งานสัปดาห์หนังสือ : เทศกาลปลดปล่อยชีวาจากจำจอง

งานสัปดาห์หนังสือ : เทศกาลปลดปล่อยชีวาจากจำจอง


เทศกาลละลายทรัพย์เวียนมาให้นักอ่านได้จับจ่ายหาซื้อหนังสือกันอีกครั้ง และแน่นอนว่าขณะนี้ กองดองที่ทุ่มเงินซื้อมาถมชั้นหนังสือตั้งแต่งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมาก็ยังตั้งตระหง่าน อ่านจบแล้วบ้าง กำลังอ่านอยู่บ้าง หรือบางเล่มอาจยังไม่แกะห่อพลาสติกออกเลยบ้าง กระนั้น เชื่อว่านักอ่านทั้งหลายก็พร้อมงดของหวานหลังมื้อกลางวันเพื่อหยอดกระปุกและนับวันรองานสัปดาห์หนังสือใหญ่ครั้งแรกของปีอยู่ดี

.

หนังสือมากมายถูกขนไปวางขายที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักพิมพ์คึกคัก ผู้จ่ายจับครึกครื้น บรรยากาศในงานรายล้อมไปด้วยผู้คน พนักงานขายที่มีแววตาเป็นประกายกำลังพรรณนาสรรพคุณของเรื่องราว ราวกับว่าหนังสือเล่มนั้นสามารถรักษาโลกใบนี้ไว้ได้เพียงแค่นักอ่านพเนจรยอมควักเงินสดออกจากกระเป๋า หรือเข้าแอปพลิเคชันธนาคารในโทรศัพท์มือถือและกดโอนเงิน ภาพผู้คนพร้อมกระเป๋าล้อลากที่บรรจุหนังสือประหนึ่งซานตาคลอสกับรถลากของขวัญคู่ใจดูจะเป็นสิ่งที่เห็นจนชินตาในงานหนังสือทุกครั้ง ว่าแต่เหล่านักอ่านทำอะไรกับหนังสือเหล่านั้นกันนะ

.

อ่านไง ก็แหงล่ะ แต่คำตอบนี้ดูจะธรรมดาไปหน่อย

หรือจะเป็น… ตกแต่งบ้าน วางบนโต๊ะ ประดับชั้นหนังสือ หนุนแทนหมอน

สารพันประโยชน์ให้เลือกสรร

แม้ว่าความสุขจากการได้หนังสือเต็มมือกลับบ้านจะต้องแลกกับความหนักใจกับปัญหามากมายที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการพบว่าไม่มีที่ว่างเหลือวางหนังสืออีกแล้วในเคหสถาน มื้ออาหารที่จำต้องลดขนาดความอุดมลงจากมื้อบุฟเฟต์ และคงไม่ต้องพูดถึงชานมไข่มุกหรือน้ำหวานที่เป็นอันต้องลืมไป แต่ความสุขนั้นก็มากพอที่บรรดานักอ่านจะยอมเทเงินที่เก็บไว้ (และบ่อยครั้งก็เกินกว่าที่ตนตั้งงบไว้ก่อนหน้า) ไปกับหนังสือในเทศกาลนี้

.

และแม้ว่าการซื้อหนังสือไปตั้งไว้บนชั้นเพียงให้ได้เชยชมยามปรารถนาจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วสำหรับผู้เขียนที่จะไปเยี่ยมชมบูทของแต่ละสำนักพิมพ์ และเดินออกมาพร้อมปึกกระดาษเย็บสันห่อปกสวยที่หนาบ้าง บางบ้าง ติดไม้ติดมือกลับมา แต่เนื่องในงานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกของปีฤกษ์ดีมะโรงทอง ผู้เขียนจึงอยากทำหน้าที่เป็นหนึ่งในโฆษก (แม้ไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ) เพื่อหาสมาชิกนักอ่านเพิ่มเติม หรืออันที่จริงผู้เขียนเพียงต้องการหาเพื่อนที่พร้อมจะล้มละลายในงานหนังสือไปพร้อมกันทุกครั้ง สำหรับใครที่ยังหาเหตุผลที่เหมาะสมและมากพอไม่ได้ว่าควรไปงานหนังสือหรือแม้แต่ควรซื้อหนังสือสักเล่มหรือไม่ ผู้เขียนจะขอเสนอเหตุผลที่อาจสร้างความชอบธรรมให้การตัดสินใจไปพาหนังสือสักเล่มกลับบ้านจากงานหนังสือครั้งนี้เป็นเรื่อง “ถูกต้องเหมาะสม” โดยจะขอเริ่มจากคำนิยามที่ผู้เขียนให้กับหนังสือว่าหนังสือนั้นคืออะไรกัน

.

