สมมติฐานจากห้องเรียนริมสุสาน : ความตายในฐานะสิ่งสร้างความเป็นมนุษย์
ย้อนอดีตกลับไปราวทศวรรษ 2010 ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมบนตึกสูงหลายชั้น ณ ที่นั่งริมหน้าต่าง ผู้เขียนนั่งอยู่บนม้านั่งยาวอายุราวหลายสิบปีที่ทำจากไม้สักสีน้ำตาลเข้ม สลับกับข้อความขีดเขียนสีขาวนวลชวนพิจารณา หันหน้าออกไปนอกหน้าต่าง สายตามองลงไปยังสุสานด้านล่าง สถานที่แห่งความสงบเงียบงันน่าหลงใหลยามกลางวัน แต่ก็กลับน่าหวาดสะพรึงน่าตกใจยามค่ำคืน
.
ในขณะที่สายตาเหม่อมองที่สุสาน ความคิดในสมองหมุนวนไปมาในหัวผู้เขียนที่กำลังครุ่นคิดเรื่องของความตาย โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเป็นคนกลัวความตายตั้งแต่ยังเล็ก และมักมีความคิดอยากมีชีวิตเป็นอมตะ นั่นคือ ไม่ต้องประสบพบกับความตายไปตลอดกาล แต่พอมองดูสุสานทีไร ความคิดเหล่านั้นก็มลายหายสูญไปเมื่อนั้น
.
“We were all born to die.”
—Shakespeare, Romeo and Juliet, Act II, Scene IV
.
“พวกเราล้วนเกิดมาเพื่อดับสูญ”
คำพูดของวิลเลียม เชกสเปียร์ กวีและนักเขียนบทละครชื่อดังชาวอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมความคิดที่จะเป็นอมตะของผู้เขียนนั้นว่าเป็นสิ่งเพ้อฝัน เพราะมนุษย์เรานั้นเกิดมาเพื่อตาย แต่ก่อนที่จะพาทุกท่านไปสำรวจสมมติฐานริมสุสาน ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวถึงนิยามของ ‘ความตาย’ เสียก่อน ความตายโดยทั่วไปหมายถึงสภาพร่างกายมนุษย์ที่ปอด หัวใจ และสมองหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ จากการสำรวจมุมมองของเด็กที่มีต่อนิยามของความตาย โดยนายทะเคะโนะอุชิ ฮิโระบุมิ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิซุโอกะ พบว่าความตายยังมีความหมายคล้ายกับการที่เราต้องจากกับเพื่อนที่ย้ายบ้านไปอยู่ ณ ดินแดนที่ห่างไกลสุดลูกหูลูกตา และไม่สามารถติดต่อกันได้อีก
.
ในหลายครั้งพวกเรามักมองความตายว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว และมิได้ตระหนักถึงความตายมากนัก สังเกตจากทุกครั้งที่จัดงานวันเกิด เราเลือกจะฉลองเลขอายุที่เพิ่มขึ้น และเลือกละเลยจำนวนเวลาชีวิตที่ลดลงไปทุกปี อย่างไรก็ตาม ความตายและการมีชีวิตอยู่ผูกสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันอย่างปฏิเสธเป็นอื่นใดมิได้ สองสิ่งนี้นิยามและให้ความหมายซึ่งกันและกัน หากไม่มีความตายย่อมไม่มีการดำรงอยู่ซึ่งชีวิต และหากไร้ซึ่งการมีชีวิตย่อมไร้ซึ่งความตายเช่นกัน เปรียบดั่งการแข่งขันวิ่งที่หากไร้ซึ่งเส้นชัยแล้ว จะยังเรียกว่าการแข่งขันได้อย่างไร สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทุกวินาที ทุกการกระทำ ทุกย่างเท้าของชีวิตล้วนดำรงอยู่อย่างคู่ขนานกับความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามาตลอดเวลา
.
‘Θνητός’ (วิธีอ่านออกเสียง-/θnitós/) คำจากภาษากรีกโบราณที่บ่งชี้ให้เราเห็นถึงความตายในฐานะสิ่งสร้างความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน เพราะคำนี้แปลได้ว่า ‘mortal’ หรือ ‘ซึ่งต้องตายในที่สุด’ อันเป็นคำที่ใช้เรียกมนุษย์ในประมวลเรื่องปรัมปรากรีกโบราณ คำนี้เป็นคำตรงข้ามของคำว่า ‘αθάνατος’ ที่แปลว่า ‘immortal’ หรือ ‘เป็นอมตะ’ ซึ่งนั่นหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากเหล่าทวยเทพทั้งหลายทั้งปวง ชาวกรีกขีดเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าโดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของความตาย และเมื่อความตายไม่ใช่สิ่งที่เทพเจ้าจะประสบพบ ‘ความตาย’ จึงเป็นพื้นฐานสูงสุดของการที่มนุษย์จะเป็นมนุษย์ กล่าวคือ ‘ความไม่เป็นอมตะ’ หรือ ‘ความตาย’ นี่แหละที่เป็นสิ่งสร้างความเป็นมนุษย์ของพวกเราทุกคน
.
