ครอบครัวมูมิน : สัตว์ประหลาด สงคราม เควียร์ และอิสรภาพในหุบเขา
ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ ประเทศฟินแลนด์ ช่วงเวลาที่เสียงระเบิดตูมตามดังแทนเสียงดนตรี ความเงียบสงบนับเป็นพรแสนวิเศษของมนุษย์ เวลาดังกล่าว ครอบครัวสัตว์ประหลาดคล้ายฮิปโปได้เริ่มใช้ชีวิตโลดโผนในหุบเขาอันสุขสงบบนหน้ากระดาษผ่านปลายปากกาของนักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวฟินแลนด์อย่าง ‘ตูเว ยานซอน (Tove Jansson)’
รูปร่างลักษณะมูมินโทรลถือกำเนิดขึ้นจากการวาดภาพล้อเลียนน้องชายของเธอเมื่อคราที่ทั้งคู่เถียงกันและกล่าวถึงนักปรัชญาชื่อดังแห่งยุคแสงสว่างทางปัญญาผู้เชื่อในเหตุผลและศีลธรรมของมนุษย์อย่าง ‘อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant)’ เพื่อเอาคืนน้องชาย เธอวาดสิ่งมีชีวิตที่ ‘น่าเกลียดที่สุด’ บนกำแพงนอกกระท่อมซึ่งตั้งอยู่บนเกาะที่ครอบครัวเธอไปพักร้อน สิ่งมีชีวิตนั้นมีจมูกใหญ่กลมคล้ายงวงช้าง ตูเวตั้งชื่อว่า ‘สนอร์ก (Snork)’ ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของมูมิน และแม้ว่าภาพสิ่งมีชีวิตน่าเกลียดที่เธอวาดล้อน้องชายจะห่างไกลจากภาพมูมินที่เราคุ้นชินและเอ็นดูในปัจจุบัน แต่นั่นคือครั้งแรกที่โลกได้รู้จักสิ่งมีชีวิตที่จะมีชื่อในอนาคตว่า ‘มูมิน’
ส่วนชื่อ ‘มูมินโทรล’ มาจากมุกตลกผสมคำขู่จากลุงของเธอ คล้ายกันกับเรื่องเล่าผีและสัตว์ประหลาดหลอกเด็กในทุกวัฒนธรรม ‘โทรล’ ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดน่ากลัวในวัฒนธรรมแถบสแกนดิเวียถูกนำมาใช้ขู่ให้ตูเวกลัว จะได้ไม่ลงมาหาของกินยามหิวตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม ยามสงครามแผ่ขยายไปทุกหัวระแหง ยามที่มนุษย์กลืนกินเหตุผล หลงลืมศีลธรรม และทำสิ่งโหดร้ายน่ากลัวยิ่งกว่าสัตว์ประหลาด โทรลก็กลับกลายเป็นตัวแทนความสงบที่ตูเวเลือกให้ใช้ชีวิตในโลกอุดมคติแทนเธอ
สงครามพรากความรู้สึกปลอดภัยไปจากผู้คนทั่วโลก ตูเวเองก็โดนพรากความรู้สึกนั้นไปเช่นกัน น้องชายของเธอไม่อาจอยู่เถียงกับเธอได้อีกเมื่อต้องไปออกรบ เสียงระเบิดจากสงครามฤดูหนาวในปีค.ศ. 1939-1940 ทำให้เธอตัดสินใจเขียนเรื่องราวที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตของเธอ ณ เวลานั้น เรื่องราวการเดินทางหนีภัยพิบัติของมูมินโทรลกับคุณแม่มูมินบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มแรกของจักรวาลมูมินชื่อ “The Moomins and the Great Flood” เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เล่าไปจนถึงตอนที่ทั้งสองเดินทางไปเจอบ้านใหม่แสนสงบกลางหุบเขา
สิ่งที่นักอ่านได้รับรู้จากหนังสือเด็กชุดนี้คือเรื่องราวหรรษาผจญภัยที่ออกจะผิดแผกไปจาก ‘สังคมภายนอก’ ตามประสาครอบครัวมูมิน ครอบครัวสัตว์ประหลาดที่สนใจเพียง 2 เรื่อง ได้แก่ แขกของครอบครัวมูมินจะกินอะไร และแขกของครอบครัวมูมินจะนอนที่ไหน แต่สถานการณ์โดยรอบยามตูเวเขียนเรื่องนี้ช่างขัดแย้งกันกับเรื่องราวและพฤติกรรมแปลก ๆ ชวนยิ้มสำหรับเด็ก เพราะเธอเขียนชีวิตให้มูมินท่ามกลางสงครามที่ ‘สังคมภายนอก’ กำลังถืออาวุธ ทิ้งระเบิด ปล่อยให้มนุษย์ไร้บ้าน บาดเจ็บ ถูกพรากคนรัก ถูกคร่าชีวิต แต่ผู้ที่ถืออาวุธทิ้งระเบิดหาใช่โทรลหรือสัตว์ประหลาดชนิดอื่นใด
