What’s so heroic about Taylor Swift’s ‘Anti-Hero’?

What’s so heroic about Taylor Swift’s ‘Anti-Hero’?

.

“It’s me, hi! I’m the problem, it’s me.” คงเป็นเสียงที่ดังก้องกังวานอยู่ในหัวของใครหลาย ๆ คนตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากศิลปิน เทย์เลอร์ สวิฟต์ ปล่อยอัลบั้ม ‘Midnights’ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา และหนึ่งในเพลงที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเพลง ‘Anti-Hero’ เพลงลำดับที่ 3 ของอัลบั้มที่คว้าอันดับ 1 บนสตรีมมิงแพลตฟอร์มหลายแห่ง และทำให้เทย์เลอร์เป็นศิลปินคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ครองทั้ง 10 อันดับของชาร์ต Billboard Hot 100 ในสัปดาห์เดียวกัน 

.

แน่นอนว่าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวเป็นผลมาจากเนื้อเพลงที่ติดหูและดนตรีที่มีเอกลักษณ์ของเธอ แต่นอกเหนือไปจากนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสามารถในการใช้ภาษาดนตรีถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตของเธอเป็นมนต์เสน่ห์สำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การทุบสถิติอุตสาหกรรมดนตรีครั้งนี้ขึ้น โดยเฉพาะเพลง ‘Anti-Hero’ ที่ผู้เขียนเชื่อว่า แม้จะชื่อว่า ‘Anti-Hero’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของการที่เธอมองตัวเองเป็น ‘วีรบุรุษวายร้าย’ หรือ ‘ตัวเอกปฏิลักษณ์’ (ตัวละครวีรบุรุษที่ประพฤติตัวอย่างไม่สมกับเป็นวีรบุรุษ) แต่ผู้เขียนมองว่า เรื่องราว ‘ไม่วีรบุรุษ’ ของเธอนั้น น่าประทับใจ เข้าถึงคนฟัง และมีความเป็น ‘วีรบุรุษ’ อย่างน่าประหลาด

.

อะไรคือสิ่งที่เทย์เลอร์ซ่อนไว้อยู่เบื้องหลังเพลง ‘Anti-Hero’? เทย์เลอร์กล่าวถึงเพลง ‘Anti-Hero’ บนอินสตาแกรมของเธอว่า “เพลง Anti-Hero เป็นหนึ่งในเพลงที่ฉันชอบที่สุดตั้งแต่ฉันเขียนเพลงมา เพลงนี้เปรียบเสมือนเพลงที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับสิ่งที่ฉันเกลียดเกี่ยวกับตัวเองเกือบทุกสิ่ง เราต่างก็เกลียดบางอย่างในตัวเองทั้งนั้น ทุกอย่างที่เราชอบและไม่ชอบในตัวเองนี่แหละที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจมันเพื่อจะเป็นตัวเราในวันนี้ นั่นแหละ ฉันเลยชอบเพลง ‘Anti-Hero’ มาก เพราะฉันคิดว่ามันเป็นเพลงที่ช่างซื่อสัตย์กับตัวเอง” เมื่อลองพิจารณาเนื้อเพลงทีละท่อน เราจะพบเรื่องราวและบาดแผลมากมายที่เธอซ่อนเอาไว้เบื้องหลังจังหวะดนตรีซินท์ป๊อปชวนให้โยกนี้

“I have this thing where I get older, but just never wiser” เป็นท่อนแรกที่เธอแต่งเพื่อเปิดเพลงนี้ สื่อให้เห็นมุมมองต่อตนเองที่ขัดแย้งกับความคาดหวังของสังคมซึ่งมองว่า วุฒิภาวะจะมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น แต่เธอเห็นว่าชีวิตเธอดำเนินสวนทางกับความเชื่อแบบนี้ จากนั้นเทย์เลอร์เปิดเผยถึงประสบการณ์การต่อสู้กับโรคซึมเศร้าของเธอด้วยท่อนที่ร้องว่า “When my depression works the graveyard shift, all of the people” ประกอบกับท่อนก่อนหน้าที่ว่า “Midnights become my afternoons” ทำให้เข้าใจได้ว่า โรคซึมเศร้าเป็นเหตุผลให้เธอนอนไม่หลับ และเป็นตัวกระตุ้นให้เธอผลักไสทุกคนรอบข้าง ต่อมา เทย์เลอร์ขยายความถึงมุมมองของเธอผ่านเลนส์ของโรคซึมเศร้าที่กลัวว่าวันหนึ่งทุกคนที่เธอรักจะทิ้งเธอไป (เธอร้องว่า “One day, I'll watch as you're leaving / 'Cause you got tired of my scheming (For the last time)”) 

.

