Reading crisis : วิกฤตแสนเศร้าและความเงียบเหงาของร้านหนังสือ
“เดี๋ยวนี้คนไม่อ่านหนังสือกันแล้ว อีกหน่อยร้านหนังสือคงทยอยหายไป”
ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นในใจผู้เขียนขณะที่เดินเข้าร้านหนังสือหลายแห่ง บางร้านเริ่มลดขนาด บางร้านเริ่มไร้ผู้คน เสียงเครื่องปรับอากาศในร้านดังแข่งกับความเงียบเหงา สร้างบรรยากาศชวนหดหู่ แทบจะลืมภาพจำในอดีตว่าครั้งหนึ่งร้านหนังสือเหล่านี้เคยครึกครื้นไปด้วยเหล่านักอ่านขนาดไหน สำหรับคนที่รักหนังสือดังเช่นผู้เขียน เมื่อเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมรู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก
.
ทำไมคนถึงไม่เข้าร้านหนังสือกันแล้ว? หากลองค้นหาสาเหตุ อาจพบว่าการที่คนเข้าร้านหนังสือน้อยลงสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ผู้คนไม่นิยมชมชอบการอ่านหนังสือเหมือนแต่เก่า กล่าวได้ว่า สังคมตอนนี้อาจกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการอ่านอยู่ก็เป็นได้
.
วิกฤตการอ่าน (Reading crisis) คือเหตุการณ์ที่ผู้คนออกห่างจากการอ่านหนังสือ ทั้งการอ่านเพื่อความรู้และเพื่อความบันเทิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทักษะทางปัญญา (Cognitive skills) ของผู้คนได้
.
Anna Burkey ประธานองค์กร Australia Reads รวมถึงผู้ค้นคว้าวิจัยอีกหลากหลายประเทศทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันนั้นจำนวนนักอ่านที่อ่านเพื่อความพึงพอใจ (Read for pleasure) ลดน้อยลงด้วยอุปสรรคหลายปัจจัย ปัจจัยดังกล่าวไม่เพียงส่งผลแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดวิกฤตการอ่านแบบเดียวกันในหลายประเทศ แน่นอนว่าประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
.
ประการแรก คือ สังคมเข้าสู่ยุคสมาร์ตโฟน ในยุคที่มือถือและแท็บเล็ตกลายเป็นอวัยวะที่สามสิบสามของผู้คน ข่าวสารผ่านหน้าจอมาไวไปไวจนน่าตกใจ คอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจมักเป็นคลิปขนาดสั้น หรือตัวหนังสือไม่กี่บรรทัดในแอปพลิเคชัน X ชีวิตแบบออนไลน์ดังกล่าวทำให้คนรุ่นใหม่โฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้สั้นลง ด้วยเหตุนี้ การอ่านหนังสือเรื่องยาว ๆ จึงไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมย์อีกต่อไป
.
นอกจากนี้ ค่านิยมสังคมในปัจจุบันยังทำให้การพบเห็นผู้คนจับโทรศัพท์ระหว่างทำสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติ หากลองเปลี่ยนจากโทรศัพท์เป็นหนังสือสักเล่มที่คอยพกติดตัวไปไหนมาไหน คงไม่ใช่ภาพที่คนในสังคมคุ้นตา ซ้ำแล้วยังอาจถูกมองว่าแปลกอย่างน่าเสียดาย
.
ประการที่สอง คือ หนังสือราคาแพง เมื่อหนังสือหนึ่งเล่มมีราคามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่าคนส่วนมากคงเลือกที่จะนำเงินไปใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นกว่าแทน การอ่านจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ผู้คนให้ความสำคัญอีกต่อไป และเมื่อคนซื้อหนังสือน้อย ผู้ผลิตย่อมขาดรายได้ และจำเป็นต้องเพิ่มราคาขายเพื่อทดแทนเงินส่วนที่ขาด กลายเป็นวงจรลูกโซ่ที่แก้ไม่หาย และหนังสือก็ยังคงแพงเกินเอื้อมอยู่เช่นเดิม
.
