ลำนำรักเสียงสตรีแห่งไอบีเรีย : เมื่อกวีชายจำแลงกายเป็นหญิง

ลำนำรักเสียงสตรีแห่งไอบีเรีย : เมื่อกวีชายจำแลงกายเป็นหญิง

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 คาบสมุทรไอบีเรียถูกรุกรานโดยชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่งผลให้อาณาจักรของชาววิซิกอทที่นับถือศาสนาคริสต์ถึงคราวล่มสลาย ชาวอาหรับได้ปกครองคาบสมุทรไอบีเรียเกือบทั้งหมด ยกเว้นส่วนเหนือที่เกิดการรวบรวมกำลังพลชาวคริสต์และสามารถพิชิตคาบสมุทรคืนจากมุสลิมในเวลาต่อมา ในอาณาจักรที่มีการทำสงครามแย่งชิงดินแดนกัน ผู้ชายจำเป็นต้องเดินทางออกไปสู้รบ ส่วนผู้หญิงที่อยู่กับบ้านกับเรือนก็ทำได้เพียงนึกถึงคนรักของตนที่จากไปแสนไกลท่ามกลางความขัดแย้งและความเดียวดาย แว่วเสียงพวกเธอรำพึงรำพันว่า

 .

“My beloved left at dawn and I did not say

farewell to him.

Oh, lonely heart of mine at night when I

remember!”

 .

เสียงรำพึงรำพันนี้พบในบทกวีประเภทลำนำ (Lyric poetry) ที่ถือกำเนิดขึ้นในคาบสมุทรไอบีเรีย ทั้งในดินแดนมุสลิมและดินแดนคริสต์ โดยเสียงที่เรากำลังสดับอยู่นี้ก็เป็นเสียงที่แผ่วเบามาตั้งแต่สมัยของแซฟโฟ (Sappho) เสียงนั้นคือเสียงแห่งสตรี ทว่าผู้ถ่ายทอดเสียงของผู้หญิงในยุคสมัยนั้นกลับไม่ใช่นางผู้อยู่เรือน แต่กลับเป็นชายผู้นิราศ! เพื่อที่จะถ่ายทอดลำนำอันเปี่ยมล้นไปด้วยเสน่หาอาวรณ์ กวีชายจึงได้จำแลงกายเป็นหญิง

.

ผู้ที่จะจำแลงกายให้เราดูในวันนี้มีอยู่ 2 คน

.

กวีชายคนแรกอาศัยอยู่ที่ดินแดนตอนใต้ของสเปน ซึ่งปกครองโดยชาวมุสลิม เขาได้จากคนรักร่วมสองเดือนแล้ว คืนหนึ่ง เขารู้สึกคิดถึงหญิงอันเป็นที่รัก จึงได้เขียนบทกวีขึ้นมาเป็นภาษาโมซาราบิก (Mozarabic) ซึ่งเป็นภาษาโรมานซ์โบราณภาษาหนึ่งในไอบีเรีย และในขณะนี้ ณ บริเวณหน้ามัสยิด กวีชายนำบทกวีชิ้นนั้นมาขับลำนำ หรือที่ชาวอาหรับเรียกว่า คาร์ชา

.

คาร์ชา (Kharja) แปลว่า ‘สุดท้าย’ ในภาษาอาหรับ เป็นบทส่งท้ายของลำนำที่ยาวกว่าซึ่งมีชื่อว่า มูวาชชาฮ์ (Muwashshah) คาร์ชาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการรำพึงรำพันของหญิงต่อชายผู้เป็นที่รัก โดยกวีชายมักจะจินตนาการถึงนางผู้อยู่กับเหย้าว่ากำลังเป็นทุกข์ หรือเป็นไข้ใจจากการที่คนรักของตนจากเรือนไป ดังที่เห็นในกลอนบทแรกของบทความ รวมถึงบทนี้เช่นกัน

.

“My heart is leaving me,

Oh Lord, will it return to me?

How great my grief for my beloved,

It is sick, when will it get well?”

.

บทนี้มีการเล่นคำว่า ‘หัวใจ’ ซึ่งอาจจะหมายถึงจิตใจของผู้หญิงที่ทรมานจนเหมือนจะออกร่างของตนและไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลับมาดีดังเดิม หรืออาจหมายถึงการที่ชายอันเป็นที่รักเสมือน ‘ดวงใจ’ ของตนจากไป โดยไม่รู้ว่าเมื่อใดจะหวนกลับมา

.

