Dry Fasting : เธอเองก็เป็นได้นะ ผู้ต้องขังทางการเมืองน่ะ
“แค่อาจารย์ปล่อยช้าไปสิบนาทีก็หิวจนไส้จะกิ่วแล้ว ผู้ต้องขังที่ประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำดื่มจะเป็นไงบ้างนะ?” ประโยคข้างต้นเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวผู้เขียนมาตลอดนับตั้งแต่สถานการณ์การจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีผู้ต้องขังมากมายออกมาประท้วงด้วยการอดอาหารไปจนถึงน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็น บุ้ง เนติพร, ใบปอ ณัฐนิช, เพนกวิน พริษฐ์, ตะวัน ทานตะวัน, แบม อรวรรณ, ฟ้า พรหมศร, คิม ธีรวิทย์, รุ้ง ปนัสยา, แฟรงค์ ณัฐนนท์ ฯลฯ จนกระทั่งรายล่าสุดอย่าง ´วารุณี’
.
เสียสละตัวเองแลกกับความยุติธรรม?
.
เมื่อเราเริ่มอดอาหาร ร่างกายจะนำไกลโคเจน (อาหารที่สะสมไว้บริเวณตับ) มาใช้เพื่อให้อวัยวะภายในสามารถทำงานต่อไปได้ตามปกติ และเมื่อดึงมาใช้เรื่อย ๆ จนหมด ลำดับต่อไปร่างกายจะเริ่มย่อยสลายโปรตีนตามส่วนต่าง ๆ อาทิ กระดูก ผิวหนัง เส้นผม ให้เป็นกรดอะมิโน เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานแทน หากเข้าขั้นวิกฤติอาจส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจวายได้ แต่หากเปรียบเทียบกับการทำ Dry fasting ซึ่งเป็นการอดอาหารแบบที่ผู้ประท้วงไม่รับประทานอะไรเลยแม้กระทั่งน้ำดื่มด้วยแล้ว ร่างกายจะยิ่งทำลายตัวเองเร็วกว่านั้นมากทีเดียว เนื่องจากมนุษย์ขาดน้ำได้มากที่สุดเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น
.
ว่าแต่วารุณีไปทำอะไรมาล่ะ?
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 เธอได้โพสต์รูปในหลวงรัชกาลที่ 10 ขณะทรงประกอบพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต และตัดต่อให้พระแก้วมรกตใส่ชุดกระโปรงสีม่วงของแบรนด์ Sirivannavari (แบรนด์เครื่องแต่งกายของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา) ทั้งยังมีสุนัขนั่งอยู่ข้าง ๆ วารุณีจึงถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ฐานดูหมิ่น ล้อเลียน เหยียดหยามกษัตริย์ มาตรา 206 ฐานเหยียดหยามศาสนา และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยศาลพิพากษาลงโทษในความผิดสูงสุดคือ มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งปกติแล้ว ผู้ต้องหาสามารถขอสิทธิในการประกันตัวได้ (สิทธิในการรับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี) ทว่าไม่ใช่กับผู้ต้องหาคดี ม.112 เนื่องจากศาลมักให้เหตุผลว่า “จำเลยมีแนวโน้มหลบหนี” หรือ “กระทำความผิดซ้ำ” วารุณีเองก็เช่นกัน เธอโดนแปะป้ายเช่นนี้แทนที่จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างที่ศาลพึงกระทำ
.
“หนูไม่ได้ฆ่าใครตาย ปล่อยหนูไปเป็นภัยสังคมขนาดนั้นเลยหรือ..” — วารุณี โดยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 หลังจากอดอาหารประท้วงร่วม 4 วัน
.
