Love is Sour Grapes: หรือความรักนั้นหวานขมอมเปรี้ยว
เมื่อพูดถึงความรัก คุณจะนึกถึงรสชาติแบบไหน? ความรักนั้นหวานยิ่งกว่าน้ำตาลในขนม หรือจะรสชาติเหมือนกับยาขมที่ไม่มีใครโปรดปราน? ในขณะที่รสชาติของความรักอาจเป็นเหมือน ‘องุ่นเปรี้ยว’ ที่มีทั้งรสหวานชวนลิ้มลอง และรสเปรี้ยวที่ทำให้น้ำตาไหลในเวลาเดียวกัน เหมือนดั่งชื่อเพลงของไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป LE SSERAFIM
.
“ผลของมันที่ค่อย ๆ กลายเป็นสีแดง ดึงดูดสายตาของฉันไปหมด ได้แต่จินตนาการว่า ผลองุ่นที่อยู่บนปลายกิ่งของต้นนั้น รสชาติของมันจะหวานอร่อยขนาดไหนกันนะ”
หากจะกล่าวว่าคนเรามักมองความรักกับความหวานก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเจอคนมีคู่ คำพูดแซวที่ออกมาก็คงหนีไม่พ้นคำว่า “หวาน” และแม้แต่คำเรียกแฟนอย่าง “หวานใจ” หรือ “sweetie” ก็ยังเกี่ยวข้องกับความหวานอีกด้วย ในทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ได้พิสูจน์ความเกี่ยวข้องระหว่างความหวานกับความรัก และพบว่าความรักมีผลต่อการรับรู้รสชาติหวานจริง เพราะรสหวานที่เรารู้สึกนั้นไม่ได้เกิดจากต่อมรับรส แต่เกิดจากการที่สมองเราเชื่อมต่อความหวานกับอารมณ์ของมนุษย์ในขณะนั้น ซึ่งก็คือความรัก และเหตุที่ความรักมีรสหวานก็เพราะรสดังกล่าวเป็นรสแรกที่มนุษย์ได้รับผ่านน้ำนมของแม่นั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดความรักกับความหวานจึงอยู่คู่กันในสายตามนุษย์เสมอมา
.
ทว่าความรักกลับไม่ได้มีเพียงด้านที่หวานซึ้ง แต่กลับมีองค์ประกอบอย่างความกลัวและความเจ็บปวดเข้ามาด้วย ดังในท่อนที่ว่า
“ต่อให้ระยะทางระหว่างเราใกล้ขึ้นมากเท่าไร ฉันก็ไม่สามารถจับมือของเธอได้เลย
ความรักที่ลอยอยู่เหนือบันไดนี้
มันก็มีแค่ฉันคนเดียวที่เจ็บอยู่แบบนี้”
เพลงท่อนนี้สื่อให้เห็นความเจ็บปวดจากรักที่ไม่สมหวัง แม้ว่าจะพยายามไขว่คว้ามากเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถเอื้อมไปถึงได้เลย รสชาติของความผิดหวังนี้เองที่ทำให้ความรักในบทเพลงดังกล่าวไม่ได้เป็นเหมือนองุ่นที่หอมหวาน แต่กลับเป็น ‘sour grapes’ หรือองุ่นรสเปรี้ยวแทน
.
‘sour grapes’ เป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่มาจากนิทานอีสปเรื่อง ‘สุนัขจิ้งจอกกับผลองุ่น’ (The Fox and the Grapes) เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า สุนัขจิ้งจอกเห็นพวงองุ่นที่สุกฉ่ำน่ากินอยู่บนต้นไม้ จึงพยายามกระโดดคว้าพวงองุ่นลงมาเพื่อหวังจะกินดับกระหาย แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร พวงองุ่นนั้นก็อยู่สูงเกินกว่าที่มันจะสามารถเอื้อมถึงได้ ในท้ายที่สุด เจ้าสุนัขจิ้งจอกก็ต้องล้มเลิกความตั้งใจ และจึงพูดปลอบใจตัวเองว่า “องุ่นพวงนั้นคงต้องเปรี้ยวแน่ ยังไงฉันก็ไม่ได้อยากกินขนาดนั้นอยู่แล้ว” แล้วมันก็เดินจากไปด้วยความหิวโหย สำนวนนี้จึงหมายถึงการที่เราอยากได้อะไรบางอย่าง แต่ไม่สามารถที่จะได้สิ่งนั้นมา จึงต้องแกล้งปลอบใจตัวเองว่าของสิ่งนั้นไม่ดี ว่าเราไม่ได้อยากได้สิ่ง ๆ นั้นสักหน่อย หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการหลอกตัวเองเพื่อให้รู้สึกผิดหวังน้อยลงนั่นเอง
.
