กันตรึม : บทเพลงของคนชายขอบและมนต์เสน่ห์แห่งแดนอีสานใต้
.
สำหรับวงการเพลงลูกทุ่งแล้ว ในปีนี้ต้องยกให้ ‘เพลงกันตรึม’ ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของกระแสที่มาแรงที่สุด เพลงกันตรึม เป็นดนตรีพื้นบ้านของภูมิภาคอีสานใต้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมเขมรเนื่องจากมีเขตแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ใช้ภาษาเขมรในการขับร้องคลอไปกับเครื่องดนตรีอย่างกลองโทนและซอ ปัจจุบันมีวิวัฒนาการให้สามารถบรรเลงเข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้เพื่อความบันเทิง นิยมมากในจังหวัดแถบอีสานใต้ของประเทศไทย เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่มีชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
.
หากพูดถึงเพลงกันตรึมและดนตรีอีสานใต้ คงไม่มีใครทำผลงานได้โดดเด่นไปกว่าโรงเรียนสังขะ จากจังหวัดสุรินทร์ เจ้าของแชมป์รายการชิงช้าสวรรค์ประจำปี พ.ศ. 2567 ด้วยการนำเสนอเรื่องราวศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านจึงทำให้ชิงรางวัลไปได้สำเร็จ โดยชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นการสาดแสงไฟไปสู่วัฒนธรรมอีสานใต้ ทำให้เกิดกระแสกันตรึมฟีเวอร์ขึ้น ผู้คนในโซเชียลมีเดียพากันแปลงกายเป็นนางอัปสรา ออกท่าทางร่ายรำตามทำนองเพลงกันถ้วนหน้า อีกทั้งยังทำให้ผลงานเพลงกันตรึมของนักร้องท่านอื่น ๆ เช่น ฮักบ่าวอีสานใต้ จ็องบานประปวนปรัง กันตรึมสกา ฯลฯ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง การที่เพลงกันตรึมซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มเข้ามามีบทบาทในสื่อกระแสหลัก ทำให้ทั้งแฟนรายการชิงช้าสวรรค์และผู้ชมทั่วไปหันมาให้ความสนใจในวัฒนธรรมอีสานใต้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้เรียนรู้ว่าอีสานใต้นั้นมีวัฒนธรรมอันยาวนานเป็นของตนเอง แตกต่างไปจากวัฒนธรรมอีสานในจังหวัดอื่น ๆ และอาจเป็นการช่วยลบภาพจำด้านลบเกี่ยวกับวัฒนธรรมเขมร รวมถึงต้านกระแสความเกลียดชังที่มีต่อคนเขมรได้ไม่มากก็น้อย
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเกลียดชังชาติพันธุ์เขมรและการผลักให้คนกลุ่มนี้ตกไปเป็นกลุ่มชายขอบ ก่อนอื่นต้องมองย้อนกลับไปในสมัยที่สยามถูกเจ้าอาณานิคมรุกราน ในขณะนั้นได้มีการใช้นโยบายการสร้างชาติให้คน ‘ไทย’ อันหมายถึงทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในเขตประเทศไทย มีความเป็นไทยตามมาตรฐานที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งมาตรฐานนั้นก็คือความเป็นไทยกลาง ส่วนวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ต่างออกไปก็ย่อมถูกมองว่าด้อยกว่า ถือเป็นการกดดันให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ละทิ้งอัตลักษณ์ของตนเองไป อีกสาเหตุหนึ่งคือการโต้แย้งกันไปมาระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของใคร ตั้งแต่ประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร การแสดงโขน ชุดประจำชาติ และเรื่องล่าสุดอย่างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งทิ้งรอยแผลในความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและเขมรมาจนถึงปัจจุบัน และอีกส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการที่ชาวกัมพูชาเข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย ด้วยเนื้องานที่เป็นงานกุลี ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่ในฐานะพลเมืองชั้นสอง และถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ชาวเขมรถิ่นไทยจึงรู้สึกว่าการที่ตนมีเลือดเนื้อเชื้อไขของคนเขมรเป็นเรื่องน่าอับอาย และจำเป็นที่จะต้องสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้มีความใกล้เคียงกับความเป็นไทยกลางเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเลือกปฏิบัติมากกว่าการยอมรับและภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน ความแปลกแยกที่ถูกยัดเยียดให้นี้จะยังคงอยู่แม้เวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษแล้วก็ตาม แม้แต่ในสื่อปัจจุบันก็ยังคงมีความคิดเห็นด้านลบกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์เขมรว่ามีความล้าหลังและด้อยพัฒนาให้เห็นอยู่เนือง ๆ เพราะฉะนั้น การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของดนตรีอีสานใต้ในปีนี้จึงเปรียบเสมือนการปลดแอกอัตลักษณ์ที่ถูกซุกซ่อนไว้อย่างเงียบ ๆ มาหลายสิบปีให้ได้เฉิดฉายต่อสายตาของผู้คนในวงกว้างขึ้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวัฒนธรรมอีสานใต้ให้มากยิ่งขึ้นผ่านการแสดงในรอบต่าง ๆ ของโรงเรียนสังขะในรายการชิงช้าสวรรค์
.
