ดองมานาน หวานปนเปรี้ยว : ประโยชน์ของหนังสือที่คุณยังไม่อ่าน
.
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ผมได้กลิ่นกระดาษล่องอยู่ในอากาศ นั่นคือกลิ่นคลุ้งของกระดาษธนบัตรสีเข้มบ้างอ่อนบ้างลอยฉิวจากไป ปะปนกับกลิ่นฟุ้งของกระดาษหนังสือเล่มใหม่ลอยลิ่วเข้ามา สินค้าลด แลก แจก แถม ล้วนรัญจวนใจเสือป่าเหลือเกิน จึงไม่แปลกที่สิงห์นักอ่านทั่วฟ้าเมืองไทยจะทุ่มทุนซื้อหนังสือคราวเดียวหลายเล่ม หรือบางท่านอาจหลายสิบเล่มตามแต่กำลังทรัพย์และกำลังศรัทธา ตัวผมเองอาจไม่ได้จับจ่ายถึงระดับทุบหม้อข้าวหม้อแกง ละลายเบี้ยใต้ถุนร้าน แต่ก็เผลอใจควักอยู่หลายตังค์ ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ ‘กองดอง’ จึงถือฤกษ์ตัดสายสะดือ กระจายตัวไปตามบ้านเรือนทั่วฟ้าเมืองไทย สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน ‘กองดอง’ คือ ‘กอง’ หนังสือที่ถูก ‘ดอง’ ไว้ไม่ได้เปิดอ่านนั่นเอง ผมเชื่อว่าทุกท่านครอบครองกองดองเป็นของตนอยู่แล้ว หากไม่เป็นกองดองขนาดน่ารักน่าเอ็นดู ก็อาจเป็นกองดองขนาดเท่าเขาพระสุเมรุที่เจ้าของอย่างเรา ๆ ตั้งไว้เพียงเทิดทูนบูชา ไม่ได้พลิกอ่านแต่อย่างใด
.
ผมขออนุญาตสารภาพ ณ ที่นี้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ผมค้นคว้าเรื่องนี้ก็เพื่อปลอบประโลมความรู้สึกผิดต่อกองดองของตน เพราะเมื่อเราพูดถึงกองดอง บรรยากาศของบทสนทนามักส่งกลิ่น ‘ตลกร้าย’ อยู่อบอวล คำว่า ‘ร้าย’ มาจากความรู้สึกผิดที่ไม่ได้อ่าน ผนวกกับบรรดาข้อเสีย เช่น “พวกกองดองนี่เปลืองเงินโดยใช่เหตุชัด ๆ” “ฝุ่นเกาะจนเชื้อราจะกินปอดอยู่แล้ว” หรือ “รกบ้านมาก ซื้อมาทำอะไรเยอะแยะ” มากหมอก็มากความไป ส่วนคำว่า ‘ตลก’ มาจากเหตุผลว่าผู้ที่กำลังพรรณนาถึงข้อเสียร้อยแปดอยู่นั้นไม่ได้มีทีท่าจะเลิกซื้อหนังสือแต่อย่างใด ผมจึงต้องการเสนอ ณ ที่นี้ว่ากองดองก็มีประโยชน์อยู่เช่นกัน และเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว บางทีท่านอาจรู้สึกมีขวัญกำลังใจจนสามารถทลายกองดองของท่านเองก็เป็นได้
.
ประการแรก กองดองคือหอกใกล้มือ
.
