Marxism

Marxism

ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) เป็นแนวคิดหรือการวิเคราะห์สังคมและเศรษฐกิจที่วิพากษ์ทุนนิยมผ่านกระบวนทัศน์การขูดรีด ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยม ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกรรมาชีพ รวมถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างซึ่งถูกกดขี่จากชนชั้นกระฎุมพีผู้ว่าจ้าง เพื่อผลิตสินค้าและบริการ โดยชนชั้นกระฎุมพีนั้นถือเป็นชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และได้รับความมั่งคั่งมาจากการจัดสรรผลิตภัณฑ์ส่วนเกิน (กำไร) ที่ชนชั้นกรรมาชีพผลิตขึ้น เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง วิกฤตนี้จะลงเอยด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ และนำมาสู่การสถาปนาสังคมนิยมในที่สุด ซึ่งเป็นระบบทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยึดสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และนำผลิตภัณฑ์ส่วนเกินมากระจายให้คนในสังคมตามการมีส่วนร่วมและการผลิต 

.

เมื่อกำลังการผลิตก้าวหน้าขึ้น มาร์กซ์ตั้งสมมติฐานว่า สุดท้ายแล้วสังคมนิยมจะเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งหมายถึงสังคมที่ไร้ชนชั้น ไร้รัฐ และมีมนุษยธรรม โดยการยึดกรรมสิทธิ์ร่วมและยึดหลักการพื้นเดิม จากเดิมที่ให้แต่ละคนตามความสามารถ เปลี่ยนเป็นให้แต่ละคนตามความต้องการ มาร์กซ์จึงมองว่าในสังคมทุนนิยมนั้น แรงงานเป็นผู้ถูกขูดรีดให้ทำงานเกินความจำเป็น

.

ในความคิดของมาร์กซ์ กระบวนการดังกล่าวจะสร้างความกดดันให้กับโครงสร้างทางสังคม ทำให้เกิดชนชั้น (class) และนำไปสู่การปฏิวัติสังคมในที่สุด มาร์กซ์มองว่าความคิดเป็นผลผลิตที่สะท้อนออกมาโดยตรงจากวัตถุ และรูปแบบการผลิตแบบทุนนิยมบังคับให้กรรมกร (labour) จำเป็นต้องขายแรงงานของตนเองในราคาถูกแก่นายทุน 

.

ดังนั้น แท้จริงแล้วกำไรของนายทุนนั้นเกิดจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากค่าแรงของกรรมาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ชนชั้นนายทุนจึงต้องพัฒนาเครื่องมือและวิธีการผลิตให้ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา มาร์กซ์จึงเห็นว่าสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยมเป็นจริงเฉพาะกับผู้ที่มีทรัพย์สิน ไม่ใช่สำหรับกรรมาชีพและคนยากจน การที่มนุษย์ถูกทำให้ยอมรับว่าความรวยหรือความจนนั้นมีอยู่ มาร์กซ์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘จิตสำนึกหลอกลวงและจอมปลอม’ (false consciousness)

.

ห้องสีน้ำเงิน : ภาพจำลองชนชั้นกรรมาชีพในระบบทุนนิยม

.

ข้าพเจ้านั่งอยู่ใน ‘ห้องสีน้ำเงิน’ รูปร่างหรือรูปทรงนั้นข้าพเจ้าไม่อาจอธิบายอย่างแน่ชัดได้ หากแต่รู้เพียงว่าเป็นห้องอันกว้างใหญ่

.

แค่ลำพังใช้ชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ ในห้องสีน้ำเงินแห่งนี้ ก็เหนื่อยเจียนตายมากพอแล้วสำหรับข้าพเจ้า

.

ในทุก ๆ วันข้าพเจ้าพบเห็นผู้คนมากมายที่เหมือนกับข้าพเจ้าวนเวียนเปลี่ยนผ่านเข้ามา ทุก ๆ คนนั้นเหมือนกันหมด และเมื่อข้าพเจ้าจ้องมองดูดี ๆ พวกเขาเองก็เหมือนกับข้าพเจ้าด้วยเช่นกัน

.

ข้าพเจ้า ‘กลัว’ การถูกแทนที่ภายในพริบตาด้วยผู้คนเหล่านั้น 

.

ห้องสีน้ำเงินแห่งนี้เริ่ม ‘น่าขนลุก’ ขึ้นทุกที 

‘เหล่าผู้คนที่หน้าตาเหมือนกัน’

‘ทำไม’ และ ‘ตั้งแต่เมื่อไร’ ที่ข้าพเจ้ามาติดที่ห้องสีน้ำเงินแห่งนี้ 

.

สิ่งที่เรียกว่า ‘คำถาม’ นั้นเริ่มเกิดขึ้นมาในหัวของข้าพเจ้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

.

แต่เวลาก็ไม่เอื้ออำนวยให้ข้าพเจ้าได้แม้แต่จะสงสัย

.

มิเช่นนั้นข้าพเจ้าอาจถูกแทนที่ด้วยหนึ่งในเหล่าคนหน้าเหมือน

.

ข้าพเจ้าจึงทำได้เพียงแต่ไหลไปตามกฎเกณฑ์ที่ห้องสีน้ำเงินแห่งนี้ต้องการ

.

ถึงแม้ข้าพเจ้าจะ ‘จงเกลียดจงชัง’ ห้องสีน้ำเงินแห่งนี้เพียงใด 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ห้องห้องนี้เป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้า ‘คุ้นชิน’

เมื่อเทียบกับข้างนอกที่ดู ‘น่ากลัวยิ่งกว่า’

.

