจากคำว่า ‘nvumbi’ ที่หมายถึงร่างไร้วิญญาณ
.
อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ซอมบี้’ ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่เริ่มใช้คำนี้ครั้งแรกในปี 1819 แต่คำว่า ‘ซอมบี้’ และจินตนาการเกี่ยวกับซอมบี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในช่วงเวลาอีก 149 ปีต่อมา เมื่อ จอร์จ โรเมโร (George A. Romero) ได้สร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่อง ‘Night of the Living Dead’ ออกมาในปี 1968 ภาพยนตร์ของจอร์จมีส่วนสำคัญในการนำเสนอจินตนาการเกี่ยวกับซอมบี้ว่าเป็นร่างที่ไร้ชีวิต แต่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ราวกับว่ายังมีชีวิต
.
แม้ว่าจินตนาการเกี่ยวกับซอมบี้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ ‘Night of the Living Dead’ จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความหมายของซอมบี้ที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน แต่สำหรับซอมบี้ที่ออกมาหลอกหลอนเราในเพลงของเดย์ซิกซ์นั้น ดูเหมือนว่าจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย
.
‘Breathin’ but I’ve been dyin’ inside
Nothin’ new and nothin’ feels right’
.
ความแตกต่างของซอมบี้ในบทเพลงของเดย์ซิกซ์อยู่ที่ว่า ถึงแม้จะเป็นร่างไร้วิญญาณที่ดูเหมือนยังมีชีวิตเช่นเดียวกันกับซอมบี้ในจินตนาการของคนส่วนใหญ่ หรือซอมบี้ที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ที่พบเห็นทั่วไป แต่ซอมบี้ในเพลงนี้มีความน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า และใกล้ตัวเรายิ่งกว่า ทั้งยังเป็นซอมบี้ที่สามารถปรากฏออกมาเมื่อไรก็ได้
.
เพราะซอมบี้ที่ว่านี้เป็นซอมบี้ที่อยู่ข้างในตัวเรามาตลอด หรืออาจสรุปสั้น ๆ ได้ว่าเพลงซอมบี้ของเดย์ซิกซ์คือเพลงที่เล่าเรื่องราวเมื่อเราต้องกลายไปเป็นซอมบี้โดยที่ไม่ทันได้รู้ตัว
.
เมื่อทุนนิยมทำให้เรา(ต้อง)กลายไปเป็นซอมบี้ :
แม้ว่าเนื้อหาของเพลงจะไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งต้องกลายไปเป็นซอมบี้ (ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีซอมบี้ตัวอื่นไปกัดแพร่เชื้ออย่างที่เราเข้าใจกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้ได้) ออกมาตรง ๆ แต่เรื่องราวในมิวสิกวิดีโอที่นำเสนอภาพชีวิตของตัวละครหลักที่เป็นมนุษย์เงินเดือนก็สื่อให้เราเข้าใจได้ว่า สาเหตุที่ตัวละครนี้ต้องกลายไปเป็นซอมบี้นั้นมาจากชีวิตอันว่างเปล่า ซึ่งเป็นปัญหาที่มนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยน่าจะกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน
.
‘Am I really the only one who’s been wantin’ to hide out from the sun and run?’
.
หากมองให้ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง สาเหตุที่มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนรู้สึกว่าชีวิตของตนช่างว่างเปล่า และเริ่มจะรู้สึกสิ้นหวังในตัวเองนั้นอาจไม่ได้มาจากภาระงานที่หนักหน่วงหรือความรู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ แต่ต้นตอที่แท้จริงอาจมาจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่เป็นสังคมทุนนิยม ดังที่ในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘ทุนนิยมกับโรคซึมเศร้า’ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้กล่าวไว้ว่า สังคมทุนนิยมทำให้เราต้องสร้างตัวตนของเราตลอดเวลา ทั้งยังบีบบังคับให้เราต้องแสดงออกว่าเราเป็นใคร ซึ่งยิ่งเราหมกมุ่นกับตัวตนของตนเองมากเท่าไร ความป่วยไข้ทั้งด้านกายภาพและจิตใจก็จะยิ่งเกิดขึ้นกับเราได้มากเท่านั้น
.