Nassim Nicholas Taleb นักเขียนและนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวถึงกองดองในฐานะ ‘Antilibrary’ โดยยกตัวอย่างนักเขียนชาวอิตาเลียน Umberto Eco ผู้สะสมหนังสือในฐานะเครื่องมือในการค้นคว้าและอ้างอิง กล่าวคือ หนังสือบนชั้นไม่ได้เป็นหลักฐานแสดงความรู้ที่มี แต่เป็นความรู้ที่อยู่ในเอื้อมมือ เมื่อผมนั่งพินิจพิเคราะห์ก็จริงอย่างเขาว่า ผมซื้อเพียงหนังสือที่เกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจเท่านั้น หากเป็นหัวข้ออื่นผมคงหันหลังใส่ ไม่ดูดำดูดี กองดองของผมจึงล้วนเป็นดั่งหอกใกล้มือ นอนเขลงรอให้ผมหยิบจับอยู่ ไม่ต้องลำบากค้นคว้าที่ไหนไกล นอกจากนี้ กองดอง หรือ ‘Antilibrary’ นี้ยังเป็นยาต้านโรคอวดรู้อีกด้วย พูดเป็นศัพท์เก๋ ๆ คือ Dunning-Kruger Effect ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เมื่อผู้คนเผลอเชื่อว่าตนเองเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งหลังจากศึกษาเรื่องนั้น ๆ ได้เพียงไม่นาน หรือเผลอเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนนั่นเอง การห่อหุ้มตัวด้วยความรู้ที่เรา (ยัง) ไม่รู้จึงเป็นวิธีป้องกันปรากฏการณ์ดังกล่าววิธีหนึ่ง เพราะเมื่อเราตระหนักว่ามีความรู้ที่ตนไม่รู้วางอยู่ตรงหน้า คงไม่กล้าไปอวดเบ่งอวดฉลาดกับใครเขานั่นเอง
.
ประการที่สอง เราล้อมไว้หมดแล้ว!
.
Joanna Sikora และทีมวิจัยจาก Australian National University พบว่าลูกเด็กเล็กแดง รวมถึงวัยรุ่นที่เติบโตในบ้านที่สะสมหนังสือมีแนวโน้มที่จะเบ่งบานเป็นผู้ใหญ่ที่เฉลียวฉลาด ข้อสรุปดังกล่าวเกิดจากการรวบรวมข้อมูลของผู้ใหญ่ 160,000 คน จาก 31 ประเทศทั่วโลก โดยการตอบแบบสอบถามว่าพวกเขามีหนังสือในบ้านกี่เล่มเมื่อตอนอายุ 16 ปี ผลวิจัยพบว่าจำนวนหนังสือในบ้านแปรผันตรงกับความเฉลียวฉลาดในทุกพื้นที่ที่สำรวจ ผมคิดว่า หนังสือคงไม่ได้ซึมเข้าสู่ผิวได้เองเหมือนรากพืชดูดน้ำแต่อย่างใด แต่จำนวนหนังสือนั้นมีส่วนช่วยกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็น เมื่อเราเดินผ่านเล่มนั้นเล่มนี้ทุกวันจึงเกิดความสงสัย เมื่อสงสัยจึงเปิดอ่าน เมื่อเปิดอ่านจึงรู้นั่นเอง ผมเองโตมาในบ้านที่มีหนังสือมากพอควร แต่ก็ไม่เคยริปองว่าตนเองฉลาดหรือไม่อย่างจริงจัง สงสัยกองดองจะต้านโรคอวดรู้ได้ชะงัดดังกล่าวในย่อหน้าที่ผ่านมา
.
ประการที่สาม ฉันก็รักของฉัน
.
