ท่วงทำนองของ ฟ.อีแลร์ สู่การไขว่คว้า ‘โคลนตม’ หรือ ‘ดวงดาว’

ท่วงทำนองของ ฟ.อีแลร์ สู่การไขว่คว้า ‘โคลนตม’ หรือ ‘ดวงดาว’  

.

“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย” หากผู้อ่านท่านใดเคยรับชมภาพยนตร์เรื่อง ฟ.อีแลร์ หรือเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ท่านคงเคยได้ยิน ได้อ่านคำกลอนนี้เป็นแน่แท้ คำกลอนนี้นอกจากจะมีความไพเราะเสนาะหูแล้ว ความหมายของมันยังลึกซึ้งกินใจอีกด้วย ลึกซึ้งถึงขนาดที่ช่วงเวลาวัยเด็กของผมนั้นอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจคำกลอนนี้ได้อย่างแตกฉาน จนวันหนึ่ง เมื่อหันกลับมามองและพินิจดูอีกครั้ง สัจธรรมในความจริงอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสวยหรูของคำประพันธ์ก็ปรากฏเด่นชัดออกมา

.

ผู้แต่งคำประพันธ์นี้คือ เจษฎาจารย์ ฟรองซัว ตูเวอแน อีแลร์ (François Touvenet Hilaire) หรือที่รู้จักกันในนาม บราเทอร์ ฟ.อีแลร์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1881 ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเข้าร่วมคณะนักบวชที่มีชื่อว่า คณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล เมื่อมีอายุเพียง 12 ปี โดยคณะนักบวชนี้เน้นประกอบศาสนกิจด้านการสอนหนังสือให้แก่เด็กชาย ในปี ค.ศ.1901 ฟ.อีแลร์ในวัย 20 ปีเดินทางมารับหน้าที่เป็นคุณครูของโรงเรียนอัสสัมชัญย่านบางรัก ในประเทศสยาม จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต สิริรวมอายุ 87 ปี ตลอด 67 ปีของชีวิต ฟ.อีแลร์อุทิศให้แก่งานด้านการศึกษาโดยมิได้จำกัดเพียงภายในโรงเรียนอัสสัมชัญเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสยามในภาพรวมด้วย เพราะท่านเป็นผู้แต่งตำราเรียนภาษาไทยที่ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยใช้ประกอบการศึกษา นั่นคือ ‘ดรุณศึกษา’ นอกจากนี้ท่านยังแต่งตำราและคำประพันธ์อื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ‘คนดีที่ประสงค์’ และ ‘กลอนพระอาทิตย์’ แต่คำประพันธ์ที่อยู่ในความทรงจำของผมตลอดมาคือคำประพันธ์ที่หยิบยกมาชวนขบคิดในวันนี้

.

“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย” คำประพันธ์นี้แปลมาจากคำประพันธ์ภาษาอังกฤษของ เฟรเดอริก ลองก์บริดจ์ (Frederick Longbridge) ที่ว่า “Two men look out through the same bars; One sees the mud, and one the stars” คนสองคนที่มองหาสิ่งหนึ่งด้วยช่องทางเดียวกัน แต่กลับมองเห็นเป็นไปคนละอย่าง ดูเป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมครับ แต่ความจริงแล้วคำสอนของกลอนบทนี้อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดมากโขเลยทีเดียว 

.

ผมขอยกตัวอย่างภาพยนตร์ ‘ราโชมอน’ (羅生門) ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นอันเลื่องชื่อของผู้กำกับ อากิระ คุโรซะวะ ที่โด่งดังและสร้างอิทธิพลแก่วงการภาพยนตร์ทั้งตะวันออกและตะวันตก รวมถึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘Rashomon Effect’ อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงเรื่องเหตุการณ์ฆาตกรรมของซามูไรคนหนึ่งระหว่างเดินทางกลางป่าไปกับภรรยา ผู้ต้องสงสัยคือโจรภูเขา เมื่อถึงวันสอบสวน ผู้พิพากษาได้เรียกตัวโจรภูเขา ภรรยา และวิญญาณของซามูไรผ่านร่างทรง แม้เหตุการณ์ฆาตกรรมนั้นจะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน เกิดในสถานที่และเวลาเดียวกัน แต่คำให้การของทั้งสามคนนั้นกลับต่างออกไปราวฟ้ากับเหว เพราะฆาตกรในคำให้การของทั้งสามคนนั้นไม่เหมือนกันเลย ในตอนท้ายเรื่อง ผู้กำกับทิ้งบทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้กับความว่างเปล่าที่ไร้คำตอบ เพราะสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อนั้นมีสารเดียวกันกับคำประพันธ์ของเจษฎาจารย์ ฟ.อีแลร์ข้างต้นนั่นเอง 

.

สาเหตุของการมองสิ่งเดียวกันแต่กลับเห็นสิ่งที่แตกต่างกัน เราอาจสามารถทำความเข้าใจได้ผ่านลักษณะของผู้คนในการรับรู้โลก การรับรู้โลกของคนเรานั้นมีสองแบบด้วยกัน ได้แก่ การรับรู้เชิงภววิสัย และการรับรู้เชิงอัตวิสัย 

.