เป็นมนุษย์
สิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวที่เรียกสิ่งมีชีวิตอื่นว่าสัตว์ประหลาด
ในขณะที่โลกเต็มไปด้วยกลิ่นควันปืน ฝุ่นจากซากปรักอันเป็นผลจากสงครามลอยคลุ้ง อิสรภาพที่มนุษย์ใฝ่ฝันไม่มีแม้ในปัจจัยสี่ ครอบครัวมูมินกำลังดำเนินชีวิตไปอย่างอิสระ อาบแดด แช่น้ำ เติบโต มีความรัก สร้างครอบครัว เรียนรู้มิตรภาพและบอกนักอ่านให้ยอมรับทุกความหลากหลาย
และนอกจากหนังสือชุดมูมินจะขับเน้นความย้อนแย้งของความรุนแรงในสงครามแล้ว เนื้อหาที่บอกเล่าโดยตูเวยังสอดแทรกความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ รสนิยม และความฝันได้อย่างลงตัว และเรียบง่ายเสียจนนักอ่านผู้พ้นวัยเด็กทั้งหลายเกิดคำถามว่ามนุษย์ตั้งเงื่อนไขให้กับชีวิตตนมากเกินไปหรือไม่ บทสนทนาของตัวละครในเรื่องเป็นความจริงที่ถ่ายทอดผ่านรูปประโยคไม่ซับซ้อน ง่ายดายที่จะเข้าใจ แต่ไม่ง่ายเลยที่จะยอมรับ
ใน “มูมิน คอมิกส์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 2” ตอนแม่บ้านของคุณแม่มูมิน นักอ่านได้รู้จัก ‘มิซาเบล’ ผู้มาสมัครเป็นแม่บ้านของครอบครัวมูมิน และ ‘พิมเพิล’ สุนัขของมิซาเบลที่ครอบหน้าปิดไว้เพราะมี ‘ความลับแสนเศร้า’ ของชีวิตที่บอกใครไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในบ้านกลางหุบเขามูมิน การดูแลเอาใจใส่จากคุณแม่มูมินทำให้พิมเพิลยอมเผยความลับแสนเศร้าว่าตัวเอง ‘ชอบแมว’ แต่แทนที่คุณแม่มูมินจะถามว่า “เป็นหมาทำไมถึงชอบแมว” เฉกเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ คุณแม่มูมินกลับถามพิมเพิลว่า “แมวไม่ชอบเธอกลับเหรอ”
ภาพแทนความเป็นเควียร์ (Queer) ของครอบครัวมูมินยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อคุณแม่มูมินพูดกับตัวเองหลังจากคุยกับพิมเพิลว่า “ทำไมต้องทำให้เศร้าไปหมดด้วย จะแมวหรือหมา…สิ่งสำคัญคือเราชอบบางอย่างต่างหาก” คำพูดนี้จำกัดความความรักในคำนิยามของครอบครัวมูมิน และทำหน้าที่ราวกับคำอนุญาตให้ทั้งพิมเพิลและนักอ่าน ที่ยังติดอยู่ในกรอบความรักที่มีข้อจำกัดมากมายก้าวออกมาและ ‘รักบางอย่าง’ โดยปราศจากเงื่อนไข
ภาพแทนเควียร์ในวรรณกรรมเด็กเรื่องนี้แทรกประสานตลอดทั้งเรื่องอย่างแยกไม่ออก มูมินโทรล พิมเพิล เฮมูเลน ทิงกัมมี่และบ็อบ ตัวละครในเรื่องมูมินเหล่านี้ล้วนเป็นเควียร์ทั้งสิ้น เนื่องจากตูเวเองก็มีความรักและความสัมพันธ์กับทั้งชายและหญิง เธอรู้ดีว่าความรักไม่ได้ถูกล่ามโซ่ผูกติดไว้กับเพศ และเธอก็ใช้มูมินถ่ายทอดข้อความนี้ออกมาอย่างน่ารักเสียจนทั้งเด็กและผู้ใหญ่อดไม่ได้ที่จะเอ็นดูและยอมให้ครอบครัวโทรล สัตว์ (ไม่) ประหลาดที่อาศัยกลางหุบเขาเข้าไปนั่งในใจนักอ่าน