แม้ว่าสิ่งที่กวีชายเขียนเกี่ยวกับผู้หญิงในคาร์ชานั้นจะมาจากจินตนาการ แต่เนื้อหาในบางบทก็ยังสามารถสะท้อนแง่มุมที่เป็นความจริงเกี่ยวกับผู้หญิงบางคนได้ และหนึ่งในความจริงที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับใครหลายคนในปัจจุบันคือการระบายทุกข์กับแม่ของตน 

.

“Oh, Mama, my beloved

Is going and will not return again.

Tell me what shall I do, Mama.

Won’t he leave me a little kiss?”

.

แต่เมื่อมีจากก็ต้องมีพบ…ในบทที่ชายและหญิงกลับมาพบกันอีกครั้ง กลอนที่กวีรจนาจะเผยให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ฝ่ายหญิงปลดปล่อยออกมาหลังจากเก็บงำไว้นาน 

.

From so much love, so much love,

My darling, from so much love!

My healthy eyes became ill;

they now ache badly.

.

และบางครั้งการปลดปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นก็อาจเกิดขึ้นในยามราตรี

.

You, the blonde one, that’s enough

burning [me with passion]. you abuser, my tormenter

In spite of the guardian

Be my prince tonight!

.

เมื่อคู่รักกลับมาพบกันแล้ว เสียงขับลำนำเงียบลง เสียงปรบมือดังขึ้น ตอนนี้คงถึงเวลาที่เราจะต้องจากดินแดนมุสลิมทางตอนใต้และเดินทางขึ้นไปยังแคว้นคริสต์ทางเหนือ เพื่อไปพบกับกวีอีกหนึ่งคน ณ ทาเวิร์นแห่งหนึ่ง เขาจากคนรักมาได้หนึ่งปี เช่นเดียวกับกวีคนแรก และได้เขียนบทกวีขึ้นมาเพื่อรำลึกวันครบรอบการจากลาคนรักมาหนึ่งปีเต็ม เขาเริ่มขับลำนำที่เรียกว่ากันติกา ดือ อะมิกู หลังจากกระดกเหล้าในแก้ว

.

กันติกา ดือ อะมิกู (Cantiga de amigo) เป็นคำภาษาโปรตุเกส-กาลิเซียโบราณ ซึ่งแปลว่า ‘กันติกาแห่งชายผู้เป็นที่รัก’ คำว่า ‘กันติกา’ เป็นคำใช้เรียกลำนำชนิดหนึ่งที่แต่งเป็นภาษาโปรตุเกส-กาลิเซียโบราณ ส่วนคำว่า ‘ดือ’ แปลว่า ของ แห่ง หรือ เกี่ยวกับ และคำว่า ‘อะมิกู’ สามารถแปลได้ว่าเพื่อนผู้ชาย แต่ในบริบทนี้ ควรจะแปลว่า คนรักที่เป็นผู้ชายมากกว่า

เช่นเดียวกับคาร์ชา กันติกา ดือ อะมิกู เป็นลำนำเสียงผู้หญิงที่แต่งโดยผู้ชาย อย่างไรก็ตาม นักวิชาการยังไม่สามารถสรุปที่มาของธรรมเนียมเช่นนี้ในกันติกาได้ บางคนเห็นว่าอาจมีจุดกำเนิดร่วมกับคาร์ชา เนื่องจากแต่งเป็นภาษาโรมานซ์เหมือนกัน หรืออาจมาจากเพลงพื้นถิ่นจากตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่เรียกว่าทรูบาดูร์ (Troubadour) แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า กันติกาและคาร์ชามีธีมที่คล้ายกัน นั่นคือ การรำพึงรำพันถึงผู้ชายที่จากตนไปด้วยความทุกข์ การเล่าความทุกข์ใจเรื่องความรักให้แม่ของตนฟัง รวมถึงการ ‘เมาท์’ เรื่องผู้ชายให้เพื่อนตนฟังด้วย

.

My boyfriend is complaining about me,

Friend, since I don‘t do him any favors,

And he says he‘s lost his mind for me

And that I can help him get it back,

And I don‘t know if he‘s telling the truth

But I won‘t do myself harm for his sake.

.

แต่ในโลกสองใบที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันนี้ กวีกันติกากลับเห็นบางอย่างที่กวีคาร์ชาไม่เห็นหรือละเลยไป ในแง่มุมนี้เอง กันติกามี 2 ธีมที่โดนเด่นและเป็นเอกลักษณ์

.

