‘Lavender Haze’ by Taylor Swift : รักไร้พันธนาการผ่านม่านหมอกสีลาเวนเดอร์

‘Lavender Haze’ by Taylor Swift : รักไร้พันธนาการผ่านม่านหมอกสีลาเวนเดอร์ 

“เมื่อตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก คุณรู้สึกอย่างไร?”

บ้างก็ว่าความรักนั้นเหมือนกับลูกอมรสหวานที่รสชาติตลบอบอวนไปในปากและละลายหายไปโดยไม่ทันตั้งตัว บางคนก็เปรียบว่าความรักเหมือนการได้ทิ้งตัวลงบนเตียงนุ่ม ๆ ที่ช่วยคลายความเหนื่อยล้าในแต่ละวันให้หมดไป แต่สำหรับนักร้องสาว Taylor Swift ความรักนั้นเปรียบเสมือนการได้อยู่ท่ามกลางหมอกสีลาเวนเดอร์ ซึ่งเธอได้ถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ผ่านบทเพลงเปิดอัลบั้ม Midnight อย่างเพลง ‘Lavender Haze’ บทความนี้จะชวนทุกคนไปค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใด Taylor Swift จึงเลือกหมอกสีลาเวนเดอร์เป็นตัวแทนของความรัก

.

‘Lavender Haze’ เป็นวลียอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงราวทศวรรษที่ 50 มักนำมาใช้เพื่อบรรยายช่วงเวลาที่เราอยู่ในห้วงอารมณ์ของความรัก วลีนี้ได้ปรากฏครั้งล่าสุดอยู่ในบทกลอน ‘Sunday’ จากหนังสือรวมบทกลอนที่ชื่อว่า ‘Hymn of Life’ ของ James Schuyler ผู้ชนะรางวัล Pulitzer ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของวงการสื่อสารมวลชนในสหรัฐอเมริกา ตัวเทย์เลอร์เองได้เปิดเผยว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อเพลงนี้ จากการดูซีรีส์ Mad Men ซีรีส์ชื่อดังสัญชาติอเมริกัน โดยเธอได้นำวลีนี้มาแต่งเป็นบทเพลงที่บรรยายความรู้สึกของคนที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก กล่าวคือ ช่วงเวลาที่คุณตกหลุมรักนั้นเหมือนกับการที่คุณตกอยู่ท่ามกลางหมอกสีลาเวนเดอร์ เต็มไปด้วยความลุ่มหลงมัวเมาและยากที่จะหลีกหนีออกไปได้

นอกจากความรู้สึกลุ่มหลงมัวเมาแล้ว ในเพลง Lavender Haze เทย์เลอร์ยังได้ถ่ายทอดความกดดันทางสังคมที่เธอต้องเจอระหว่างที่เธอตกอยู่ในห้วงความรัก จากท่อนที่ว่า 

“All they keep asking me 

Is if I'm gonna be your bride 

The only kind of girl they see

Is a one night or a wife”

ไม่ว่าจะเป็นทั้งความกดดันในฐานะบุคคลสาธารณะที่ทั้งโลกคอยจับตาความสัมพันธ์ของเธอกับแฟนหนุ่ม Joe Alwyn ว่าจะไปถึงตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือความกดดันในฐานะผู้หญิงกับข้อผูกมัดทางสังคมที่ว่าเธอจะต้องแต่งงานและกลายเป็นภรรยา มิฉะนั้นเธอจะไม่ต่างอะไรกับคู่นอนชั่วข้ามคืน เนื้อเพลงท่อนนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิด Madonna-Whore Dichhotomy หรือแนวคิดที่ว่าในสังคม ผู้หญิงเป็นได้แค่มารดาอันแสนบริสุทธิ์หรือของเล่นทางเพศอันไร้ราคาเท่านั้น

.

ทั้งนี้ ดอกลาเวนเดอร์ยังเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ และกลุ่มเลสเบี้ยนมาตั้งแต่ราวปลายสมัยศตวรรษที่ 19 กลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุโรป Aestheticism นำโดย Oscar Wilde กวีชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 19 ที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผย ใช้สีม่วงของดอกลาเวนเดอร์แทนสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ ‘เกย์’ ของเขาผ่านวลีชื่อดัง ‘Purple Hour’ ในเวลาต่อมา ช่วงทศวรรษที่ 1930 ดอกลาเวนเดอร์เริ่มนำมาใช้เป็นศัพท์แทนกลุ่มเกย์ (The Streak of Lavender) จนกระทั่งในยุคของประธานาธิบดี Eisenhower เกิดปรากฏการณ์ล่าแม่มดกลุ่ม LGBTQIA+ ที่เรียกว่า ‘The Lavender Scare’ ส่งผลให้เกย์และเลสเบี้ยนกว่า 5,000 คนต้องออกจากงานเพียงเพราะเพศสภาพของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1969-1970 ลาเวนเดอร์ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของกลุ่ม LGBTQIA+ ทั้งการก่อจลาจลที่ Stonewall นิวยอร์ก ไปจนถึงการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรชาวเลสเบี้ยนที่ชื่อว่า ‘The Lavender Menance’

.

 จากบทเพลง Lavender Haze แสดงให้เห็นว่า Taylor Swift พยายามที่จะถ่ายทอดอิสรภาพแห่งรักผ่านบทเพลงของเธอ ผ่านการตีแผ่และทำลายบทบาททางเพศ (gender roles) บรรทัดฐานทางสังคม (social norms) รวมถึงแนวคิดที่ว่าโลกมีสองเพศ (gender binary) เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนพันธนาการที่ผูกมัดคนในสังคมจากความรักที่บริสุทธิ์ ท้ายที่สุดนี้ อักษรสาราขอเชิญชวนให้ผู้อ่านกล้าที่จะรักใครสักคนอย่างอิสระ เพราะบนโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดที่สามารถพันธนาการความรักไว้ได้

“โปรดละทิ้งความกลัวไว้ข้างหลัง และกล้าที่จะก้าวเท้าเข้าไปสู่ม่านหมอกสีลาเวนเดอร์ เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นในหัวใจที่คุณไม่สามารถสัมผัสจากที่ใดได้อีก…”

เนื้อหา : โชติภา พุ่มไพจิตร

พิสูจน์อักษร : เธียรชัย ทองเงิน และ พรรวษา เจริญวงศ์

ภาพ :  สิรภัทร์ มะเริงสิทธิ์

อ้างอิง

Callie Ahlgrim, Every detail and Easter egg you may have missed on Taylor Swift's new album 'Midnights'

[ออนไลน์], (26 October 2022.). แหล่งที่มา https://www.insider.com/taylor-swift-midnights-lyrics...

Christobel Hastings, How lavender became a symbol of LGBTQ resistance [ออนไลน์], (4 June 2020.). แหล่งที่มา 

https://edition.cnn.com/.../lgbtq-lavender.../index.html

Eleanor Medhurst, From Lavender To Violet: The Lesbian Obsession With Purple

[ออนไลน์], (20 August 2021.). แหล่งที่มา 

https://dressingdykes.com/.../08/20/from-lavender-to-violet/