BARBIE: Existential Crisis

BARBIE: Existential Crisis

.

“I’m not stereotypical pretty.” — Barbie (2023)

.

เพื่อน ๆ เคยต้องพยายามเพื่อให้ตัวเองสามารถเข้าร่วมกับคนอื่นได้ไหม

เคยต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคนอื่นไหม 

เคยรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองไหม

แล้วเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า เรามีชีวิตไปเพื่ออะไร

.

ไม่แปลกเลยที่หลาย ๆ คน จะพบหรือประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ 

.

วันนี้ อักษรสาราฯ จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับ ‘วิกฤติการมีชีวิตอยู่’ (Existential Crisis) ผ่านภาพยนตร์ชื่อดังที่กวาดรายได้สูงสุดในปี 2023 กว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่าง Barbie 

.

ภาพยนตร์เรื่อง Barbie กำกับโดย Greta Gerwig เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครหลักอย่างบาร์บี้ที่นำแสดงโดย Margot Robbie ตุ๊กตาสาวที่เพียบพร้อมทั้งรูปร่าง หน้าตา ความสามารถ และได้รับความชื่นชอบจากเด็กสาวเป็นจำนวนมาก เธอใช้ชีวิตที่บ้านในฝันของบาร์บี้ และมีชีวิตที่ทุกคนให้ความสนใจ เพราะเธอคือ “บาร์บี้ในอุดมคติ” แต่วันหนึ่งทุกอย่างกลับเปลี่ยนไป เธอตั้งคำถามถึงชีวิตที่สมบูรณ์แบบของเธอ ผิวพรรณและร่างกายเริ่มห่างออกจากคำว่าอุดมคติ เธอจึงต้องไปที่โลกมนุษย์เพื่อแก้รอยร้าวระหว่างโลกในอุดมคติของบาร์บี้กับโลกแห่งความเป็นจริง ตลอดทั้งเรื่องเธอได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ยอมรับในความแตกต่างของคน และยอมรับการเป็นตัวของเธอเอง

.

เรื่องราวที่นำมาเขียนในวันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากช่องยูทูปที่วิจารณ์ภาพยนตร์ผ่านมุมมองทางจิตวิทยาอย่าง Cinema Therapy ทางช่องได้ดึงเรื่องราวน่าสนใจที่เป็นข้อคิดจากเรื่องบาร์บี้ นั่นก็คือ การสร้างตัวตนของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคมเพื่อให้ตัวเองมีความหมายในการใช้ชีวิต หรือชื่อทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘วิกฤติการมีชีวิตอยู่’ (Existential Crisis) ซึ่งไม่ว่าใครก็คงต้องเคยเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้

.

ความหมายของคำว่าวิกฤติการมีชีวิตอยู่คือการที่เราจมปลักอยู่ในความทุกข์ของตนเอง จนเกิดคำถามมากมายที่ชวนให้เราสงสัยว่า “อะไรคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่”

.

ภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่จะต้องสมบูรณ์แบบเหมือนในอุดมคติ และเมื่อพวกเธอไม่สมบูรณ์แบบอีกต่อไป ก็จะทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เราสามารถเห็นเรื่องราวเหล่านี้ได้บ่อยครั้งผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยผู้หญิงในอุดมคติจะได้รับความชื่นชอบเป็นพิเศษ ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงอีกส่วนที่ไม่ตรงตามอุดมคติกลับถูกวิจารณ์หรือบางครั้งไม่เป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับบาร์บี้ เมื่อเธอเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของเธอไม่ได้สมบูรณ์แบบ และเมื่อเธอได้รับคำวิจารณ์จากเด็กว่าเธอกำลังตั้งค่ามาตรฐานสิ่งที่ผู้หญิงควรเป็น เธอก็เริ่มตั้งคำถามถึงเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของเธอ เพราะ ณ เวลานี้ เธอไม่ใช่บาร์บี้ในอุดมคติอีกต่อไป เธอไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก ๆ บางส่วนแล้ว และในท้ายที่สุด เมื่อเธอตระหนักได้ว่าเธอไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบหรือทำอะไรเพื่อใคร เธอจึงเริ่มช่วยให้ทุกคนในบ้านในฝันของบาร์บี้ได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

.

สำหรับเคน (เพื่อนสนิทชายของบาร์บี้) ที่บทบาทของเขามีเพียงแค่เติมเต็มบาร์บี้ให้สมบูรณ์แบบ และทำให้เขามีตัวตนในสังคม บาร์บี้ทำให้เคนรู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องมีบาร์บี้เพื่อให้ตนเองมีตัวตน แต่เคนสามารถเป็นเคนที่อยู่เพื่อตัวเคนเองได้ ตัวละครนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้ ผู้ชายก็เช่นเดียวกัน

.

ภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมด้วยการดึงเรื่องราวที่คนส่วนมากเคยพบเจอ และทำให้ผู้ชมได้คิดว่า ความหมายของชีวิตคือการได้ใช้ชีวิตของตนเองในแบบของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องทำตามแบบแผนในอุดมคติ ชีวิตมนุษย์ไม่มีคำว่าสมบูรณ์แบบ นั่นจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของการได้เกิดเป็นมนุษย์ 

.

สำหรับใครที่อยากได้ความรู้เพิ่มเติมสามารถเข้าไปรับชมได้ที่ช่อง Cinema Therapy พวกเขายังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม

.

เนื้อหา : อาทิตยา ขันทอง

พิสูจน์อักษร : ชามา หาญสุขยงค์ และ พศิน อาบสุวรรณ์

ภาพ : ธันยา วิทยาภัค

อ้างอิง

วริษฐา แซ่เจีย, ในวันที่รู้สึกไร้ความหมาย : ทำไมมนุษย์เฝ้าตามหาชีวิตและจะรับมือกับความคิดนี้อย่างไร [ออนไลน์], 25 กุมภาพันธ์ 2563. แหล่งที่มา https://thematter.co/.../suffuring-of-existential.../101852

Cinema Therapy, Psychology of a Hero: BARBIE [ออนไลน์], 20 ตุลาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.youtube.com/watch?v=I-Mb5NqmHnE