ธีมแรกคือ การพูดถึงอำนาจของผู้หญิงในความสัมพันธ์

I‘ll cause him great pain, the greatest you ever saw,

Since he paid no heed to me or to my love

And took great pleasure in getting angry;

And don‘t ask me, ‘cause I won‘t do it,

Until he comes to feel the wrath of a lady,

Since he got angry, I will not forgive him.

.

บทนี้ทำให้เห็นว่า แม้จะอยู่ในสังคมปิตาธิปไตย แต่กวีชายผู้แต่งบทนี้กลับมองเห็นและยอมรับการมีอยู่ของอำนาจของผู้หญิงในความสัมพันธ์ อีกทั้งกวีก็ยังรับรู้ว่าอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง ไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดเพียงแค่กับผู้ชาย และมุมมองเช่นนี้ก็ถือว่าพบในวรรณกรรมยุคกลางประเภทอื่น ๆ ได้น้อย

.

ธีมที่สองก็คือ ปัญหาภายในครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาระหว่างแม่กับลูก ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่บางครั้งในกันติกาก็กล่าวถึงปัญหาที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง  

.

You treat me badly, daughter, because I wish to have a boyfriend,

And because of your fears I don’t have him, nor is he with me.

You’ll not have my good will;

May God give you, my daughter,

A daughter who does the same to you,

A daughter who does the same to you!

.

ในบทนี้ ลูกสาวเป็นคนขัดขวางเรื่องความรักของแม่ตัวเอง (รวมถึงอาจเป็นคนแย่งคนรักของแม่มาเป็นของตนเองด้วย) จนทำให้แม่เป็นทุกข์ถึงขั้นที่ขอให้ลูกตนเองมีลูกสาวที่ทำพฤติกรรมแบบเดียวกัน แต่ปัญหาเช่นนี้คงพบได้ไม่บ่อยนัก ยกเว้นในเซเลอร์มูน

.

เสียงขับลำนำเริ่มออกรส เหล้าในปากกวีก็เริ่มออกฤทธิ์ ผ่านไปสักพักก็เริ่มร้องไม่รู้ประสา เราคงต้องบอกลากวีผู้เมาเหล้าและเมารักก่อนความวุ่นวายจะเกิดขึ้น…

.

ถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะได้เห็นการจำแลงกายของกวีชายทั้งสองมามากพอสมควร จึงขอสรุปปิดท้ายว่า แม้ว่าทั้งในคาร์ชาและกันติกา ดือ อะมิกู จะมีจินตนาการบางอย่างของกวีชายเกี่ยวกับผู้หญิงที่อาจดูเกินจริงไปบ้าง แต่พวกเขาก็พยายามสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผู้หญิงในบริบทสังคมสมัยนั้นแสดงออกมา จากนั้นจึงรังสรรค์เป็นบทกวีและขับลำนำด้วยเสียงสตรี…เสียงที่แทบสงัดในวรรณคดียุคกลาง

ใครที่สนใจอยากลองฟังคนร้อง กันติกา ดือ อะมิกู ลองกดฟังที่ลิงก์นี้ได้เลย https://www.youtube.com/watch?v=ZDRx-F1qHt0

เนื้อหา : กฤษาณภัค ผลอ่อน

พิสูจน์อักษร : ณิชาภัทร สมบูรณ์วรรณะ และ บูรณิมา มั่งคั่ง

ภาพ : พิชชาพร ถาวรประดิษฐ์

อ้างอิง

Esther Corral, “Feminine Voices in the Galician-Portuguese Cantigas de Amigo,” in Medieval Woman’s Song: Cross-Cultural Approaches, eds Anne L. Klinck and Ann Marie Rasmussen (University of Pennsylvania Press, 2002), pp. 81-98. แหล่งที่มา https://www.jstor.org/stable/j.ctt16nzfdf.9

Linda Fish Compton, Andalusian lyrical poetry and old Spanish love songs : the muwashshah and its kharja (New York : New York University Press, 1976), pp. 87-112. แหล่งที่มา https://archive.org/.../andalusianlyrica.../page/n5/mode/2up

Marina S. Brownlee, “Spain,” in Literary Beginnings in the European Middle Ages, eds. Mark Chinca and Christopher Young (Cambridge : Cambridge University Press, 2022), pp. 90-111. แหล่งที่มา

 https://doi-org.chula.idm.oclc.org/10.1017/9781108776912

Rip Cohen, The Cantigas d'amigo: An English Translation (Baltimore : Johns Hopkins University, 2010). แหล่งที่มา  https://jscholarship.library.jhu.edu/.../2c640cb5.../content