ในประการนี้ ผมขอกล่าวถึงกองดองในความหมายที่เป็นพฤติกรรมการซื้อหนังสือ ไม่ใช่เพียงในฐานะกองหนังสือเท่านั้น หลายท่านอาจฉงนสนเท่ห์ว่ากองดองจะมีประโยชน์อื่นใดนอกจากเป็นคลังความรู้หรือไม่ แบบสำรวจหนึ่งในเดือนมกราคม 2018 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 82 จากทั้งสิ้น 355 คนเลือกซื้อหนังสือโดยมีนักเขียนที่โปรดปรานเป็นที่ตั้ง รองลงมาที่ร้อยละ 77 กล่าวว่าซื้อหนังสือตามคำแนะนำของเพื่อน กล่าวโดยง่ายคือ ‘โดนป้ายยา’ นั่นเอง ส่วนอันดับสามและสี่ มีสถิติที่ร้อยละ 48 และ 47 ตามลำดับ กล่าวว่าซื้อหนังสือเพราะโปรโมชันลดราคา และเพราะปกสวยงามน่าสะสม สังเกตได้ว่าหลายคนไม่ได้ซื้อหนังสือโดยตัดสินจากเนื้อหาเสมอไป ผมคิดว่าความสุขที่ได้สนับสนุนฟันเฟืองที่นิยมชมชอบ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน สำนักพิมพ์ หรือผู้ออกแบบงานศิลป์ ก็ล้วนเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วสำหรับการซื้อหนังสือสักเล่ม การสร้างกองดองจึงเป็นการเติมเต็มความสุขในด้านอื่น ๆ นอกจากการจ่ายเงินซื้อความรู้ ความสนุกในตัวเล่ม ท่านอาจมีความสุขที่ได้ซื้อสินค้าลดราคา คลายเครียดด้วยการสะสมปกหนังสืออันวิจิตร สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นประโยชน์ของกองดองเช่นกัน ยกตัวอย่างผมเองที่ซื้อหนังสือเล่มล่าสุดอย่าง A Tale for the Time Being ของ Ruth Ozeki ด้วยเหตุผลสำคัญคือสีสันฉูดฉาดบาดตา พกไปไหนมาไหนแล้วโก้เก๋อย่าบอกใคร ไม่แพ้เหตุผลหลักอย่างหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องสนุก น่าติดตาม (ผมกำลังป้ายยาอย่างในเหตุผลอันดับสองนั่นเอง)
.
ประการสุดท้าย อ่านจบได้จะตายตาหลับ
.
เหตุผลนี้ผมไม่ได้มีสถิติหรืองานวิจัยมารองรับ แต่มโนเอาเองว่าหลายท่านจะรู้สึกเช่นกัน เป้าหมายของเราคืออ่านกองดองจนหมด ซึ่งฟังดูเป็นการเกี่ยวแฝกมุงป่า เนื่องจากกองดองนั้นโตวันโตคืนไม่มีหยุดพัก ผมเคยได้ฟังเพื่อนคนหนึ่งพูดไว้ว่า “หนังสือทั้งโลกจนตายก็อ่านไม่หมด อย่างน้อยขอทลายกองดองก็แล้วกันคงตายตาหลับ” นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เพื่อนคนดังกล่าวอยู่ยงคงกระพันจนถึงปัจจุบัน เพราะหนังสือคือชีวิต หากสิ้นลมแบบอ่านไม่คุ้มคงเสียดายชีวิตไม่น้อย จึงต้องมีชีวิตต่อไปเพื่ออ่าน กองดองอาจมีไว้เพื่อการนี้ก็เป็นได้
.
ตราบใดที่พระอาทิตย์ก็ดี เทพเฮลิออสก็ดี ยังมีเรี่ยวแรงแข็งขัน ยังบังคับรถม้านำแสงเรื่อเรืองสาดกระทบธราเบื้องล่าง ตราบใดที่สัปดาห์หนังสือยังมีปีละสองหน ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เลิกอ่าน กองดองนั้นคงไม่สิ้นสูญ และคงคู่เผ่าพันธุ์เราต่อไป
เนื้อหา : พร้อมพัฒน์ ผลรักษา
พิสูจน์อักษร : วิสุทธิ์ ปัญญวรญาณ และ ชามา หาญสุขยงค์
ภาพ : อสมาภรณ์ โลหแสงเรือง
อ้างอิง
Anne-Laure LeCunff, Building an antilibrary: the power of unread books [ออนไลน์], 29 ตุลาคม 2563. แหล่งที่มา https://nesslabs.com/topic/tools/page/9
Big Think, The Japanese Call this practice tsundoku, and it may provide lasting benefits [ออนไลน์], 28 ธันวาคม 2565. แหล่งที่มา https://bigthink.com/neuropsych/do-i-own-too-many-books/ฺ
Brigit Katz, Growing Up Surrounded by Books Could Have Powerful, Lasting Effect on the Mind [ออนไลน์], 12 ตุลาคม 2561. แหล่งที่มา https://www.smithsonianmag.com/.../growing-surrounded.../
My location-independent career, HOW & WHY PEOPLE BUY BOOKS: THE RESULTS OF A 355-PERSON SURVEY [ออนไลน์], 11 มกราคม 2561. แหล่งที่มา https://gigigriffis.com/how-readers-buy-books-355-person.../