‘ปริญญา’ กับคุณค่าแห่งการเปลี่ยนผ่าน
6 ตุลาคม พุทธศักราช 2566 - ในช่วงสองสามวันนี้ ผู้คนมากหน้าหลายตาได้มารวมตัวกันโดยตั้งใจนัดหมาย กลิ่นหอมชวนชื่นมื่นในดวงจิต เสียงหัวเราะเคล้ารอยยิ้มอันเบิกบาน อันเปี่ยมล้นด้วยความรู้สึกปรีดาอย่างหาที่สุดไม่ได้ สิ่งมากมายเกิดขึ้นระคนกันไปท่ามกลางแสงแดดที่เจิดจรัสแจ่มจ้าของห้วงฤดูฝน ในวันพระราชทานปริญญาบัตรหรือวันรับ ‘ปริญญา’
.
วันนี้คงเป็นวันที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของเหล่าบัณฑิตมากมายนับไม่ถ้วน เพราะการเดินทางในรั้วจามจุรีแห่งนี้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หลังผ่านเวลามายาวนานเกือบครึ่งทศวรรษ และแน่นอนว่ามีทั้งคนที่ได้เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยเหตุผลต่างกรรมต่างวาระ จนเป็นประเด็นถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนอยากจะชวนให้ผู้อ่านและบัณฑิตทุกท่านมอง ‘ปริญญา’ หรือ ‘พิธีจบการศึกษา’ ในมุมมองของพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์กับสิ่งนี้มาไม่มากก็น้อย
.
‘พิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่าน’ หรือ ‘Rite of Passage’ เป็นคำที่ อาร์โนลด์ วาน เฌนเนป (Arnold van Gennep) นักคติชนชาวฝรั่งเศส ใช้อธิบายพิธีแห่งการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปสู่สภาวะหนึ่ง แสดงการเปลี่ยนแปลงและข้ามผ่านไปสู่สิ่งใหม่ โลกใหม่ ตำแหน่งใหม่ หรือสถานะใหม่ ตัวอย่างของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านที่ผู้อ่านทุกท่านอาจคุ้นเคย เช่น พิธีแต่งงาน พิธีศีลจุ่มในศาสนาคริสต์ พิธีโกนจุก หรือกระทั่งพิธีศพ และถึงแม้จะมีคำว่า “พิธี” ติดอยู่ แต่พิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านนั้นสามารถดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านมีแบบแผนปฏิบัติที่สำคัญคือ การแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแบ่งแยก (Separation or Pre-Liminal Stage) ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition or Liminal Stage) และช่วงกลับรวมใหม่ (Incorporation or Post-Liminal Stage)
.
เพื่อให้ทุกท่านมีความเข้าใจและเห็นภาพขั้นตอนของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านมากขึ้น ในที่นี้อยากจะขอยกตัวอย่างพิธีแต่งงานดั้งเดิมตามคติชินโตของประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘ชินเซ็นชิกิ’ (神前式) ในขั้นตอนแรก นักบวชจะเริ่มสวดมนต์อ้อนวอนเทพเจ้าทั้งหลายเพื่อชำระร่างกายจิตใจของคู่บ่าวสาวให้บริสุทธิ์ ขั้นตอนนี้นับเป็น ‘ช่วงแบ่งแยก’ ซึ่งจะมีการแยกตัวผู้ทำพิธีออกจากสังคมมาเพื่อที่จะชำระล้างและหลีกเลี่ยงมลทิน
.
ในขั้นตอนที่สอง เจ้าบ่าวจะกล่าวคำสาบานต่อเจ้าสาวและทำพิธี ‘ซังซังคุโดะ’ (三々九度) ที่ทั้งสองจะต้องจิบสาเก 3 ครั้ง ไล่ไปทั้งสามถ้วยตั้งแต่ถ้วยเล็ก กลาง และใหญ่ ในขั้นนี้ถือเป็น ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ของพิธีแต่งงาน ซึ่งทั้งสองจะเปลี่ยนจากสถานะคนรู้จักหรือคนรักมาเป็นคู่ชีวิตหรือสามีภรรยา ในปัจจุบัน เราอาจนึกเปรียบได้กับการแลกแหวนแต่งงานกันตามแบบตะวันตกนั่นเอง
.
หลังเสร็จพิธีที่ศาลเจ้าแล้ว ในขั้นตอนสุดท้าย เจ้าสาวจะต้องเปลี่ยนชุดเป็นชุด ‘โออิโระอุจิกาเกะ’ (お色打ち掛け) เพื่อต้อนรับและพบปะแขกที่มาร่วมงานพร้อมเจ้าบ่าว อันเป็นสัญญะที่แสดงว่าเจ้าสาวเรียนรู้และทำตามประเพณีปฏิบัติของครอบครัวเจ้าบ่าวได้ ซึ่งจะตรงกับ ‘ช่วงกลับรวมใหม่’ ของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน โดยหลังจากเปลี่ยนสถานะแล้วจะต้องกลับไปรวมตัวใหม่กับสังคม ผู้คน (ซึ่งในบางพิธีมักจะมีการเฉลิมฉลองหรือการสังสรรค์ประกอบด้วย) และก้าวสู่สถานภาพใหม่ต่อไป
.
หลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อาจเกิดความสงสัยในความจำเป็นและความสำคัญของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านว่ามีมากน้อยแค่ไหน ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเราขนาดนั้นจริงหรือไม่ ก่อนที่เราจะไปมองดูพิธีจบการศึกษา การรับปริญญาที่คุ้นเคยกัน ขอพาทุกท่านไปกันที่เมืองไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกากันก่อน โดย Muhia Karianjahi (2015) ได้ทำวิจัยเพื่อศึกษาพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านของกิจกรรม ROPES (Rites of Passage Experiences) ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเด็กที่กำลังจะก้าวสู่ช่วงชีวิตวัยรุ่น โดยพิธีกรรมนี้ไม่ได้ผูกกับความเชื่อทางศาสนาแต่อย่างใด
.
พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่โบสถ์หลายแห่งในเคนยา (ในที่นี้ โบสถ์มีหน้าที่เพียงเป็นศูนย์รวมของชุมชนเท่านั้น มิได้มีอิทธิพลทางศาสนาแต่อย่างใด) และพบว่าแม้จะเป็นช่วงชีวิตวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมไม่ดี แต่เด็กที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกลับก้าวเข้าสู่ช่วงต่อไปของชีวิตโดยมีอัตลักษณ์ทางจิตวิญญาณที่ชัดเจน และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้อื่นมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำกิจกรรมเชิงบวก หรือบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ชุมชนของตนมากขึ้นด้วย กล่าวคือ คุณค่าแห่งการเปลี่ยนผ่านจากพิธีนี้นั้นได้ช่วยให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนผ่านที่มาถึงและตอกย้ำสิ่งสำคัญจำเป็นที่ควรยึดถือปฏิบัติ เพราะนอกจากที่แต่ละคนต่างมีหน้าที่และบทบาทของตัวเองตามวัยที่เปลี่ยนไป ทุกคนยังมีหน้าที่ต้องช่วยกันประคับประคองสังคม ชุมชน ผู้คนรอบข้าง ให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างสงบสุขด้วยเช่นกัน
.
หากกลับมาย้อนมอง ‘ปริญญา’ หรือ ‘พิธีจบการศึกษา’ ของเรานั้น ช่วงเวลาหลังจากที่นิสิตนักศึกษาหมดสิ้นภาระทางการศึกษา ไม่ต้องเข้าเรียน เข้าสอบ หรือทำการบ้านอีกต่อไป อาจเปรียบได้กับ ‘ช่วงแบ่งแยก’ ที่ผู้คนเหล่านั้นจะต้องแยกออกจากสังคมที่มหาวิทยาลัย และไม่ได้เข้าเรียนพร้อมพบปะสังคมแบบเดิมอย่างที่เคยเป็น อีกทั้งในช่วงเวลาที่เว้นว่างนี้ เราอาจมองได้ว่า การได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ได้ไปท่องเที่ยวยาว ๆ ได้ไปสังสรรค์ตามใจอยากโดยที่ไม่ต้องกังวลถึงภาระทางการศึกษา เป็นเสมือนการได้ชำระล้างมลทิน ชำระล้างพันธะ ความรู้สึก และสิ่งต่าง ๆ ที่ติดค้างจากสังคมเก่าไปจนหมดสิ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ อันเทียบได้กับ ‘พิธีจบการศึกษา’ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากการเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา มาเป็นบัณฑิต คนทำงาน ผู้ใหญ่ อย่างเป็นทางการ และหลังจากนั้นเองก็เข้าสู่ ‘ช่วงกลับรวมใหม่’ ที่เหล่าบัณฑิตทุกคนจะต้องกลับเข้าสู่สังคมโลกด้วยหน้าที่และบทบาทที่ต่างออกไป จากสังคมมหาวิทยาลัยสู่สังคมที่ทำงาน จากหน้าที่การศึกษาเป็นหน้าที่การหาเลี้ยงชีพ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ‘ปริญญา’ นั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กที่ยังไม่มีภาระอันใดที่จะต้องรับผิดชอบ สู่วัยผู้ใหญ่ที่จะต้องดูแลตัวเองและอาจรวมถึงครอบครัวอย่างเต็มที่
.
ชีวิตหลัง ‘ปริญญา’ นั้นมีเรื่องให้คิดคำนึงเพิ่มขึ้น มีหน้าที่การงานที่ต้องทำมากขึ้น มีภาระให้รับผิดชอบมากขึ้น ช่วงชีวิตของคนก่อนและหลังการรับปริญญาจึงแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง ดังนั้น ‘คุณค่าแห่งการเปลี่ยนผ่าน’ ของ ‘ปริญญา’ หรือ ‘พิธีจบการศึกษา’ คือตัวช่วยให้เราตระหนักรับรู้หมุดหมายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวย่างเข้าสู่ช่วงสำคัญลำดับถัดไปของชีวิต
.
ขอแสดงความยินดีกับการจบการศึกษาของบัณฑิตทุกท่านมา ณ ที่นี้
.
เนื้อหา : ติวต้น แผ่ธนกิจ
พิสูจน์อักษร : จิรพงศ์ เนินสลุง และ พสุภัทร วรศรัณย์
ภาพ : แทนฤทัย โอทอง
.
อ้างอิง
ชมนาด ศีติสาร, คติชนวิทยาญี่ปุ่น (กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), หน้า 136-140.
ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์, เราจะได้เจออะไรบ้างในพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น [นิตยสารออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.daco-thai.com/japanese-traditional-wedding/
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, Rite of Passage [คลังคำศัพท์ทางมานุษยวิทยาออนไลน์], แหล่งที่มา https://anthropology-concepts.sac.or.th/glossary/130
Muhia Karianjahi, Church as Village: Rites of Passage and Positive Youth Development [วารสารออนไลน์], 2015. แหล่งที่มา https://research.ebsco.com/c/3q5j6g/viewer/pdf/6h53ew67mf
稲垣幸子, 神前式の基礎知識&流れを知っておこう [บทความออนไลน์], แหล่งที่มา https://zexy.net/mar/manual/kiso_style/chapter2.html