“อย่าเข้าใจผิดนะ ฉันก็ไม่ได้ชอบเธอมากขนาดนั้น
ไม่ได้เสียดายเลยสักนิด
ฉันก็ได้แต่หลอกตัวเองอยู่แบบนี้ ทุกวัน ทุกคืน”
สุนัขจิ้งจอกที่เลือกปฏิเสธความล้มเหลวของตัวเอง และเปลี่ยนความคิดให้ตรงกับผลลัพธ์ที่ออกมา ก็คงเหมือนกับมนุษย์เองที่หลอกตัวเองด้วยเช่นกัน ในทางจิตวิทยา การกระทำเช่นนี้เรียกว่า ความไม่สอดคล้องทางปัญญา (Cognitive dissonance) ความไม่สอดคล้องนี้เกิดขึ้นเมื่อการกระทำต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับความเชื่อที่เรามี ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ และพยายามลดความไม่สอดคล้องนี้ด้วยการหาข้ออ้างอื่น ๆ เหมือนที่สุนัขจิ้งจอกคิดว่ามันไม่ได้อยากกินองุ่นมากขนาดนั้น แม้ว่าการหลอกตัวเองจะทำให้เราสบายใจได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่การหลอกลวงแบบนี้ย่อมไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ยังต้องออกจากภาพลวงตาที่สร้างไว้ และกลับมาเผชิญกับความเป็นจริงตรงหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
“รสขมปนหวานแบบนั้น ฉันไม่อยากลิ้มรสของมันเลย
มันก็ไม่ได้หอมหวานขนาดนั้นสักหน่อย”
จากแรกเริ่มที่ความรักเหมือนองุ่นหวานชวนลิ้มลอง เพียงสบตาหัวใจก็กระชุ่มกระชวย แต่กลับลงเอยด้วยรสขมอันน่าเจ็บปวด และรสเปรี้ยวที่เรียกหยดน้ำตา บทเพลง Sour Grapes จึงถ่ายทอดรสชาติอันหลากหลายของความรักซึ่งทั้งหวานฉ่ำ และเปรี้ยวเกินกว่าหัวใจของใครบางคนจะรับไหว จนบางครั้งการอยู่กับข้ออ้างที่ไร้เหตุผลอาจสร้างความอบอุ่นใจได้มากกว่า แต่สุดท้ายแล้ว ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เจ้าสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นไม่มีวันได้ชิมรสขององุ่น ไม่เคยได้รับรู้ถึงความเปรี้ยวอมหวาน หากแต่ได้เพียงเฝ้าฝันถึงความรักที่ไม่มีวันเป็นจริง ไม่ว่ามันจะพยายามสักเท่าไรก็ตาม
เนื้อหา : ณัฐวรรณ พันธ์ศรีมังกร
พิสูจน์อักษร : รสิกา วิเศษสมภาคย์ และ พงศภัค เหลืองทองนารา
ภาพ : ติณณา อัศวเรืองชัย
อ้างอิง
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช, ทำไมคนเราถึงชอบหลอกตัวเอง? [ออนไลน์], 1 เมษายน 2564. แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com//guest-editors/article/why-do-we-deceive-ourselves
ธมนวรรณ กัวหา, หวานฉ่ำ หรือขมฝาด รสชาติความรักเป็นแบบไหนกันแน่ [ออนไลน์], 21 กันยายน 2561. แหล่งที่มา https://adaybulletin.com/article-love-actually-love.../21067
bluelemonade, Track 22 ; Sour Grapes - LESSERAFIM [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://minimore.com/b/j1Crr/22
Vicki Denig, Where Did the Phrase ‘Sour Grapes’ Come From? [ออนไลน์], 14 เมษายน 2560. แหล่งที่มา https://vinepair.com/articles/term-sour-grapes-come/