สวมหน้ากากนามชาย จรดปลายปากกา ถ่ายทอดชีวาผ่านสตรี
.
หากคุณต้องการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการเขียนหนังสือสักเล่ม คุณจะบอกกับผู้อ่านว่าคุณเป็นใคร?
และหากคุณเป็นนักเขียนสตรีในศตวรรษที่ 19 สมัยที่สังคมผูกสถานภาพทางสังคม อำนาจ และความเจริญก้าวหน้าทางความคิดไว้กับเพศชาย สมัยที่แม้แต่การเลือกตั้งยังให้สิทธิเฉพาะบุรุษ คุณกล้าพอหรือไม่ที่จะเขียนชื่อจริงและบอกผู้อ่านว่าพวกเขากำลังอ่านงานเขียนของผู้หญิงคนหนึ่งอยู่?
.
หากคุณตอบว่า “กล้า” จากค่านิยมในบริบทสังคมปัจจุบัน คงมีนักเขียนสตรีในศตวรรษที่ 19 จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับคุณ
แต่หากคุณตอบว่า “ไม่กล้า” นักเขียนสตรีเหล่านี้ก็เผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน
.
แวดวงนักเขียนรวมไปถึงวงการการพิมพ์หนังสือในศตวรรษที่ 19 เรียกได้ว่าถูกผูกติดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเพศชายเท่านั้น หรือหากจะมีนักเขียนสตรีสักคนนั่งลงที่โต๊ะ คว้ากระดาษ หยิบปากกา แล้วเริ่มจรดน้ำหมึกลงเขียน เรื่องราวเหล่านั้นก็มักไปได้ไกลที่สุดเพียงลิ้นชักใต้โต๊ะในบ้านของเธอ เพราะถึงแม้เรื่องราวเหล่านั้นจะสามารถปฏิวัติความเชื่อหรือสร้างคุณค่ามหาศาลต่อองค์ความรู้ของมนุษยชาติ แต่กลับไม่มีใครอ่านความคิดที่พวกเธอถ่ายทอด หรือหากเจ้าของโรงพิมพ์ได้อ่าน งานเขียนของพวกเธอก็แทบจะไม่ได้รับการตีพิมพ์เนื่องด้วยผลตอบแทน เพราะในสมัยนั้นไม่มีใครอยากอ่านงานเขียนของสตรี นอกจากนี้ การแปะป้ายที่ฝังรากลึกว่าสตรีนั้นไร้ความรู้ส่งผลให้ยอดขายหนังสือที่เขียนโดยสตรีมักจะต่ำกว่านักเขียนชาย
.
เป็นธรรมดาที่ผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการกระทำบางอย่างจะรู้สึกอึดอัดจนต้องลุกขึ้นเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะเป็นของพวกเขาตั้งแต่ต้น และการส่งสารผ่านการเขียนก็เป็นวิธีที่ทรงพลังมากที่สุดวิธีหนึ่ง ถ้อยคำที่เรียงร้อยสามารถก่อร่างสร้างความคิดต่อยอดได้อีกมากมายไม่รู้จบ นักเขียนสตรีเหล่านี้ก็รู้สึกอึดอัดเช่นกัน พวกเธอหลายคนจึงเลือกใช้วิธีนี้ในการเรียกร้องความธรรมดาที่กลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสตรี ความธรรมดาในการเขียนเรื่องราวของตนและได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง พวกเธอเขียนเรื่องราว นำเสนอความคิดอ่าน และพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อใช้เรื่องราวเหล่านี้เปิดประตูความคิดที่สังคมชายเป็นใหญ่ใส่กุญแจลงกลอนไว้ แต่มันไม่ง่ายเลย ประตูเหล่านี้ปิดแน่นเกินไป พวกเธอไม่สามารถพังมันเข้าไปได้ด้วยตัวเธอเอง จึงต้องนำกุญแจดอกสำคัญออกมาใช้ พวกเธอเลือกทิ้งชื่อของตน คัดสรรชื่อที่ไม่แสดงออกว่าเป็นสตรี เขียนชื่อนั้นลงบนหน้าปกหนังสือ แล้วปล่อยให้เรื่องราวในหนังสือทำหน้าที่ของมัน
.
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดนักเขียนสตรีจึงเลือกสวมหน้ากากปิดบังตัวตนโดยใช้นามปากกาซึ่งแสดงออกถึงความเป็นชาย พวกเธอปรารถนาจะส่งข้อความในหนังสือไปให้ไกลและกว้างมากที่สุด หนังสือที่พวกเธอตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตลงไป เรื่องราวที่หากเป็นผู้ชายเขียนแล้วจะได้รับคำชื่นชม แต่เมื่อเป็นผู้หญิง เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นได้เพียงเรื่องไร้สาระที่ไม่ควรค่าแก่การอ่าน คุณค่านี้ถูกตัดสินจากความเป็นสตรีเท่านั้น
.