ยิ่งไปกว่านั้น ความตายในฐานะสิ่งสร้างความเป็นมนุษย์นั้น มีความสำคัญต่อชีวิตเรามากมายหลายแขนง อาจกล่าวได้ว่าความตายช่วยกำหนดขอบข่ายการดำรงชีวิต ความตายตักเตือนเราให้ไม่ใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์และใช้ทุกช่วงเวลาให้มีความหมาย ความตายสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งรอบข้างและสิ่งที่ควรเห็นคุณค่า และความตายยังสอนให้เรารู้ซึ้งถึงความสำคัญของ ‘ความทรงจำ’ ในทางจิตวิญญาณ ความตายยังเป็นเสมือนประตูสู่ภพภูมิที่มองไม่เห็น อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่อันน่ามหัศจรรย์พลันพิศวง โดยมีพิธีกรรมเป็นสื่อกลางแห่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว
.
ถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจเกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายขึ้นในหัวว่า หากความตายเป็นสิ่งสร้างความเป็นมนุษย์และยังมีความสำคัญถึงเพียงนี้ เหตุใดเรายังคงโศกเศร้าเมื่อต้องประสบกับความตาย ไม่ว่าจะของตนเองหรือคนรอบข้างก็ตาม ปริศนานี้อาจทำความเข้าใจได้ด้วยปรัชญาขงจื่อ ที่มองความเศร้าโศกต่อการจากไปของคนรัก โดยเฉพาะคนในครอบครัวหรือระบบความสัมพันธ์ทั้งห้า ว่าเป็นตัวชี้บ่งสภาวะความผูกพันอย่างลึกซึ้งของคนสองคนนั้น (ระบบความสัมพันธ์ทั้งห้าประกอบด้วย บิดากับบุตรชาย สามีกับภรรยา พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน และผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง) เนื้อความนี้ตรงกับ Attachment Theory ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ผูกพันระหว่างผู้คน กล่าวโดยสรุปคือ ความรู้สึกเศร้าใจจากการจากไปนั้นเป็นเครื่องแสดงความสัมพันธ์อันดีและแน่นแฟ้นของผู้ตายและผู้ที่เศร้าโศก จากคำอธิบายเหล่านี้เอง คงทำให้ผู้อ่านเข้าใจและยอมรับในความโศกเศร้าที่มีมูลเหตุจากความตายได้
.
ความตายในฐานะสิ่งสร้างความเป็นมนุษย์ดำรงอยู่ควบคู่ไปกับชีวิตอย่างที่อาจไม่เคยคาดคิดฝันมาก่อน ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลายจงอย่าหวาดหวั่นเกรงกลัวต่อความตาย แต่จงโอบกอดสัจธรรมนี้ไว้ไปจนถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทางเดินแห่งชีวิต
.
“ความตายทอดเงาดำรงอยู่คู่การมีชีวิตฉันใด ความตายย่อมก่อร่างสร้างความเป็นมนุษย์ฉันนั้น” อาจเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดของสมมติฐานจากห้องเรียนริมสุสานฉบับนี้
เนื้อหา : ติวต้น แผ่ธนกิจ
พิสูจน์อักษร : พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์ และ พรรวษา เจริญวงศ์
ภาพ : นิธินาถ สุววัชรานนท์
อ้างอิง
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, “ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์ [บทความออนไลน์], 14 กรกฎาคม 2565. แหล่งที่มา https://www.the101.world/niti-pawakapan-interview/
พนัส เฉลิมแสนยากร, ตาย: ความตาย (Death) [บทความออนไลน์], 7 ตุลาคม 2554. แหล่งที่มา https://haamor.com/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2...
วรากรณ์ สามโกเศศม, อย่างไรจึงจะเรียกว่า “ตาย” [บทความออนไลน์], 25 พฤษภาคม 2561. แหล่งที่มา https://www.the101.world/definition-of-death/
สุวรรณา สถาอานันท์, พัฒนานักวิจัยทางปรัชญาตะวันออกรุ่นใหม่: รายงานฉบับสมบูรณ์ [หนังสือออนไลน์], 31 มีนาคม 2547. แหล่งที่มา https://digital.library.tu.ac.th/.../Info/item/dc:86109
อาทิตย์ ศรีจันทร์, ความตาย การมีชีวิต สภาวะจิตเภท และเมืองกับความตายใน ‘พรุ่งนี้ไม่เศร้า’ [บทความออนไลน์], 30 มกราคม 2565. แหล่งที่มา https://www.the101.world/tomorrow-no-sorrow/
Kendra Cherry, What Is Attachment Theory? The Importance of Early Emotional Bonds [บทความออนไลน์], 22 กุมภาพันธ์ 2566. แหล่งที่มา https://www.verywellmind.com/what-is-attachment-theory...
Paul Moglia, Death and dying [หนังสือออนไลน์], 2566. แหล่งที่มา https://research-ebsco-com.chula.idm.oclc.org/.../3y37jpkni5
Racheal Harris, Jack Denham, Julie Rugg, Ruth Penfold-Mounce, Photography and Death : Framing Death Throughout History [หนังสือออนไลน์], 30 มิถุนายน 2563. แหล่งที่มา https://research-ebsco-com.chula.idm.oclc.org/.../bmxlYms...
William Shakespeare, Romeo and Juliet [บทละครออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.folger.edu/.../romeo-and-juliet/read/2/4/....
竹之内 裕文, 〈死〉とともに生きる : 死ぬとは? 生きるとは? [งานวิจัยออนไลน์], 13 กรกฎาคม 2559. แหล่งที่มา https://shizuoka.repo.nii.ac.jp/records/8876