‘การรับรู้เชิงภววิสัย’ (objective) คือ การรับรู้ความเป็นจริงซึ่งเป็นอิสระจากการตัดสิน กล่าวคือ เรามองสิ่งหนึ่งหรือรับรู้สิ่งหนึ่งโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อยากจะขอยกศัพท์ทางพุทธมาอธิบายเสริมเพิ่มเติม การคิดแบบภววิสัยคือการรับรู้ความจริงแบบไร้ซึ่งอคติและกิเลส มีสมาธิ โดยความจริงแท้นั้นเราเรียกว่า ‘ปรมัตถสัจจะ’ และความจริงที่เราสมมุติขึ้นมานั้นเรียกว่า ‘สมมติสัจจะ’ ยกตัวอย่างเช่น ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองมองไปที่สิ่งมีชีวิต เช่น แมว หรือ คนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดตอนนี้ว่าท่านเห็นอะไร แน่นอน หลายคนคงตอบว่า แมวส้ม แมวเขียว แมวเป้า ป้า ลุง พ่อ แฟน หรือคนรักเก่า สิ่งเหล่านี้คือ สมมติสัจจะ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นล้วนคือ ขันธุ์ 5 (องค์ประกอบของชีวิต 5 ประการ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ด้วยกันทั้งสิ้น  

.

‘การรับรู้เชิงอัตวิสัย’ (subjective) คือ การรับรู้ความจริงที่เกิดจากความเข้าใจ การตีความ การให้คุณค่า ความรู้สึก ของตัวเรา เหมือนกับสมมติสัจจะที่กล่าวไปเมื่อครู่ สิ่งสำคัญที่กำหนดการรับรู้รูปแบบนี้คืออัตตาหรือตัวตนของคนเราที่แตกต่างกัน การรับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบอัตวิสัยที่ต้องผ่านความรู้สึกนึกคิดและการให้คุณค่าตีความของคนเรานั้น ทำให้ผลลัพธ์ของการรับรู้ที่ได้แตกต่างกันไป ดังนั้น แม้คนเราจะมองสิ่งเดียวกัน แต่ก็ยังมีมุมมองและความถี่ในการมองที่แตกต่างกัน หรือแม้จะมองผ่านมุมมองช่องทางเดียวกัน ต่างคนก็ต่างไม่ได้มองบ่อยเท่ากัน (เหมือนกับตอนที่เราอ่านหนังสือเล่มเดิมสองครั้งแต่รู้สึกไม่เหมือนเดิม) แม้จะมองผ่านมุมมองเดียวกันและบ่อยเหมือนกัน แต่คนเราก็ยังมีความรู้สึกและการให้ค่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคนอยู่ดี ดังนั้น เราจึงไม่ควรยึดติดในความรู้หรือชุดความจริงเชิงอัตวิสัยของใคร แต่ควรมองให้รอบด้าน หลากมุม หลายครั้ง และพินิจพิจารณาให้ดีว่า สิ่งใดที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด เหตุการณ์หนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งวิกฤติและโอกาสสำหรับใครบางคน บางคนอาจเห็นเป็นวิกฤติและเลือกที่จะวิ่งหนีออกห่างไป บางคนอาจเห็นเป็นโอกาสจานโตที่เขาพร้อมจะลิ้มรสทดลองและสนุกไปกับมัน 

“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย” เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วและได้อ่านบทกลอนอีกครั้ง ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านคงเข้าใจในบทกลอนนี้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย การมองความจริงผ่านช่องเดียวกันแต่กลับมองเห็นได้เป็นทั้งโคลนตมและดวงดาวนั้นไม่มีผิดไม่มีถูก มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่จะตัดสินว่าสิ่งใดเหมาะสมกับเราที่สุด และจงเลือกสรรสิ่งนั้น หากตัวเราเป็นหอยแครงรสอร่อยชั้นดีที่ต้องการสารอาหารที่เปี่ยมล้นอยู่ในดิน โคลนตมอาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า แต่หากเราเป็นลูกนกน้อยตัวกระจ้อยร่อย ดวงดาวที่พราวพรายระยิบระยับบนท้องฟ้าอาจเป็นของขวัญที่ล้ำค่าหลังจากการฝึกหัดบินบนท้องฟ้าอันกว้างไกล ไม่จำเป็นว่าโคลนตมต้องแย่เสมอไป ไม่จำเป็นว่าดวงดาวต้องดีเสมอไป ขอจงมองให้เห็นในสิ่งที่เหมาะกับความเป็นเราที่สุด เพราะสิ่งนั้นย่อมดีที่สุด และเราจะได้ไม่เสียใจเมื่อหันหลังกลับมามองมัน 

อ้างอิง 

กรณิศ รัตนามหัทธนะ, ฟัง ส.ศิวรักษ์ ศิษย์โปรด ฟ.ฮีแลร์ เล่าเรื่องครูฝรั่งไม่รู้ภาษาไทยผู้แต่งแบบเรียนภาษาไทย ดรุณศึกษา [ออนไลน์], 4 กันยายน 2019. แหล่งที่มา https://readthecloud.co/f-hilaire/

ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์, ราโชมอน: เมื่อทุกคนมีชุดความจริงเป็นของตัวเอง [ออนไลน์], 22 ตุลาคม 2020. แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/.../movie/article/rashomon-movie

วินทร์ เลียววาริณ, ประวัติ (ฟ.ฮีแลร์) ร.ร.อัสสัมชัญ [ออนไลน์], 18 พฤษภาคม 2020. แหล่งที่มา https://newmana.com/phpbb/viewtopic.php?t=20577


เนื้อหา : ติวต้น แผ่ธนกิจ 

พิสูจน์อักษร : สรัลชนา หันหาบุญ และ พรรวษา เจริญวงศ์

ภาพ : ปาณิ