Redshirting : เด็กผู้ชายและความเท่าเทียมทางการศึกษา
เรามักพบเห็นภาพสะท้อนของแนวคิด ‘รีบเรียนรีบจบ เท่ากับฉลาด’ ผ่านสื่อ เช่น การรายงานข่าวชื่นชมคนที่เรียนจบปริญญาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยชี้แนะว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้น สื่อที่ส่งเสริมการผลิตภาพจำในลักษณะนี้จะสร้างค่านิยมผลักดันให้เด็กเริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่อายุน้อย ๆ
.
นอกจากนั้นแล้ว การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบอันไม่เท่าเทียมระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เนื่องจากความแตกต่างทางเพศไม่ได้ครอบคลุมแค่เพียงความแตกต่างทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาทางสมองอีกด้วย การศึกษาที่กำหนดกฎเกณฑ์เหมือนกันสำหรับทุกคน จึงอาจสร้างความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษาต่อเด็กทั้งสองเพศได้
.
Redshirting ในที่นี้ คือแนวคิดที่สนับสนุนการเลื่อนอายุในการเข้าโรงเรียนอนุบาลของเด็กผู้ชายออกไปเพื่อรองรับความแตกต่างทางพัฒนาการ และสร้างระบบการศึกษาที่เป็นมิตรต่อทั้งสองเพศอย่างเท่าเทียมกัน
.
บทความจากวารสารการแพทย์ Croatian ในหัวข้อ Sex differences in early communication development: behavioral and neurobiological indicators of more vulnerable communication system development in boys ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาทางด้านการสื่อสารในเด็กผู้ชายมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กผู้หญิง
.
บทความดังกล่าวได้นำเสนอมุมมองทางด้านวิวัฒนาการ โดยระบุว่าเด็กผู้หญิงมักแสดงความสามารถทางภาษาพูดที่เหนือกว่า ซึ่งอาจมีพัฒนาการมาจากบทบาททางสังคมที่แตกต่างกันในช่วงวิวัฒนาการของมนุษย์ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาได้ไวกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสบตา ท่าทาง และการอ่านบรรยากาศทางสังคม
.
นอกจากนี้ บทความยังกล่าวถึงบทบาทของฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนและเอสโตรเจนที่มีผลต่อพัฒนาการด้านการสื่อสาร ภาษา และการพัฒนาทักษะการพูด
.
งานวิจัยพบว่า ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทารกในครรภ์และทารกแรกเกิดได้รับเกี่ยวข้องกับการเพิ่มทักษะทางสังคมและการพูด ในทางกลับกัน ทารกที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูง โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย มักจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ช้ากว่า
.
ความเชี่ยวชาญในด้านภาษาเป็นรากฐานของความสำเร็จทางด้านวิชาการ เนื่องจากภาษาจะช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ครูสอน และยังเป็นสื่อกลางในการแสดงความคิดเห็น หากขาดทักษะด้านภาษา เด็กก็จะไม่สามารถเรียนรู้และแสดงออกได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ความสามารถทางภาษายังส่งผลต่อความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ของเด็ก และเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางสังคม ดังนั้น Redshirting สำหรับเด็กผู้ชายจึงเป็นระบบที่สอดรับกับพื้นฐานของเด็กที่แตกต่างกัน และเป็นการสร้างระบบการศึกษาที่เท่าเทียมต่อทั้งสองเพศ
.
อ้างอิง
Shir Adani และ Maja Cepanec, “Sex differences in early communication development: behavioral and neurobiological indicators of more vulnerable communication system development in boys,” Croatian medical journal (30 เมษายน 2562): 141–149, https://doi.org/10.3325/cmj.2019.60.141
.
เนื้อหา : สิริยากร พุ่มประดับ
พิสูจน์อักษร : พิณมาดา วุฒิศรุต และ ธวัลพร พูลเพิ่ม
ภาพ : กุลกันยา ระวังกิ่ง