Kintsugi : ความงดงามของบาดแผลและคุณค่าของชีวิต

Kintsugi : ความงดงามของบาดแผลและคุณค่าของชีวิต

สังคมที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา บอกเราอย่างเป็นนัย ๆ ว่ามีเพียงคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้นถึงจะอยู่รอดในสังคมศิวิไลซ์ และหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวก็คือ ‘การไม่มีข้อผิดพลาด’ และ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ บนบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดมาให้ ชุดความคิดเช่นนี้พบมากในเหล่าผู้คนที่ตกอยู่ในสภาวะการแข่งขัน หรือในสังคมที่พยายามหล่อหลอมพวกเขาให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ทำให้พวกเขาเลือกที่จะปฏิบัติตัวเป็น Perfectionist เพราะกลัวว่าการมีข้อผิดพลาดแม้แต่เล็กน้อยนั้น จะกลายเป็นบาดแผลที่ทำให้พวกเขา ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ขึ้นมา

.

บาดแผลอาจเปรียบได้กับสัญญะของความเจ็บปวดรวดร้าว หรือเป็นความผิดร้ายแรงที่ต้องปกปิดและซุกซ่อนเอาไว้ หากมองเพียงแต่สาเหตุที่ได้รับมันมา ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบาดแผลเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความผิดพลาดและความล้มเหลวในชีวิต ทว่าในขณะเดียวกัน ความผิดพลาดและความล้มเหลวนี้ก็ได้สอนให้เราเรียนรู้ ‘ชีวิต’ ผ่านความเจ็บปวดอันงดงาม บาดแผลจึงสามารถเป็นสัญญะแทนความงดงามของชีวิตได้เช่นเดียวกัน 

.

น่าเสียดายที่หลายคนเมื่อได้รับมาซึ่งบาดแผลกลับไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของมัน อีกทั้งยังรู้สึกแตกสลายราวกับโลกทั้งใบได้พังทลายลงดั่งถ้วยชามเซรามิกที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ การจะประกอบให้กลับมางดงามได้อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ ถึงมันจะเต็มไปด้วยร่องรอยของการแตกร้าว แต่ก็ยังคงมีความงดงาม เฉกเช่นบาดแผลในใจคน 

.

แนวคิดเช่นนี้ปรากฏอยู่ในศิลปะการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแฝงไปด้วยการตระหนักถึงคุณค่าของรอยแตกร้าวในความงดงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ศิลปะดังกล่าวมีชื่อว่า Kintsugi

.

Kintsugi (金継ぎ) หรือ คินสึงิ เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ‘การเชื่อมด้วยทอง’ เป็นศิลปะการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องแก้วด้วยครั่งทอง โดยนำยางรักมาขึ้นรูปเพื่อซ่อมแซมส่วนที่แตกหัก ก่อนที่จะนำครั่งทองมาเชื่อมรอยแตกร้าวให้สวยงาม ประวัติความเป็นมาของศิลปะอันงดงามอย่างคินสึงิ เริ่มต้นขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 ในสมัยของโชกุน Ashikaga Yoshimasa ได้ส่งถ้วยชาที่แตกชำรุดไปซ่อมที่จีน แต่ทว่าจีนใช้วิธีการซ่อมแซมด้วยลวดเย็บตามรอยแตก ผลงานที่ได้จึงไม่เป็นที่พึงพอใจของโชกุนเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุนี้ ช่างฝีมือญี่ปุ่นจึงริเริ่มการซ่อมแซมถ้วยชาด้วยครั่งทองจนกลายมาเป็นคินสึงิอย่างในปัจจุบัน

.

คินสึงิไม่เพียงเป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าของญี่ปุ่น หากแต่ยังแฝงไปด้วยแนวคิดและความหมายของความงดงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในชีวิต รอยร้าวที่ถูกเชื่อมด้วยครั่งทอง เปรียบเสมือนชีวิตที่ถูกสมานด้วยความเจ็บปวดจาก ‘บาดแผล’ ร่องรอยแห่งความผิดพลาดที่กลับสอนให้เราเข้มแข็ง และเติบโตเป็นเราในแบบฉบับที่อาจจะ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ แต่ก็เป็นเราในแบบฉบับที่ไม่เปราะบาง หลังจากที่ได้ผ่านประสบการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต

.

ทุกบาดแผล ช่วยตอกย้ำว่าเราข้ามผ่านช่วงเวลาอันแสนโหดร้ายมาได้อย่างเข้มแข็ง

.

‘บาดแผล’ ที่ตอกย้ำว่าเราเติบโตขึ้นอย่างงดงาม

.

‘บาดแผล’ ที่ใครหลายคนเลือกที่จะปกปิดเพียงเพราะแค่คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’

.

รอยแตกร้าวที่ถูกสมานด้วยครั่งทองทอแสงประกายเรืองรองบนลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ การเชื่อมด้วยทองทวีคูณคุณค่าความงดงามให้กับถ้วยชามที่ ‘เคย’ แตกสลายเหล่านั้น เช่นเดียวกันกับ ‘บาดแผล’ ที่ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของชีวิตและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และถึงแม้รอยแตกร้าวเหล่านั้นจะทำให้เราไม่สมบูรณ์แบบในสายตาคนอื่น แต่รอยแตกร้าวเหล่านั้นก็ทำให้เรา ‘สมบูรณ์แบบ’ ในฉบับของตัวเราเองได้

เนื้อหา : ธนวัฒน์ ทิพย์สุข

พิสูจน์อักษร : สันติภาพ ทองศรีเมือง และ สรัลชนา หันหาบุญ

ภาพ : ปัณฑารีย์ คำเพ็ง

อ้างอิง :

ปาริชาติ โชคเกิด, “คินสึงิ” เรียนรู้วิธีดึงตัวเองจากความล้มเหลวสู่ความสำเร็จสไตล์ญี่ปุ่น [บทความออนไลน์], 16 ธันวาคม 2562, แหล่งที่มา https://brandinside.asia/how-to-heal-yourself-from.../

อรนิดา ทวีลาภ, “ความงดงามในความไม่สมบูรณ์ของเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิกของญี่ปุ่น ศึกษาจากแนวคิดคินสึงิและ วะบิซะบิ” (วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,2564), หน้า 40-42 แหล่งที่มา : http://isas.arts.su.ac.th/.../2564/visualarts/05610940.pdf 

อารยา สิงห์สวัสดิ์, อยู่อย่างเข้มแข็ง-มีความสุขในสังคมการแข่งขัน [บทความออนไลน์], 22 มกราคม 2553, แหล่งที่มา https://www.thaihealth.or.th/อยู่อย่างเข้มแข็ง-มีควา/