“The Moomins and the Great Flood” ได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกในปีค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เป็นเวลาเกือบ 80 ปีมาแล้วที่มูมินได้ใช้ชีวิตแสนสำราญในหุบเขามูมิน แม้ในวันนี้ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ให้อิสรภาพในความรัก ให้พิมเพิลชอบแมวได้โดยไม่ต้องเก็บเป็น ‘ความลับแสนเศร้า’ แต่ก็ยังน่าสลดที่สงครามยังคงมีอยู่บนโลกที่พร่ำพูดว่าต้องการอิสรภาพ แม้ปฏิทินจะหมุนเปลี่ยนมาถึงปีค.ศ. 2024 แต่โลกนี้ก็ยังมีผู้คนมากมายที่ต้องหนีความตายจากสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตล์ ผู้คนมากมายที่ต้องทิ้งบ้านเอาชีวิตรอดจากเหตุอิสราเอลรุกรานเลบานอน ผู้คนมากมายที่ต้องเสี่ยงชีวิตท่ามกลางเสียงระเบิดเมื่ออิหร่านทิ้งขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ยังมีสัตว์ประหลาดในคราบมนุษย์จำนวนไม่น้อยจ้องจะทำลายมนุษย์ด้วยกัน และอ้างเหตุผลหรือเงื่อนไขมากมายที่คง ‘ไร้สาระ’ ในทรรศนะของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในหุบเขามูมิน
ตูเวสร้างสังคมแสนสุข สถานที่เงียบสงบที่มีเพียงความปั่นป่วนชวนหัวเราะจากครอบครัวมูมิน ครอบครัวที่พร้อมเข้าใจและยอมรับทุกความต่างอย่างไม่มีเงื่อนไข มีมิตรภาพที่ครอบครัวมูมินไม่เคยหวงแหนจำกัดไว้เพียงในกลุ่มโทรลด้วยกัน เรื่องราวล้ำค่านี้เป็นทั้งสักขีพยานเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดจากมนุษย์ เป็นเครื่องเตือนมนุษย์ให้มีความรักและความหวัง ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งตอกย้ำว่ามนุษยชาติไม่ได้เดินหน้าไปสู่อิสรภาพและสันติภาพอย่างที่ปากพร่ำบอก แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบหนึ่งศตวรรษ
สุดท้ายนี้ ในฐานะประชากรโลกคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจมากพอจะหยุดสงคราม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต้องการให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันต้องทิ้งบ้านเพื่อหนีเอาชีวิตรอด และในฐานะนักอ่านคนหนึ่งที่ปรารถนาจะรักและมีชีวิตเยี่ยงสัตว์ประหลาดในหุบเขามูมิน นักอ่านคนนี้อยากถามมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ไม่ประหลาดทั้งหลายว่า “เพียงเพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีอิสรภาพในการมีชีวิตและมีความรักอันปราศจากเงื่อนไข โลกจะต้องมีเรื่องราวแสนสุขที่เขียนขึ้นท่ามกลางเศษซากความเสียหายจากสงครามเช่นมูมินอีกกี่เรื่องกัน”
อ้างอิง
ตูเว ยานซอน, มูมิน คอมิกส์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 2, แปลโดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน, 2565) หน้า 36-37
The story of how Moomintrolls were born [ออนไลน์], 20 พฤษภาคม 2567. แหล่งที่มา https://www.moomin.com/en/blog/the-story-of-moomintrolls/
The shadow of war in the first Moomin story [ออนไลน์], 19 ตุลาคม 2566. แหล่งที่มา https://www.moomin.com/en/blog/the-shadow-of-war-in-the-first-moomin-story/#fd7dc712
.
เนื้อหา : พิมพ์อักษร
พิสูจน์อักษร : วิสุทธิ์ และ เบญญาภา
ภาพ : ปาณิสรา