อย่างไรก็ดี เมื่อเพลงเล่นมาถึงท่อนฮุก เทย์เลอร์ก็ยอมรับออกมาว่าเธอนี่แหละคือตัวปัญหา เธอนี่แหละคือคนที่กล้ายืนอย่างภาคภูมิใจต่อหน้าฟ้าดิน แต่ไม่เคยกล้ามองดูความผิดพลาดของตัวเองในกระจก ด้วยท่อนติดหูของเพลงที่ร้องว่า “It's me, hi! I'm the problem, it's me” และ “I'll stare directly at the sun, but never in the mirror” ซึ่งในแง่หนึ่งอาจมองว่าเป็นการน้อมรับความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องต่อสู้และหันมาคิดลบกับตัวเอง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่า เธอกล้าที่จะยอมรับความเปราะบางของเธอ และมองว่าตัวเองคือ ‘วีรบุรุษวายร้าย’ ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่เธอร้องตามมาในท่อนถัดมาว่า “It must be exhausting always rooting for the anti-hero”

.

เนื้อเพลงท่อนต่อมาที่ร้องว่า “Sometimes, I feel like everybody is a sexy baby / And I'm a monster on the hill” กล่าวถึงความโหดร้ายที่ผู้ชายเลือกจะมองเฉพาะผู้หญิงที่สวยและทำตัวเหมือนเด็ก โดยใช้การอ้างอิงคำว่า ‘sexy baby’ จากซิตคอมเรื่อง 30 Rock อย่างไรก็ดี เนื้อเพลงท่อนดังกล่าวถูกขยายให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นอีกจากมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ เทย์เลอร์ซึ่งเป็นผู้กำกับวิดีโอนี้เองใช้พลังของเทคโนโลยี ช่วยให้แนวคิดที่เธอมองว่าตัวเองเป็นยักษ์ใหญ่ แปลกแยกจากคนอื่น และมีตัวตนด้านมืดของเธออีกคนรุกล้ำเข้ามาในหัวเธอตลอดเวลา มีชีวิตขึ้นมาในวิดีโอได้

.

เนื้อเพลงทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์การต่อสู้กับโรคซึมเศร้าของเทย์เลอร์และมุมอ่อนแอในตัวเธอที่เธอให้สัมภาษณ์ว่า “เธอรู้สึกว่าเธอไม่เหมือนมนุษย์ที่สมบูรณ์” เพลง ‘Anti-Hero’ จึงเป็นผลงานที่เธอใช้ดนตรีถ่ายทอดความกลัวต่อการสูญหาย ความเครียดต่อสรรพสิ่งบนโลก และความกังขาต่อผู้คนรอบตัวเธอ ซึ่งแฟนเพลงหลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนเลย ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุผลที่เพลงนี้คว้าใจคนฟังและทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับศิลปินคนนี้ได้ เป็นเพราะเราต่างก็เป็น ‘วีรบุรุษวายร้าย’ หรือ ‘Anti-Hero’ กันทั้งนั้น เราต่างกำลังต่อสู้กับวายร้ายในตัวเองและเผชิญหน้ากับความกลัวสารพัดสิ่งที่กัดกินจิตใจเรา ในฉากจบของมิวสิกวิดีโอนี้ เราจะเห็นว่าเทย์เลอร์ทั้งสามคนที่ต่างรู้สึกว่าตัวเองสร้างแต่ปัญหาพบเจอกับจุดสงบสุขบนหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่เทย์เลอร์มอบให้แก่แฟนเพลงว่า การยอมรับข้อบกพร่องในตัวเอง และตะโกนออกมาว่า “ฉันคือตัวปัญหา ฉันคือวีรบุรุษวายร้าย” คือทางออกที่ดีที่สุด และนั่นเอง เป็นสิ่งที่ผู้เขียนมองว่าทำให้ผลงาน ‘ไม่วีรบุรุษ’ ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ชิ้นนี้ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะ ‘วีรบุรุษ’  

.

เนื้อหา : TK 

พิสูจน์อักษร : อจลญา เนตรทัศน์ และ แพรพลอย นาเมืองรักษ์

ภาพ : อภิชญา ยอดนิล

.

อ้างอิง

รวิพร วามานนท์, Anti-Hero: วีรบุรุษนอกขนบกับความเคารพในตนเอง [ออนไลน์], 25 มีนาคม 2564. แหล่งที่มา https://kindconnext.com/kindcult/anti-hero/

Garrison, A., Taylors Swift Says New Song “Anti-Hero” Is “One of My Favorite Songs I’ve Ever Written” [ออนไลน์], 21 ตุลาคม 2565. แหล่งที่มา https://www.distractify.com/.../taylor-swift-anti-hero...

Merinuk, M., ‘Anti-Hero,’ new ‘Midnights’ song, delves ‘far’ into Taylor Swift’s insecurities [ออนไลน์], 21 ตุลาคม 2565. แหล่งที่มา https://www.today.com/.../taylor-swift-anti-hero-song...

Townsend, C., Taylor Swift’s ‘Anti-Hero’ lyrics: A detailed analysis by the internet. [ออนไลน์], 22 ตุลาคม 2565. แหล่งที่มา https://mashable.com/.../taylor-swift-anti-hero-break-down