ประการที่สาม คือ ผู้คนไม่สามารถ ‘เข้าถึง’ หนังสือด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้สนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือ ด้วยเพราะหนังสือสำหรับเด็กมีราคาแพง (ซึ่งย้อนกลับไปสัมพันธ์กับข้อด้านบน) หรือมองว่าการซื้อหนังสือแนวบันเทิงให้ลูกเป็นเรื่องไร้สาระ พร้อมทั้งคาดหวังให้ลูกอ่านเพียงหนังสือเรียน จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากเด็กที่ถูกบังคับให้อ่านหนังสือเรียนแสนน่าเบื่อตลอดเวลาจะรู้สึกเกลียดชังการอ่านหนังสือประเภทอื่นไปด้วย แม้ความจริงแล้วโลกนี้จะมีหนังสืออีกหลากหลายประเภทก็ตาม
.
นอกจากนี้ สังคมก็ไม่ได้มีพื้นที่ปลูกฝังให้คนเข้าถึงหนังสือ ห้องสมุดต่าง ๆ ถูกรัฐละเลย เมืองใหญ่ ๆ ไม่มีพื้นที่ส่งเสริมการอ่านที่เพียงพอ กล่าวคือ ไม่มีพื้นที่เซฟโซนที่จะดึงดูดให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดีและน่าสนใจ ทำให้การเข้าถึงหนังสือที่ควรเป็นเรื่องง่าย กลับกลายเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน
.
ความจริงแล้ว นอกจากเหตุผลหลัก ๆ ดังที่กล่าว ก็ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ว่าทำไมคนถึงอ่านหนังสือน้อยลง และสถานที่อย่างร้านหนังสือก็กลายเป็นที่ที่ซบเซาและหดหู่ หากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ร้านหนังสือก็คงจะเงียบเหงาต่อไปและอาจถึงขั้นที่เสี่ยงต่อการหายไปจากสังคม
.
ร้านหนังสือ รวมถึงความสำคัญของมัน กำลังทยอยหายไปอย่างน่าเศร้า หนังสือเริ่มไม่ใช่สิ่งน่าสนใจสำหรับหลายคนอีกต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้ว หนังสือเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นโลกกว้าง ทุกอักษรที่ร้อยเรียงเรื่องราวทำให้เราเข้าใจทั้งตนเองและโลกมากขึ้นได้อย่างน่าฉงน หากวันหนึ่งร้านหนังสือที่เปรียบเสมือน ‘บ้านแห่งเรื่องราว’ ต้องหายไป นั่นคงเป็นเรื่องแสนเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
.
เพราะหนังสือไม่ใช่เพียงแค่ชุดกระดาษเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วจบไป แต่ทุกตัวอักษรล้วนหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ผู้เขียนหวังอย่างสุดใจว่า ไม่ว่าโลกาภิวัตน์จะทำให้สังคมผันแปรไปแค่ไหน โลกนี้จะยังคงมีร้านหนังสือเคียงคู่มวลมนุษย์ คอยเป็นสถานที่จุดประกายความคิดและจิตวิญญาณของเหล่าผู้คน หากวันนี้คนรุ่นใหม่ได้ค้นพบความมหัศจรรย์แห่งการอ่านมากขึ้น โลกนี้ก็คงจะสว่างไสวไปด้วยประกายความคิดของผู้คนไปอีกยาวนาน
เนื้อหา : ฑิตยา โรจนวิภาต
พิสูจน์อักษร : พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์ และ รสิกา วิเศษสมภาคย์
ภาพ : ศวิตา
อ้างอิง :
อังคณา นาคเกิด, คนไทยไม่อ่านหนังสือ หรือพื้นที่การอ่านไม่มากพอ? [ออนไลน์], 16 กันยายน 2563. แหล่งที่มา https://urbancreature.co/the-reading-room/
Gina Fairley, Is reading in crisis? [ออนไลน์], 6 ตุลาคม 2566. แหล่งที่มา
https://www.artshub.com.au/.../is-reading-in-crisis-2670808/
Lexi Lonas, Reading for fun plunges to ‘crisis’ level for US students [ออนไลน์], 13 กันยายน 2566. แหล่งที่มา
https://thehill.com/.../4093843-reading-for-fun-plunges.../
Maryanne Wolf, THERE'S A CRISIS OF READING AMONG GENERATION Z [ออนไลน์], 29 เมษายน 2562. แหล่งที่มา https://psmag.com/.../theres-a-crisis-of-reading-among...