บทวิเคราะห์ Capitalism และ Marxism จากเรื่อง ห้องสีน้ำเงิน

.

เรื่องราวข้างต้นเป็นการสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวของตัวละครนิรนามที่อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมและอยู่ในชนชั้นกรรมาชีพ สังเกตได้จากการที่ตัวละครไม่มีทางเลือกในการดำเนินชีวิตมากนัก

.

ประโยคแรกนั้นแสดงให้เห็นว่าตัวละครไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่เลยแม้แต่น้อย ไม่รู้แม้แต่ชื่อ รู้แต่เพียงเป็นห้องสีน้ำเงิน โดยห้องสีน้ำเงินเปรียบเป็นโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่กลับมีคนเพียงส่วนน้อยที่มีโอกาสเดินทางและได้ทำความรู้จักโลกใบนี้จริง ๆ อีกทั้งคนที่มีโอกาสก็ล้วนอยู่ในชนชั้นกระฎุมพีด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ตัวละครนิรนามซึ่งอยู่ในชนชั้นกรรมาชีพแทบจะไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกที่เขาอาศัยอยู่เลย การใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ในระบบทุนนิยมก็เหนื่อยมากพอแล้ว การอาศัยอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมที่บังคับให้ชนชั้นกรรมาชีพต้องทำงานหนักเพื่อให้ชนชั้นกระฎุมพีได้ขูดรีดและรับผลกำไรมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวละครจะหมดแรงทำสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากงานที่ทำมาแล้วทั้งวัน 

.

ระบบทุนนิยมวางรากฐานให้ผู้คนในชนชั้นกรรมาชีพถูกบีบบังคับให้เป็นไปตามรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของชนชั้นกระฎุมพี ส่งผลให้ผู้คนในห้องสีน้ำเงินมีใบหน้าที่มองแล้วดูเหมือนกันไปหมด โดยทั่วไปใบหน้าของคนล้วนมีความแตกต่างและสื่อถึงเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล แต่เมื่อใบหน้ากลายเป็นสิ่งที่เหมือนกันไปหมด แสดงให้เห็นว่าความเป็นคนแบบปัจเจกได้หายไป ทุกคนล้วนถูกระบบทุนนิยมชักจูงเหมือนกันหมด ภายใต้ระบบทุนนิยมที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างกำไรให้กับชนชั้นกระฎุมพี ทำให้ผู้คนสามารถแทนที่กันได้อย่างง่ายดาย ตอนนี้เองที่ความกลัวเริ่มคืบคลานเข้ามาภายในจิตใจของตัวละครนิรนาม 

.

ในชีวิตจริงนั้น ความรู้สึกเหล่านี้ก็ล้วนเกิดขึ้นกับผู้คนที่อยู่ในชนชั้นกรรมาชีพเช่นเดียวกัน การถูกแทนที่ได้เสมอโดยใครก็ตามทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องมาตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ในระบบนี้ อย่างที่ตัวละครนิรนามเองก็เริ่มสงสัย การที่ระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ต่อไปได้ จำเป็นจะต้องไม่ให้ผู้คนเกิดข้อกังขาในระบบที่จะนำมาซึ่งการปฏิวัติ ดังนั้น การที่ระบบสร้างมาให้ผู้คนในชนชั้นกรรมาชีพแข่งขันกันอยู่ตลอด ให้ผู้คนคอยเปรียบเทียบความสามารถตนเองกับคนอื่นอยู่เสมอ ใครก็ตามที่มีศักยภาพน้อยกว่าก็ถูกเขี่ยทิ้งและแทนที่ได้ในทันที ทำให้ผู้คนไม่สามารถมาร่วมใจกันเพื่อต่อต้านระบบทุนนิยมได้ เพราะต้องคอยปกป้องและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ตำแหน่งที่ยืนอยู่จะได้ไม่ถูกพรากไป 

.

เห็นได้จากการที่ตัวละครไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเดินหน้าทำหน้าที่ตนเองตามที่ระบบทุนนิยมได้มอบหมายให้ ไม่เช่นนั้นตำแหน่งที่ตัวละครทำอยู่ก็สามารถถูกคนหน้าเหมือนคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทนได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ผู้คนในชนชั้นกรรมาชีพต้องทำตามบทบาทของตนเองภายใต้ระบบทุนนิยมต่อไป จะได้ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังและไม่ถูกแทนที่ ถึงแม้จะไม่ได้พึงพอใจกับระบบทุนนิยมที่ตนเองต้องอยู่ภายใต้ก็ตาม เปรียบได้กับตัวละครที่เกลียดการอาศัยอยู่ภายใต้ระบบของห้องสีน้ำเงิน แต่ก็กลัวเกินกว่าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำได้เพียงยอมรับชะตากรรมที่ถูกกำหนดมา

.

เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนในชนชั้นกรรมาชีพตระหนักรู้ถึงความสามารถที่ตนมีและร่วมใจกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ระบบทุนนิยมที่คอยขูดรีดพวกเขาจึงจะทุเลาลงได้

.

เนื้อหา : สิริยากร พุ่มประดับ

พิสูจน์อักษร : อชิรญาณ์ ศรีรัตนตาปี และ พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์

ภาพ : สุประวีภ์ เป็นกล