นอกจากจะบังคับให้เราต้องแสดงออกถึงตัวตนของเราแล้ว ทุนนิยมยังบังคับให้เราต้องมีความสุข เพราะคนที่ไม่มีความสุขจะถูกมองว่าเป็นคนผิดปกติ ความสุขกลายมามีสถานะเป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิต เราจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อไขว่คว้าเอาความสุขมาให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทุนนิยมยังทำให้ตัวตนของมนุษย์แบบเราแยกขาดออกจากคนอื่นในสังคม ดังนั้น หากเราไม่สามารถตามหาความสุขของเราได้ นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการหาทางออกด้วยตัวเอง สังคมและการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
.
‘When we live a life always dreamin’ for a dream to come true
So I live this life wanting somethin’ I can’t see and something I can’t reach or somethin’ that could not exist’
.
เมื่อสังคมปัจจุบันห้ามไม่ให้เราล้มเหลว และบีบบังคับให้เราต้องมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ความสุขไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถไขว่คว้ามาได้โดยง่าย พวกเราจึงต้องมีอาการไม่ต่างจากซอมบี้ ได้แต่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวัน อย่างไร้จุดหมาย ให้ความหวังตัวเองว่าปลายทางของการเดินทางที่ว่างเปล่าจะมีเรื่องดี ๆ เช่น ความสุข ความสำเร็จรออยู่ แม้ว่าความหวังนั้นอาจจะริบหรี่ลงทุกที
.
‘I became a zombie
And there’s nothing that can cure me’
.
ในงานเสวนาครั้งนี้ อ.เก่งกิจได้เสนอแนวทางในการจัดการความเศร้าซึมที่สังคมทุนนิยมแพร่ให้เราว่า การปลดแอกระบบทุนนิยมจะช่วยให้เราหายขาดจากอาการนี้ที่จะส่งผลต่อไปให้เรากลายเป็น ‘ซอมบี้’ ได้ นอกจากนี้ การสร้างภราดรภาพเพื่อให้เกิดตัวตนร่วมและประชาธิปไตยก็เป็นแนวทางการแก้ไขที่สำคัญเช่นกัน
.
‘So tomorrow I know I’ll be just the same
You’ll see me wishin’ to stop and close my eyes’
.
แต่ในระหว่างการต่อสู้เพื่อปลดแอก การตามหาความสุขเล็ก ๆ ที่จะมาหล่อเลี้ยงไม่ให้อาการซอมบี้ในตัวเรารุนแรงขึ้นก็เป็นภารกิจที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
.
อักษรสาราฯ จึงอยากขออวยพรให้วันพรุ่งนี้ของคุณผู้อ่านทุก ๆ คนเป็นวันที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าวันวานที่ผ่านมา และขอให้ความรู้สึกว่างเปล่าที่ซอมบี้แบบเราต้องเผชิญจางลงและสลายหายไปได้ในเร็ววัน
.
เรื่อง : esther
พิสูจน์อักษร : ชามา หาญสุขยงค์ และ วรินทร สายอาริน
ภาพ : ติณณา อัศวเรืองชัย
.
อ้างอิง
Jiratchaya Chaichumkhun, รัฐไร้สวัสดิการให้ประชาชน ผู้คนก็ป่วยเป็นซึมเศร้า: งานเสวนา ‘ทุนนิยมกับโรคซึมเศร้า’ [ออนไลน์], 21 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://thematter.co/.../capitalism-and-depression.../158876
.
ณัชชา กันเขตร, ‘I became a zombie’ ได้แต่เพียงเดินต่อไปอย่างไร้จุดหมาย ใช้ชีวิตรอคอยเวลาจนกว่าจะได้หลับตาโดยที่พรุ่งนี้ก็ยังเหมือนเดิม [ออนไลน์], 19 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://waymagazine.org/onthisday-day6-zombie/
.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, ซอมบี้ศึกษาในมิติสังคมวัฒนธรรม [ออนไลน์], 20 มกราคม 2566. แหล่งที่มา https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/244