หนังสือคือร่างที่พลันมีเลือดเนื้อเมื่อเปิดอ่าน 

หนังสือคือม่านประวัติศาสตร์บนหน้ากระดาษ  

หนังสือคือเมืองจำลองของซากปรักบนเยื่อไม้

หนังสือคือกลิ่นอายของวันเก่า 

หนังสือคือปัจจุบันในจินตนาการ

หนังสือคือการเดินทางในดินแดนเร้นลับ

หนังสือคือประกายแวววับท่ามกลางความมืดมน

หนังสือคือชีวิตคนที่เป็นได้ทุกอย่างตามใจหวัง

.

มีหนังสือเป็นล้านเล่มบนโลกใบนี้ น่าเสียดายที่ทั้งช่วงชีวิตของมนุษย์คงจะไม่ยืนยาวพอสำหรับการเดินทางสำรวจชีวิตในหนังสือจนครบทุกเล่ม และจะยิ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกเสียดายมากขึ้นหากพบคนพลัดตกขบวนรถไฟสู่เส้นทางการท่องเที่ยวมากมายนี้ การท่องเที่ยวบนหน้ากระดาษอันประกอบด้วยตัวอักษรที่จัดระเบียบให้เป็นถ้อยคำก่อนเรียงร้อยเป็นเรื่องราว เรื่องราวที่จะเป็นเพียงตัวอักษรต้องขังและถูกจองจำไปตลอดจนกว่าจะมีนักเดินทางมาเปิดอ่าน มาปลดปล่อยชีวิตในเรื่องราวนั้นออกสู่อิสรภาพ 

.

ชีวิตในหนังสือเล่มโปรดของผู้เขียนมากมายได้ออกมาโลดแล่นหลังจากถูกจำตรวนอยู่นิ่งบนหน้ากระดาษ ชีวิตที่ได้รับการปลดปล่อยเหล่านั้นจะผลัดกันเดินมากระซิบข้างหูผู้อ่านทั้งในยามสุขล้นแลทุกข์ตรม ชีวิตที่ได้อิสระจากการปลดปล่อยเมื่อเปิดอ่านจะหมุนเวียนผลัดกันมาตอบแทน บางครั้งมาในรูปแบบคำตอบ บางครั้งมาในรูปแบบคำปลอบ หรือบางครั้งก็มาในรูปแบบคำเตือนถึงความจริงบางอย่างที่มนุษย์หลงลืม และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะนักอ่านทั้งหลายได้เริ่มออกเดินทางไปตามหาร่างแข็งทื่อหลังบานประตูเยื่อไม้ลงกลอน ได้ไขกุญแจ ได้เปิดบานประตู และได้ปลุกให้ร่างนั้นมีชีวิต 

.

เหตุผลของการซื้อหนังสือสักเล่ม (หรืออาจมากกว่านั้น) มาอ่าน จึงเป็นเพราะชีวิตในสถานที่จองจำกำลังรอให้มีคนเดินทางพเนจรเข้าไปยังบูทนั้น เร่ออกมาจากบูทนี้ และกำลังรอให้นักเดินทางคนนั้นมาไขกุญแจพันธนาการที่กั้นไว้จากอิสระ กุญแจดอกนี้อยู่ในมือนักอ่านทุกคนอยู่แล้ว เพียงแค่เปิดหน้าหนังสือ ใช้ดวงตาจับจ้องตัวอักษร แล้วเริ่มกวาดสายตาอ่านเท่านั้น 

.

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนหวังว่าเหตุผลที่ได้บรรยายไปข้างต้นนั้นอาจพอมีส่วนช่วยให้หนังสือบางเล่มได้รับเลือกและพากลับบ้านไม่มากก็น้อย ให้ชีวิตในหนังสือได้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนบนหน้ากระดาษและออกไปมีชีวิตโลดแล่นในมโนทัศน์ของผู้อ่าน และหากเหตุผลเหล่านี้เพียงพอจริง ๆ ผู้เขียนก็หวังว่าในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 ที่เริ่มขึ้นแล้วระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน พ.ศ. 2567 และงานหนังสือครั้งต่อ ๆ ไป ผู้เขียนจะมีโอกาสได้เดินสวนกับผู้อ่าน (แม้จะไม่รู้ตัวก็ตาม) ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมปลดปล่อยชีวิตนับร้อยจากจำจอง

หวังว่าจะได้พบกัน

เนื้อหา : พิมพ์อักษร 

พิสูจน์อักษร : นิชนันท์ ภาษยะวรรณ์ และ พศิน อาบสุวรรณ์

ภาพ : รุจิเรขา 

อ้างอิง

ฐานเศรษฐกิจ, ปักหมุดงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2567 วันที่ 28 มี.ค.-8 เม.ย.ศูนย์สิริกิติ์ [ออนไลน์], 14 มีนาคม 2567. แหล่งที่มา  https://www.thansettakij.com/.../travel-shopping/590886...