‘This is how we rock’ อะไรทำให้เพลงฮิปฮอปเกาหลีเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

‘This is how we rock’ อะไรทำให้เพลงฮิปฮอปเกาหลีเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

.

เมื่อพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ คุณจะนึกถึงบทบาทใดของประเทศนี้เป็นลำดับแรก 

เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระดับแนวหน้าของโลก 

เป็นผู้ส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมหลากหลายประเภท 

หรือเป็นผู้ผลิตสื่อเพื่อความบันเทิงที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

.

ในปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้ไม่เพียงแต่เป็นผู้คิดค้นและส่งออกเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระดับแนวหน้า ด้วยการคิดค้นชุดตรวจโควิด-19 (Covid Antigen Test Kit) ได้สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก แต่ยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ปิติ ศรีแสงนาม ได้อธิบายถึงความสำเร็จของกระแสฮอลยู (Hallyu หรือ Korean Wave) ไว้ว่า ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้ได้ขับเคลื่อนความมั่งคั่งผ่านสินค้าทางวัฒนธรรมหลายประเภท เช่น วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สื่อบันเทิงต่าง ๆ รวมไปถึงการท่องเที่ยว หรือการทำศัลยกรรม ซึ่งสินค้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ถูกส่งออกไปทั่วทุกมุมโลก และได้รับการตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้กลายมามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

.

แน่นอนว่า ‘ดนตรี’ เป็นหนึ่งในสินค้าทางวัฒนธรรมที่ประเทศเกาหลีใต้ส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังจะเห็นได้ว่าตลอดศตวรรษที่ 21 นี้ศิลปินเคป็อบ (K-Pop) จำนวนมากเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ดงบังชินกิ ซูเปอร์จูเนียร์ วันเดอร์เกิร์ลส์ เกิร์ลส์ เจเนอเรชัน บังทันโซนยอนดัน เอ็กโซ แบล็กพิงก์ มาจนถึงศิลปินที่เพิ่งเดบิวต์ในปี 2023 อย่างนิวจีนส์ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเช่นกัน

.

ทว่านอกจากแนวเพลงเคป็อบแล้ว แนวเพลงฮิปฮอปเกาหลี (Korean Hip-Hop หรือ K Hip-Hop) ถือเป็นแนวเพลงอีกแนวหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงนอกประเทศเป็นอย่างมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าในขณะนี้จำนวนแฟนเพลงของศิลปินกลุ่มนี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยอดดาวน์โหลดเพลงและยอดการฟังในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ในปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจเคยได้ยินเพลงแนวฮิปฮอปเกาหลีบางเพลงมาบ้างแล้ว เช่น New thing ของ Zico เพลง Blue check ของ toigo หรือ Counting star ของ BE’O นอกจากนี้ แรปเปอร์ชาวเกาหลีใต้หลายคนก็เริ่มมีแผนการที่จะจัดคอนเสิร์ตไปทั่วโลก (world tour) เช่น คอนเสิร์ต ‘Follow the movement: AOMG world tour 2023’ ของศิลปินค่าย AOMG หรือ คอนเสิร์ต ‘DPR Regime World Tour 2022’ ของศิลปินกลุ่ม DPR

.

แล้วอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้แนวเพลงฮิปฮอปเกาหลีเป็นที่นิยมไปทั่วโลก 

หรือถ้าจะถามเจาะจงลงไปกว่านั้น 

อะไรคือลักษณะเฉพาะตัวของแนวเพลงฮิปฮอปเกาหลีที่ทำให้แนวเพลงนี้แตกต่างจากเพลงฮิปฮอปแบบอื่น ๆ

.

‘Let’s hit the town’

จากฮิปฮอปอเมริกันถึงฮิปฮอปเกาหลี

คยองฮยอน คิม (Kyunghyun Kim) สรุปที่มาของแนวเพลงนี้ไว้ว่า แนวเพลงฮิปฮอปเกาหลีนั้นได้รับถ่ายทอดโดยตรงมาจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของแนวเพลงฮิปฮอปในช่วงที่ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศเกาหลีใต้ โดยเพลงที่ได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นเพลงฮิปฮอปเกาหลีเพลงแรกคือเพลง I Know หรือ Nan Arayo เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1992 โดยซอ แทจี (Seo Taeji) แรปเปอร์คนแรกของเกาหลีใต้

.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวเพลงฮิปฮอปเกาหลีจะมีที่มาจากแนวเพลงฮิปฮอปอเมริกัน ซึ่งทำให้แนวเพลงทั้งสองแนวมีความคล้ายคลึงกันในหลายส่วน แต่คยองฮยอนเสนอว่า แนวเพลงฮิปฮอปเกาหลีมีลักษณะหลายประการที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของแนวเพลงเคฮิปฮอป ดังต่อไปนี้

.

