Kogyaru สาวแกลในชุดนักเรียนผู้ต่อต้านกฎเกณฑ์และสังคม ½
ผู้อ่านอาจเคยเห็นแฟชั่นของนักเรียนญี่ปุ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยสไตล์ถุงเท้าย้วย ๆ ที่กองอยู่ที่ข้อเท้าและกระโปรงนักเรียนสั้น แต่นอกจากการแต่งตัวที่แตกต่างและไม่เหมือนใครแล้ว แฟชั่นของสาวแกลยังเป็นตัวแทนของการต่อต้านสังคม ในบริบทที่ผู้หญิงถูกครอบไว้ในกรอบอันเคร่งครัดอีกด้วย
.
‘โค’ มาจากคำภาษาญี่ปุ่นว่า ‘高校’ (koukou) แปลว่าโรงเรียนมัธยมปลาย ส่วนคำว่า ‘แกล’ หรือ ‘ギャル’ (Gyaru) คือวัฒนธรรมแฟชั่นที่แต่งตัวฉีกมาตรฐานความงามและสังคมญี่ปุ่นเพื่อแสดงความมั่นใจของปัจเจกบุคคลและการต่อต้านสังคม
.
สาว ๆ เหล่านี้จะนำแฟชั่นชุดนักเรียนมัธยมปลายมารวมกับแฟชั่นและวัฒนธรรมแกลเข้าด้วยกัน เช่น การใส่เครื่องประดับ หรือการแต่งหน้าให้เข้ากับแฟชั่นแกล ไม่ว่าจะเป็นกระโปรงนักเรียนสั้น ถุงเท้ายาวและหลวมกองกันที่ข้อเท้า การแต่งหน้าที่เน้นขนตายาวและหนา และไฮไลต์จมูก
แต่ว่าตอนแรกสาวโคแกลไม่ได้แต่งตัวแบบนี้และไม่ได้เรียกตัวเองว่าโคแกลด้วยซ้ำ งั้นในตอนแรกสาวโคแกลแต่งตัวแบบไหนล่ะ
.
ในช่วงท้ายของยุค 80s นักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนในโตเกียวที่ไม่มีการใส่ชุดนักเรียนเริ่มสนใจในชุดนักเรียนของนักเรียนเอกชน ‘ชนชั้นสูง’ และเริ่มใส่ชุดนักเรียนปลอมไปที่โรงเรียนกันมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ใหม่นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการที่นักเรียนมัธยมปลายต้องการต่อต้านกฎเกณฑ์ของโรงเรียนและสังคมที่ไม่ได้บังคับแค่นักเรียน แต่รวมถึงผู้หญิงทุกคนให้ต้องแต่งตัว ‘เรียบร้อย’ และ ‘สะอาด’ ตลอดเวลาเพื่อหน้าตาทางสังคมและหน้าที่ทางการงาน ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีผิวที่ขาวที่สื่อถึงความสะอาด นักเรียนจึงเริ่มทำตรงข้ามกับสิ่งที่สังคมบอก เริ่มใส่กระโปรงที่สกปรก มีรอยเปื้อนตามชุด และสั้นขึ้น ถุงเท้าที่กองหลวมที่ข้อเท้า รวมไปถึงท่าทางการนั่งรวมกลุ่มและนั่งยองคล้ายแก๊งมอเตอร์ไซค์ แต่ในตอนนั้นยังไม่มีการแต่งหน้าที่จัดจ้านหรือย้อมผมบลอนด์ สาวโคแกลจะเรียกตัวเองว่า ‘แกลน้อย’ (Gyaruko) หรือ ชื่อเล่นตามด้วยคำว่า ‘子’ (ko) ที่แปลว่า เด็ก
.
หนึ่งในบุคลิกโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสาวโคแกลคือความมั่นใจและความกล้าที่จะแต่งตัวนอกกฎเกณฑ์ การเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น ทำทุกอย่างที่อยากทำเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ต้องการพึ่งพาผู้ใหญ่ไปเสียทุกเรื่อง ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่าง แฟชั่นโคแกลได้แพร่หลายมากขึ้นกลางย่านชินจูกุจนคุณครูและโรงเรียนในโตเกียวยอมแพ้ที่จะบังคับใช้กฎเกณฑ์กับนักเรียน
.
แรงกระเพื่อมของแฟชั่นโคแกลสร้างผลตอบรับไปสองทาง ทั้งได้รับการสนับสนุนจากนักเรียนญี่ปุ่นคนอื่นที่ต้องการจะต่อต้านมาตรฐานความงามและกฎของสังคม และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใหญ่ในสังคมรวมไปถึงนักเรียนบางส่วนเองที่มองแฟชั่นแกลว่าเป็นแฟชั่นที่น่าเกลียด สกปรก และดูไร้อารยธรรม
.
ทว่าด้วยแรงสนับสนุน แฟชั่นของโคแกลได้พัฒนาตามเทรนด์ในเวลานั้น เช่น Ganguro หรือ หน้าดำ คือการทำผิวแทนโดยใช้รองพื้นเพื่อเลียนแบบผิวแทนของวัฒนธรรมอเมริกันและแอฟริกันอเมริกันที่เริ่มเข้ามาในญี่ปุ่น รวมถึงมีแบรนด์สำหรับชุดนักเรียนปลอมเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนที่โรงเรียนไม่มีเครื่องแบบ
.
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ต้องการต่อต้านกฎของสังคม นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในรั้วโรงเรียนและปลุกความสนใจของสังคม นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของสาวโคแกลเลยทีเดียว
.
ดังนั้น โคแกลเริ่มเป็นที่จับตามองของสื่อนิตยสารและโทรทัศน์มากขึ้น (โคแกลก็เป็นคำที่สร้างขึ้นโดยสื่อนิตยสารเช่นกัน) สื่อที่เกี่ยวกับสาวโคแกลถูกผลิตและเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนนอกโตเกียวมากขึ้น ทว่าการได้รับความสนใจจากสื่อสามารถเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน ซึ่งจะขอนำมาเขียนในบทความต่อไป…
.
ติดตามตอนต่อไป!
อ้างอิง:
Schoolgirls, Money and Rebellion in Japan. Sharon Kinsella. Routledge. October 2013.
เนื้อหา: พีจัง
พิสูจน์อักษร: จิรพงศ์ เนินสลุง และ พิชชาภรณ์ วรบุตร
ภาพ: พิชชาพร ถาวรประดิษฐ์