แม้จะกล่าวได้ไม่เต็มปากว่านักเขียนสตรีทุกคนไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จในงานเขียนของเธอเลย แต่เมื่อย้อนดูวรรณกรรมคลาสสิกหลายเรื่องที่เขียนโดยสตรีแล้ว หากไม่ได้ใช้นามปากกาชายหรือนามปากกาที่ไม่สามารถระบุเพศได้แน่ชัดมาเป็นใบเบิกทางสู่การยอมรับของมหาชน เรื่องราวที่พวกเธอเขียนก็มักจะมีแนวคิด ‘เฟมินิสต์’ ที่เข้มข้นมากพอเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่างานเขียนนั้นมีคุณค่า
.
“We did not like to declare ourselves women, because we had a vague impression that authoresses are liable to be looked on with prejudice.”
“เราไม่ต้องการแสดงตัวว่าเป็นสตรี เพราะเรารู้สึกว่านักเขียนสตรีอาจถูกมองด้วยอคติ”
.
ชาร์ลอตต์ บรอนเต (Charlotte Brontë) เป็นพี่สาวคนโตของสามพี่น้องตระกูลบรอนเตซึ่งล้วนใช้นามปากกาชายในงานเขียนของพวกเธอ และเป็นหนึ่งในนักเขียนสตรีผู้มีอิทธิพลมากที่สุดต่อวงการวรรณกรรม เธอได้เขียนอธิบายถึงเหตุผลที่เธอเลือกใช้นามปากกาปิดบังตัวตน และยังกล่าวอีกว่าเรื่องราวที่เธอเขียนนั้นไม่ใช่ความคิดที่เรียกว่า ‘เฟมินิสต์’ ซึ่งอาจส่งผลให้นักวิจารณ์วรรณกรรม (ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นชาย) นำหนังสือของเธอไปวิจารณ์ การใช้นามปากกาว่า เคอร์เรอร์ เบลล์ (Currer Bell) ช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับหนังสือของเธอได้มาก หนังสือของเธออย่าง Jane Eyre โด่งดังในเวลาไม่นาน ชื่อเสียงนี้จึงอนุญาตให้เธอประกาศตัวตนกับสังคมว่าเธอไม่ใช่ผู้ชายอย่างที่ทุกคนเข้าใจ นักเขียนสตรีถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดจากประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายน่าแปลกที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกตั้งเงื่อนไขให้มีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเขียนออกมาได้
.
มีแค่ชายเท่านั้นหรือที่ครอบครองสิทธิ์ในการเขียนเรื่องราวของตน
มีแค่ชายเท่านั้นหรือที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดความหรรษาและความปวดร้าวอย่างไม่มีข้อจำกัด
มั่นใจได้ว่าผู้อ่านมีคำตอบในใจอยู่แล้ว
.
ในอดีต สังคมปิดปากพวกเธอด้วยการเก็บปากกาให้พ้นมือ ปิดใจตนด้วยความเชื่อที่ว่าสตรีไม่มีความรู้ความสามารถ ปิดหูปิดตาปล่อยให้เป็นแบบนั้น และหวังว่าสตรีจะก้มหน้ายอมรับความเป็นไปอันบิดเบี้ยวของสังคมที่แปะป้ายให้พวกเธอเป็นเพียงลูกสาวของบิดา ภรรยาของสามี และมารดาของบุตร ราวกับพวกเธอเป็นสินค้าวางขายตามห้างร้าน ซึ่งคนอื่นมีกรรมสิทธิ์เหนือพวกเธอได้อย่างไม่ต้องสงสัย กรรมสิทธิ์ที่พวกเธอไม่มีในเรื่องราวของตนเอง
.
แต่เพราะโลกใบนี้ยังมีหนังสือให้อ่าน มีกระดาษ มีปากกาให้เขียน และมีลมหายใจให้ใช้ชีวิต
การต่อสู้ของสตรีผ่านปลายปากกานับครั้งไม่ถ้วนจึงเกิดขึ้น ทำให้วงการนักเขียนและการตีพิมพ์หนังสือได้รับการยอมรับจากสังคมและเปิดกว้างมากขึ้นตามลำดับ
.
น่ายินดีที่วันนี้ สังคมอนุญาตให้สตรีทั้งหลายเก็บหน้ากากลงในลิ้นชัก ให้พวกเธอสามารถเขียนชื่อของตนลงไปบนหน้าปกโดยไม่ต้องสรรหานามปากกาอื่นแทน และได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตตามปรารถนา
วันนี้ นักเขียนสตรีผู้เคยถูกมองด้วยอคติ ได้ก้าวขึ้นมายืนข้างบุรุษอย่างเปิดเผยและสง่างาม
เนื้อหา : พิมพ์อักษร ทักษะศุภการ
พิสูจน์อักษร : นิชนันท์ ภาษยะวรรณ์ และ พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์
ภาพ : รุจิเรขา ศิริสุนทรินท์
อ้างอิง
Harriet Sanders, Famous female authors who wrote under male pseudonyms [ออนไลน์], 6 มีนาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.panmacmillan.com/.../famous-female-authors...
Cati Gayá, 4 Influential Female Writers Who Hid Behind Male Pen Names [ออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.domestika.org/.../7776-4-influential-female...#