‘Queerbaiting’ การหากระแสจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

‘Queerbaiting’ การหากระแสจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จากกระแสข่าวดังอย่างการเรียกร้องให้นักแสดงนำเรื่อง Heartstopper ออกมาแสดงจุดยืนและเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเรื่องเพศหลากหลาย ทำให้นักแสดงอย่าง คิต คอนเนอร์ (Kit Conner) ได้ออกมาเผยว่าการเรียกร้องดังกล่าวเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขา ยิ่งไปกว่านั้น การที่คิตไม่ออกมาเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศยังทำให้เขาถูกมองว่าการที่เขามาแสดงบท นิค เนลสัน เป็นการใช้เรื่องความหลากหลายทางเพศเพื่อหาชื่อเสียงเพียงเท่านั้นอีกด้วย

.

    Heartstopper เป็นการ์ตูนคอมมิกชื่อดังของ อลิซ โอสแมน ที่ถูกทำเป็นซีรีส์ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ ดำเนินเรื่องโดย ชาร์ลี สปริง ผู้มีความชอบกับเพศเดียวกัน แล้วได้มาพบกับ นิค เนลสัน เนื้อเรื่องดำเนินไปตามการพัฒนาความรักของทั้งสองคนที่ค่อย ๆ เติบโตและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จุดที่น่าสนใจของเรื่องคือ ตัวละคร นิค เนลสัน ที่พยายามจะเข้าใจและตอบคำถามกับตัวเองว่า จริงๆ แล้วตนมีเพศวิถีอย่างไร สุดท้ายจึงได้พบว่าเขามีความชอบและสนใจทั้งเพศหญิงและชาย และเนื้อเรื่องก็แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของตัวละครตัวนี้ที่กล้าที่จะแสดงออก ซึ่งนับเป็นเรื่องยากของใครหลาย ๆ คนที่จะเปิดเผยตัวตนของตนเอง

.

    ซีรีส์เรื่อง Heartstopper แสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องเปิดเผยว่าเราเป็นอะไรหรือมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด กลับกันเราควรที่จะรักตัวเอง และสามารถที่จะเปิดเผยตัวตนด้วยความพร้อม โดยปราศจากการกดดันจากคนภายนอก แต่ทว่าการที่นักแสดงอย่าง คิต คอนเนอร์ ถูกกดดันให้ออกมาเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตน ก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจแก่นแท้ของเรื่อง Heartstopper เอาเสียเลย

.

    จากประเด็นข่าวทำให้กระแสของ Queerbaiting เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่นักแสดงใช้เนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมาหาชื่อเสียง กระแส และความโด่งดัง แต่กลับไม่ช่วยผลักดันสิทธิมนุษยชนทางเพศเหล่านี้ ซึ่งการกระทำนี้ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ และยังเป็นเหมือนการหากินจากเพศเหล่านี้อีกด้วย นอกจากนี้ Queerbaiting ยังรวมไปถึงการสร้างเนื้อหาที่มีจุดขายเป็นความหลากหลายทางเพศ เพื่อดึงดูดชาว LGBTQ+ ให้สนใจ โดยที่ตัวเนื้อหาอาจไม่ได้เสนอประเด็นที่ช่วยขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เพียงแต่สร้างกระแสเพื่อเพิ่มยอดธุรกิจเท่านั้น

    ยกตัวอย่างสถานการณ์ในเมืองไทยที่สื่อต่าง ๆ ได้ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับชาว LGBTQ+ เป็นจำนวนมาก แต่หลายครั้งก็ถูกตั้งข้อสงสัย และถูกทำให้เป็นกระแสในเชิงลบ ในประเด็นที่ว่า สื่อนั้นถูกผลิตเพียงเพื่อเรียกกำไร แต่ไม่ได้แสดงจุดยืนใด ๆ ที่จะช่วยหรือสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตัวอย่างเช่น กิจกรรมเดินขบวนพาเหรด ‘บางกอก นฤมิต ไพรด์ 2022’ ที่เป็นประเด็นร้อน เมื่อมีการโพรโมตซีรีส์วายท่ามกลางการเดินขบวนพาเหรดที่เรียกร้องความเสมอภาคและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ทำให้เห็นว่าตัวนักแสดงหรือสื่อไร้ความเข้าใจเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการขับเคลื่อน และเห็นความหลากหลายทางเพศเป็นเพียงคอนเทนต์ในการสร้างชื่อเสียงและกำไรเท่านั้น

.

    สุดท้ายนี้ อักษรสาราขอให้ผู้อ่านพึงระลึกว่า การเข้าใจและค้นหาตัวเองนั้นต้องใช้เวลา ซึ่งไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่านานเพียงใด แต่ไม่มีใครสมควรที่จะถูกกดดันจากโลกภายนอก และไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำตามกระแสสังคม ขอแค่ให้เรารักตัวเองและใช้เวลาไปกับการค้นหาตัวตน และเมื่อถึงเวลา เราก็จะพร้อมเป็นตัวเราได้อย่างมั่นใจและมีความสุข

.

เนื้อหา : อาทิตยา ขันทอง

พิสูจน์อักษร : สรัลชนา หันหาบุญ และ พิมทอง ธนาวุฒิกุล

ภาพ : ติณณา อัศวเรืองชัย

รายการอ้างอิง

Vogue Thailand, ตีแผ่กระแส “Queerbaiting” เมื่อวงการบันเทิงหากินกับความหลากหลายทางเพศจนเกินงาม [ออนไลน์], 10 สิงหาคม 2564. แหล่งที่มา https://www.vogue.co.th/.../queerbaiting-story-analysis

Daily News, ดราม่าร้อน!วิจารณ์ยับเหมาะสมมั้ย? โปรโมต ‘ซีรีส์วาย’กลางงาน ‘นฤมิต ไพรด์’ [ออนไลน์], 6 มิถุนายน 2565. แหล่งที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1119138/