ในรอบแรก ทางโรงเรียนสังขะได้เล่าเรื่องราวตำนานปราสาทภูมิโปนในจังหวัดสุรินทร์ ว่าด้วยเรื่องโศกนาฏกรรมรักสามเส้าของพระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม ที่ได้ปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่งพร้อมกับอธิษฐานว่า ถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่ปราสาทนี้ ขอให้ต้นลำเจียกไม่ออกดอกอีกเลย ไฮไลต์ของการแสดงนี้คือท่อน ‘กัจปกา’ ซึ่งเป็นเนื้อร้องที่ถูกเพิ่มเข้ามาจากเพลงกัจปกา ที่เป็นการฟ้อนรำประกอบเพลงกันตรึมในงานรื่นเริงและงานเฉลิมฉลองในโอกาสต่าง ๆ คำว่า กัจปกา แปลว่า เด็ดดอกไม้ ซึ่งสอดคล้องกับตำนานดอกลำเจียกที่ถูกกล่าวถึงในการแสดงนั่นเอง และอีกหนึ่งส่วนที่ได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากนั่นก็คือท่ารำที่ได้แรงบันดาลใจจากนางอัปสราค่อย ๆ เยื้องย่างลงบันได สะกดผู้ชมด้วยท่าทางอันอ่อนช้อยงดงามประดุจนางฟ้าบนรูปสลักในปราสาทหิน
.
ในรอบชิงชนะเลิศ ทางโรงเรียนได้เลือกใช้เพลง ‘ลูกบ่แพ้’ และ ‘คือเธอใช่ไหม’ ประกอบการถ่ายทอดตำนานเนียงตรวนสตรา นางในวรรณกรรมพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์ที่ต้องออกตามหาพ่อซึ่งเป็นช้างเผือกในป่าใหญ่ อีกหนึ่งศิลปะการแสดงของอีสานใต้ที่ถูกยกมาใช้ในรอบนี้คือ ‘เจรียงนอรแก้ว’ ซึ่งเจรียงเป็นบทขับร้องที่มีมาแต่โบราณ เทียบได้กับการขับเสภาของคนไทยกลาง และได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555 ในการแสดงนี้ครูผู้ฝึกสอนได้แต่งเนื้อร้องเพิ่มเข้ามาให้สอดคล้องกับเนื้อหาของตำนาน ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับวัฒนธรรมอันรุ่มรวยด้วยมนต์ขลังของชาวอีสานใต้ โดยเจรียงนับว่าเป็นศิลปะที่ ‘ลึก’ พอสมควร แม้แต่ในหมู่ชาวสุรินทร์เองก็นับว่ามีน้อยคนที่จะรู้จักมักคุ้นกับการแสดงนี้ การตัดสินใจแต่งเนื้อเจรียงเพิ่มเข้ามาจึงมีความสำคัญมากในแง่ของการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เกือบจะเลือนหายไปให้ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง
.