วารุณีเริ่มต้นการอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 หลังจากที่ทนายยื่นขอประกันตัวเรื่อยมา แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยในวันแรกเธอเริ่มดื่มแค่นมถั่วเหลือง และดื่มน้ำเฉพาะตอนทานยา เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) และมีข้อแม้ว่า หากในสามวันศาลยังไม่ให้ประกันตัว ตนจะยกระดับเป็นการอดอาหารและน้ำดื่ม ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ศาลยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เธอจึงเริ่มงดอาหารและน้ำดื่ม แต่จะดื่มเฉพาะเฉพาะตอนทานยาเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ 30 ส.ค. 2566 วารุณีได้ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์เนื่องจากมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายแล้วจึงตัดสินใจให้เธอเข้ารับการรักษาทันที เนื่องจากพบว่า วารุณีมีน้ำหนักตัวลดลงเหลือเพียง 33 กิโลกรัม ไม่ได้ขับถ่ายมา 6 วัน และปัสสาวะเพียง 1 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เธอจึงตัดสินใจทำ Dry fasting (การอดน้ำ อาหาร และยาทั้งหมด) ในที่สุด!
.
จนถึงวันนี้ (22 ก.ย. 2566) วารุณีอดอาหารและจำกัดน้ำดื่มมาร่วม 33 วันแล้ว มีรายงานว่าร่างกายของเธอซูบผอมจนเห็นโครงกระดูก ปากแห้งและซีด แขนลีบเล็ก แต่เธอยังยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับสิทธิการประกันตัว แม้ว่าแพทย์จะยืนยันว่าตอนนี้ร่างกายเธออยู่ในภาวะวิกฤติแล้วก็ตาม
.
ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า การเลือกปฏิบัติของศาลต่อผู้ต้องหาคดี ม.112 และการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองสมเหตุสมผลจริงหรือไม่ ไม่เพียงแต่วารุณีที่กำลังอดอาหารประท้วงเพื่อยกระดับข้อเรียกร้องเท่านั้น ขณะนี้ยังมี เวหา ผู้ต้องขังคดี 112 ที่เรียกร้องสิทธิการประกันตัว การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องการชี้แจงความคืบหน้า พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 เช่นกัน
.
กล่าวโดยสรุปคือ เงื่อนไขการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีทางการเมืองในไทยมีรายละเอียดอันแสนยิบย่อย ซึ่งสวนทางกับขอบเขตการกระทำผิดที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าใจหาย แม้กระทั่งการโพสต์รูปก็สามารถเปลี่ยนจากคนธรรมดาเป็นผู้ต้องขังได้อย่างกรณีของวารุณี หากเรายังปล่อยให้สังคมเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานคงจริงอย่างที่ว่า “เธอเองก็เป็นได้นะ ผู้ต้องขังทางการเมืองน่ะ”
#saveวารุณี #saveเวหา #คืนสิทธิการประกันตัว
เนื้อหา : พิชชา สุทธินุ่น
พิสูจน์อักษร : พิชชาภรณ์ วรบุตร และ สันติภาพ ทองศรีเมือง
ภาพ : จิรัชยา เจียรรัตนพงศ์
อ้างอิง
กรุณพร เชษฐพยัคฆ์, ในเรือนจำเป็นอย่างไร จะได้ประกันตัวไหม? คุยกับทนายสิทธิฯ ที่เยี่ยมผู้ต้องขังการเมือง [ออนไลน์], 8 สิงหาคม 2566. แหล่งที่มา https://thematter.co/.../human-rights-lawyer-and.../139105
ไทยโพสต์, “วารุณี” ผู้ต้องหา ม.112 ทรุดหนัก หามส่ง รพ.ราชทัณฑ์ หลังอดอาหารประท้วงในคุก [ออนไลน์], 8 สิงหาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.thaipost.net/x-cite-news/440069/
ปิยนันท์ จินา, Dry Fasting อาวุธสันติของผู้อดอาหารประท้วง แลกความยุติธรรมกับความตาย [ออนไลน์], 8 สิงหาคม 2566. แหล่งที่มา https://waymagazine.org/dry-fasting/
The MATTER, ย้อนดูคดี “วารุณี” ผู้ต้องหา ม.112 ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว จากกรณีตัดต่อรูปพระแก้วมรกต [ออนไลน์], 8 สิงหาคม 2566. แหล่งที่มา https://thematter.co/brief/207741/207741