Femicide in Spain: ว่าด้วยการฆาตกรรมด้วยเหตุแห่งเพศ

Femicide in Spain: ว่าด้วยการฆาตกรรมด้วยเหตุแห่งเพศ

.

แม้ว่าสเปนจะผ่านพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปสามารถเปลี่ยนเพศที่ระบุในเอกสารราชการต่าง ๆ ได้ โดยการแจ้งความจำนง และไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ รวมถึงมีการลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการทำแท้งสำหรับผู้ที่อายุ 16 และ 17 ปี อีกทั้งสเปนยังเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีนโยบายอนุญาตให้ลูกจ้างลาหยุดได้ในช่วงมีประจำเดือนโดยไม่มีการหักเงินเดือน แต่สเปนกลับยังคงต้องเผชิญกับวิกฤติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence) ซึ่งสะท้อนให้เห็นในการประชุมต่าง ๆ ที่หลายครั้งมักเกี่ยวกับ Femicide

.

Femicide คือการฆ่าผู้หญิง หรือการจงใจฆ่าผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงเพียงเพราะพวกเขาเป็นผู้หญิง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ 

.

การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในสเปนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ด้วยการจัดตั้งองค์กรอิสระ Woman's Institute (WI) เนื่องจากแรงกดดันจากนานาชาติ ดังนั้น สิบปีให้หลังจาก พ.ศ. 2543 สเปนจึงมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ เช่น กฎหมายที่จัดการเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ

.

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 สเปนจัดตั้งสำนักงานทั่วไปด้านนโยบายเท่าเทียมทางเพศระดับสูง (Higher-ranking Equality Policies General Secretariat) และได้ผ่านกฎหมายมาตรการป้องกันแบบบูรณาการต่อความรุนแรงทางเพศ (Integrated Protection Measures against Gender Violence) ซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานการจัดตั้งศาลเรื่องความรุนแรงทางเพศโดยเฉพาะเพื่อรับมือกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อผู้หญิง ผลกระทบจากกฎหมายนี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎหมายสำคัญของสเปนในหลายประมวล เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายอาญาแพ่ง พ.ร.บ. การจ้างงาน และพ.ร.บ. ประกันสังคมทั่วไป กฎหมายได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการอบรม และในปี พ.ศ. 2551 ก็มีการจัดตั้งกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศในระดับที่สูงขึ้น

.

ข้ามมาในปี พ.ศ. 2564 สเปนได้แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยการขยายคำนิยามของคำว่า femicide ให้ครอบคลุมมากขึ้น

.

และในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา สเปนได้ประกาศใช้กฎหมาย ‘Only Yes Means Yes’ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความทุ่มเทของสเปนในการส่งเสริม culture of consent (การได้รับความยินยอมก่อนการมีเพศสัมพันธ์) นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทางเพศอีกด้วย

.

อย่างไรก็ตาม Reem Al Salem ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ว่าด้วยความยินยอมทางเพศในสเปนที่รู้จักกันในชื่อ ‘Only Yes is Yes’ กฎหมายนี้ทำให้ผู้กระทําความรุนแรงต่อผู้หญิงได้รับการลดโทษ และในวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา ผู้กระทําความผิดในข้อหาความรุนแรงทางเพศ 943 คน จาก 4,000 คนได้รับการลดโทษลง

.

ผลกระทบของกฎหมายนี้นําไปสู่การปล่อยตัวผู้กระทําความผิดก่อนกําหนด ซึ่งทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเหยื่อ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสเปนได้ออกมากล่าวขอโทษต่อสาธารณชน และได้แก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อคืนสถานะระดับการลงโทษผู้กระทำความผิดในข้อหาอาชญากรรมทางเพศและอาชญากรรมรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่อผู้หญิงและเด็ก จึงอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างที่รัฐบาลมุ่งหวังไว้เท่าไรนัก 

.

เหตุการณ์ล่าสุดที่ Paloma Pinedo Rodríguez และลูกสาวของเธอ India López Pinedo ถูกแทง กระตุ้นให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐระบุว่า เฉพาะในปี 2566 เกิดเหตุฆาตกรรมผู้หญิงที่กระทำโดยคู่ครองคนปัจจุบันหรืออดีตคนรักของพวกเธออย่างน้อยแปดครั้ง ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2565

.

รัฐบาลของประเทศสเปนจึงอยู่ภายใต้แรงกดดันในการต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การติดตั้งกําไลติดตามอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้กระทำความผิดเมื่อถูกปล่อยตัว นอกจากนี้ กระทรวงความเท่าเทียมได้มีแผนที่จะจัดสรรงบประมาณจํานวนมากเพื่อจัดการเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง อีกทั้งนักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านจิตใจ เศรษฐกิจ และกฎหมายที่ดีขึ้นสําหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยง พร้อมกับการฝึกอบรมตำรวจสอบสวนที่ดีขึ้น

.

เนื้อหา : สิริยากร พุ่มประดับ

พิสูจน์อักษร : พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์ และ พิชชาภรณ์ วรบุตร

ภาพ : รุจิเรขา ศิริสุนทรินท์

.

อ้างอิง

BBC News, Spain plans 'only yes means yes' rape law ]ออนไลน์], 3 มีนาคม 2563. แหล่งที่มา

https://www.bbc.com/news/world-europe-51718397  

Isambard Wilkinson, Rise in murders reignites alarm over domestic violence in Spain [ออนไลน์], 3 กุมภาพันธ์ 2566. แหล่งที่มา

https://www.thetimes.co.uk/.../rise-in-murders-reignites...   

Policy Department C: Citizens' Rights and Constitutional Affairs, Gender equality policies in Spain - update ]ออนไลน์], ธันวาคม พ.ศ. 2559. แหล่งที่มา

https://www.europarl.europa.eu/.../IPOL_STU(2016)583112... 

The Guardian, Spain passes law allowing anyone over 16 to change registered gender [ออนไลน์], 16 กุมภาพันธ์ 2566. แหล่งที่มา http://www.theguardian.com/.../spain-passes-law-allowing...  

UN Women, Constitutional Act 1/2004 of 28 December, on Integrated Protection Measures against Gender Violence [ออนไลน์], 12 ตุลาคม 2566. แหล่งที่มา

https://evaw-global-database.unwomen.org/.../constitution...