หลังจากที่โรงเรียนสังขะผ่านรอบชิงชนะเลิศมาได้แล้ว ก็มีการแสดงฉลองแชมป์ด้วยเพลง ‘สาวกันตรึม’ สำหรับตัวผู้เขียนเองที่เติบโตมากับเพลงลูกทุ่งอีสาน เพลงสาวกันตรึมเปรียบเสมือนเรื่องราวแรก ๆ เกี่ยวกับชาวเขมรถิ่นไทยที่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง เนื่องจากเป็นเพลงที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยนักร้องชื่อดังอย่าง ไผ่ พงศธร เนื้อหาในเพลงกล่าวถึงหนุ่มอีสานที่ได้เดินทางไปยังจังหวัดสุรินทร์และได้สัมผัสกับวัฒนธรรมอีสานใต้ จนตกหลุมรักกับหญิงสาวชาวเขมรในที่สุด โดยธรรมชาติของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น จะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและค่อนข้างเข้าถึงได้ยาก จึงอาจทำให้ผู้ที่ไม่เคยได้อยู่หรือสัมผัสกับวิถีชีวิตในพื้นที่นั้นไม่เข้าใจถึงแก่นของวัฒนธรรมอย่างแท้จริง แต่สาวกันตรึมเป็นเพลงที่หยิบเอาวัฒนธรรมอีสานใต้มาผสมผสานเข้ากับดนตรีอีสาน ทำให้ดนตรีฟังง่ายขึ้นจนขยายกลุ่มผู้ฟังออกไปได้สำเร็จ การเลือกเอาเพลงสาวกันตรึม (ฉบับปี พ.ศ. 2566 ขับร้องโดยเจมส์ จตุรงค์, แพ็กกี้ สกลนรี, และแอ้ม ชลธิชา) มาแสดงในรายการจึงเป็นทั้งการย้อนเวลากลับไปหาอดีตสำหรับผู้ที่เป็นแฟนเพลงเดิม และเป็นการดึงความสนใจให้ผู้ฟังหน้าใหม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอีสานใต้เบื้องต้นผ่านทำนองเพลงที่ไม่คุ้นหูแต่ยังคงไว้ซึ่งความสนุกสนานอีกด้วย นอกจากนี้ ยังต้องขอชื่นชมทางโรงเรียนสังขะที่แม้ว่าจะคว้าชัยชนะมาได้สำเร็จแล้ว ก็ยังไม่หยุดที่จะขับเคลื่อนวัฒนธรรมของบ้านเกิดตนเอง การได้ครองตำแหน่งแชมป์ในปีนี้จึงเรียกได้ว่า ‘สมมง’ ที่สุด
.
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทางโรงเรียนสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้นำเสนอวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนชายขอบให้เข้ามาสู่บริบทของสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยต้านกระแสความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ตัวผู้เขียนเองหวังว่าวัฒนธรรมชายขอบที่ใกล้จะเลือนหายไปทุก ๆ วัฒนธรรมจะสามารถมีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้นและกลับมาเป็นที่นิยมได้อีกครั้งหนึ่ง
.
อ้างอิง
กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์, กันตรึม[ออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.finearts.go.th/.../11369-%E0%B8%81%E0%B8%B1...
Peter Vail, “Thailand's Khmer as ‘invisible minority’: Language, ethnicity and cultural politics in north-eastern Thailand,” Asian Ethnicity 8,2 (June 2007): 111-130.
luehistory, ‘ชาตินิยม’ สุดโต่งของจอมพล ป. ที่ทำลายรากเหง้าและจิตใจของคนในชาติ[ออนไลน์], 22 สิงหาคม 2565. แหล่งที่มา www.luehistory.com/ชาตินิยม-สุดโต่งของจอมพล-ป-ที่ทำลายรากเหง้าและจิตใจของคนในชาติ/
museumthailand, ปราสาทภูมิโปน ตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ[ออนไลน์], แหล่งที่มา www.museumthailand.com/th/2164/storytelling/
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, เจรียง ท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านไทยเขมรที่เกือบจะสูญหาย[ออนไลน์], 4 มกราคม 2565. แหล่งที่มา https://www.facebook.com/watch/?v=427618499008151
.
นามปากกา : ร่มลำดวน
พิสูจน์อักษร : นภสร อมรพิทักษ์พันธ์ และ ชามา หาญสุขยงค์
ภาพ : M