🎶You and I, it’s more than like.
What’s After Like?🎶
“ความรู้สึกที่มากกว่าชอบนี้มันคืออะไรกัน” “สิ่งที่เหมือนกับความฝันแต่ก็ยังไม่ใช่ ฉันมั่นใจว่าสิ่งนี้คือความรักอย่างแน่นอน” ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย คำถามเกี่ยวกับความรักก็ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ใฝ่ฝันที่จะค้นหาคำตอบและหาเหตุผลมาอธิบายอยู่เสมอ เช่นเดียวกับในเนื้อเพลงข้างต้นของ ‘After LIKE’ ซิงเกิลล่าสุดของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี IVE ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคำถามที่ว่า “ความรักคืออะไร ความรักคือการที่เราชอบใครสักคนมากเกินไปหรือเปล่า แล้วเราจะแยกได้อย่างไรว่าเมื่อไรที่เรียกว่าชอบ และเมื่อไรที่เรียกว่ารัก”
หนึ่งในความพยายามในการหาเหตุผลเพื่ออธิบายความรักก็คือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ที่เสนอโดย ศ. ดร. โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล สเติร์นเบิร์กได้เสนอว่า องค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่ความรักนั้นมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ความใกล้ชิดสนิทสนม (intimacy) ความหลงใหล (passion) และการผูกมัด (commitment)
หากพิจารณาตามทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรักแล้วนั้น ความรู้สึกที่เรียกว่าชอบ (liking) เป็นความสัมพันธ์ที่มีเพียงองค์ประกอบของความใกล้ชิด จึงเป็นเหมือนความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทที่เข้าใจกัน คุยกันถูกคอ แต่ไม่ได้รู้สึกอยากจะคบหาดูใจกันเป็นแฟน แต่เมื่อใดที่เราเริ่มพัฒนาองค์ประกอบอย่างความหลงและการผูกมัดขึ้นมาด้วยแล้ว ความชอบก็จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความรักประเภทอื่นต่อไปนั่นเอง หากแต่สำหรับ ‘ติ่ง’ หลาย ๆ คน จุดเริ่มต้นของความรักอาจไม่ได้เกิดจากความชอบเสียทีเดียว
วินาทีที่หัวใจเต้นตึกตัก สายตาจดจ้องไปยัง ‘คนในจอ’ ริมฝีปากอมยิ้มออกมาอย่างไม่มีสาเหตุ ข้างในเริ่มเกิดอาการหวั่นไหว อยากจะรู้จักคนคนนี้ให้มากขึ้น รู้ตัวอีกทีก็เหมือนว่าจะตกหลุมรักจนขึ้นไม่ไหวไปซะแล้ว โมเมนต์ของการ ‘โดนตก’ หรือความรู้สึกสนใจในตัวศิลปินอาจเรียกได้ว่าเป็นความรักแบบหลงใหล (infatuated love) หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘รักแรกพบ’ เพียงแค่ได้เห็นรูปร่าง หน้าตา หรือความสามารถของศิลปินก็อยากจะไปตามดูแฟนแค็ม (fancam) ทั้งหมดที่มี แม้ความรักประเภทนี้จะมีเพียงความหลง แต่ก็นับว่าเป็นการก้าวขาเข้าสู่ ‘วงการติ่ง’ สำหรับใครหลาย ๆ คนเลยก็ว่าได้ เมื่อแฟนคลับได้เริ่มรู้จักศิลปินมากขึ้นผ่านการติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียล ได้นั่งดูไลฟ์และรายการทีวีต่าง ๆ หรือรับรู้เรื่องราวชีวิตที่ศิลปินแชร์ให้อ่านผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘บับเบิล’ ก็จะเริ่มเกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความรักแบบโรแมนติก (romantic love) ซึ่งเป็นความรักที่มีทั้ง passion และ intimacy ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากตกลงจะ ‘เข้าด้อม’ เป็นแฟนคลับของศิลปิน และเริ่มสร้างเป้าหมายไปพร้อมกับศิลปินในการคว้ารางวัลปลายปีหรือขึ้นเป็นที่ 1 บนชาร์ตเพลง ก็จะเกิด commitment และพัฒนาเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ (consummate love) ที่มีองค์ประกอบครบทั้งสามอย่างนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ความรักของแฟนคลับจะแน่นแฟ้นและยากที่จะลบล้างได้
หากแต่ความรักก็มีวัน ‘หมดอายุ’ เช่นกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป องค์ประกอบที่เรียกว่า passion นั้นอาจลดลงไปทีละน้อย หัวใจที่เคยเต้นแรงเมื่อเห็นแจ้งเตือนจากศิลปินอาจกลายเป็นเพียงแค่ความเคยชิน สถานะของความรักจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นประเภทที่เรียกว่า ความรักแบบมิตรภาพ (companionate love) ที่เหลือแต่ความผูกพัน ความสบายใจ และความมั่นคง แม้จะไม่ได้น่าตื่นเต้นเหมือนกับช่วงแรก ๆ ของการติ่ง แต่ความสัมพันธ์นี้ก็ยังทำให้รู้สึกอบอุ่นใจอยู่เสมอทุกครั้งที่ได้เห็นหรือได้เจอกับศิลปินคนโปรด
แม้ว่าทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรักของสเติร์นเบิร์กจะช่วยให้เราพอเข้าใจความรู้สึกอันแสนซับซ้อนนี้ได้บ้าง แต่ความรักก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวอยู่ดี ดังนั้น ไม่ว่าความรักนั้นจะมาในรูปแบบใด ผู้เขียนก็ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและซื่อตรงต่อความรู้สึกของตนเอง และหวังว่าความรักจะเบ่งบานในใจผู้อ่านตลอดไป
เนื้อหา : ณัฐวรรณ พันธ์ศรีมังกร
พิสูจน์อักษร : รสิกา วิเศษสมภาคย์ และ สรัลชนา หันหาบุญ
ภาพ: จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์
อ้างอิง
ใบบุญ วจนอักษร, ทำไม ‘ติ่ง’? : มอง ‘ความติ่ง’ จากมุมจิตวิทยา [ออนไลน์], 12 ธันวาคม 2561. แหล่งที่มา https://becommon.co/culture/kpop-fan-vol2/
สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล, คุยเฟื่องเรื่องรักใคร่ ผ่านดวงตานักจิตวิทยา กับ ผศ.โมนิล เตชะวชิรกุล [ออนไลน์], 14 กุมภาพันธ์ 2563. แหล่งที่มา https://themomentum.co/love-psychology-monin/
The People, โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก : รู้จักความรัก 8 รูปแบบไปกับทฤษฎี ‘Triangle of Love’[ออนไลน์], 14 กุมภาพันธ์ 2565. แหล่งที่มา https://www.thepeople.co/read/41546