‘Things I couldn’t learn at school: How to draw out my dreams, how to enjoy my life’

จากความกดดันในโรงเรียนสู่ลักษณะเฉพาะของเคฮิปฮอป

ความโดดเด่นของเพลงแนวฮิปฮอปเกาหลีข้อหนึ่งที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งคือ เนื้อแรปที่เล่าเกี่ยวกับระบบการศึกษาว่าก่อให้เกิดความเครียดและความกดดันต่อผู้เรียนมากเพียงใด บางครั้งเนื้อแรปอาจกล่าวถึงความทุกข์ของเด็กที่เกิดจากการกดดันของผู้ปกครองด้วย เนื้อแรปเช่นนี้สอดคล้องกับที่แฮคยอง อึม (Hae-Kyung Um) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ระบบการศึกษาที่เคร่งเครียดนั้นเป็นปัญหาหนึ่งที่มักจะปรากฏในเพลงประเภทฮิปฮอปของประเทศเอเชียตะวันออก

.

นอกจากนี้ คยองฮยอนยังตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่เนื้อแรปในเพลงฮิปฮอปเกาหลีหลายเพลงเลือกจะเล่าถึงชีวิตในโรงเรียนเป็นเพราะในสังคมเกาหลีใต้ไม่มีสลัม (ghetto) อย่างในสังคมอเมริกัน เมื่อแรปเปอร์ชาวเกาหลีต้องการจะนำเสนอประสบการณ์ส่วนตัวด้านที่มีบาดแผล หรือนำเสนอความไม่เป็นธรรมในสังคม พวกเขาจึงเลือกจะนำเสนอความทรงจำขณะเป็นเด็กนักเรียนที่หลาย ๆ คนต้องอยู่ในสภาพทุกข์ทรมานในนรกของระบบการศึกษาแทน

.

เพลงฮิปฮอปเกาหลีหลายเพลงเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงชีวิตในวัยเรียน ตัวอย่างเช่น เพลง WORK ของพัค ฮยอนจิน และลิล บีโม (Park Hyunjin และ Lil Bemo) ที่บอกว่าโรงเรียนทำได้แค่สอนเนื้อหาวิชาการ แต่ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนได้

.

‘We’re livin’ in a different time zone’

จากเรื่องราวส่วนตัวสู่เนื้อแรป

ลักษณะสำคัญที่ทำให้เพลงแนวฮิปฮอปเกาหลีแตกต่างออกไปจากเพลงฮิปฮอปอื่น ๆ อีกข้อหนึ่งคือ เนื้อแรปที่เป็นการนำประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินมาเรียงร้อย ซึ่งอาจสามารถเทียบได้กับการเล่าเรื่อง (storytelling) ลักษณะเนื้อเพลงเช่นนี้ใกล้เคียงกับเนื้อหาของการแสดงมันดัม (Mandam) ที่เป็นการแสดงดั้งเดิมของเกาหลี ในแง่หนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการฟื้นฟูให้ศิลปะดั้งเดิมของชาติได้กลับคืนมา

.

ตัวอย่างเพลงที่มีลักษณะเช่นนี้ เช่น เพลง We are ของอู วอนแจ (Woo Wonjae) ที่เล่าถึงเรื่องราวและความรู้สึกของตนในช่วงที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยไปพร้อม ๆ กับการทำงานด้านดนตรี หรือเพลง Comfortable ของวอน (ONE) ที่เล่าถึงความเครียดในตอนที่เป็นเด็กฝึกหัด (trainee) ในค่ายเพลง YG Entertainment

.

‘Ima be sexy forever’

จากความแตกต่างสู่ความนิยมในวงกว้าง

เพราะฉะนั้นถ้าหากจะถามว่าทำไมแนวเพลงฮิปฮอปเกาหลีถึงได้รับความนิยมทั้งจากผู้ฟังชาวเกาหลีใต้และผู้ฟังชาวต่างชาติ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อแรปที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแนวเพลงแนวนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

.

ด้วยเนื้อแรปที่มีลักษณะเฉพาะคือการนำเสนอความกดดันที่วัยรุ่นเกาหลีต้องเผชิญ ทั้งจากระบบการศึกษาที่เคร่งเครียดและความคาดหวังจากผู้ปกครอง หรือเนื้อเพลงที่บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของแรปเปอร์แต่ละคน ประกอบกับดนตรีที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้ไม่กดข้ามเพลงนั้น ๆ ไป ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่แนวเพลงเคฮิปฮอปจะเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และมีฐานแฟนเพลงหรือแฟนคลับเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

เนื้อหา : esther

พิสูจน์อักษร : อจลญา เนตรทัศน์ และ แพรพลอย นาเมืองรักษ์

ภาพ : จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์

.

อ้างอิง

Kyunghyun Kim, Hegemonic mimicry Korean popular culture of the twenty-first century. (Duke University Press, 2021).

Hae-Kyung Um, The poetics of resistance and the politics of crossing borders: Korean hip-hop and “cultural reterritorialisation.” [Online], 15 February 2023. Derived from http://www.jstor.org/stable/23359881

ปิติ ศรีแสงนาม, บทเรียนจากความสำเร็จของกระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี [ออนไลน์], สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/6930/