ความรักหายาก คนรักหาง่าย : ย้อนดูทองประกายแสดแต่ละเวอร์ชันกับพัฒนาการ ‘ผู้หญิง’ ในละครไทย
.
เมื่อกล่าวถึงละครโทรทัศน์ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในทุกแพลตฟอร์ม นาทีนี้คงต้องยกให้ละครโรแมนติก-ดราม่าสุดเข้มข้นของ CHANGE2561 อย่าง ‘ทองประกายแสด’ จากบทประพันธ์ปลายปากกาของนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายมากฝีมืออย่าง สุวรรณี สุคนธา สู่ภาพเคลื่อนไหวบนจอแก้วที่ติดตราตรึงใจผู้ชมมาแล้วมากกว่า 7 เวอร์ชัน ทองประกายแสดเป็นละครโทรทัศน์ที่ตีแผ่ชีวิตของ ‘ทองดี’ หญิงสาวช่างฝันผู้สวยล้ำและเลอค่าดั่งทองที่เปล่งประกายเจิดจรัสท่ามกลางผู้ชายมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนเข้ามาหลงระเริงในแสงเสน่หาของเธอ ซึ่งในแต่ละเวอร์ชัน ตัวละครทองดีได้รับการสรรค์สร้าง และออกแบบมาให้มีพัฒนาการทางความคิด และทัศนคติทางสังคมที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลาที่ละครออกอากาศ ดังนั้นตัวละครทองดีจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทน ‘เพศหญิง’ ในสังคมแต่ละยุคสมัย วันนี้อักษรสาราจึงอยากพานักอ่านทุกท่านไปทำความรู้จัก ‘ทองดี’ หรือ ‘ทองประกาย’ ทั้ง 7 เวอร์ชัน ที่บ้างก็ถูกนิยามว่าเป็น ‘ผู้หญิงกินผัว’ บ้างก็ถูกตีตราว่าเป็น ‘ตัวกาลกิณี’ แล้วเหตุใดโลกจึงมองผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายอัปมงคลได้เพียงนี้ หรือการที่ผู้หญิงคนหนึ่งอยากจะมีชีวิตที่ดีต้องสูญเสียซึ่งคุณค่าความเป็นคนและยอมจำนนเป็นช้างเท้าหลังคอยรองมือรองเท้าผู้ชายในสังคมปิตาธิปไตยอย่างไม่จบสิ้น หรือสิทธิและอำนาจของอิสตรีกำลังถูกกดทับโดยค่านิยมของสังคมที่ให้ความสำคัญกับคนแค่เพียงบางกลุ่ม แล้วใครกันที่จะให้ราคาและเห็นคุณค่าความเป็นสตรีเพศที่แม้แต่โชคชะตาก็ไม่อาจเข้าข้าง ความรักอาจเป็นเพียงความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาให้อุ่นใจได้ชั่วคราว อิสรภาพในการลืมตาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่างหาก ที่ผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างทองประกายถวิลหาอย่างแท้จริง
.
“ทองดีไต่เต้ามาจากดิน ด้วยแรงแค้น แรงทะเยอทะยาน ด้วยการงานที่ต้องพลีร่างเข้าแลก
แม้ว่าทองดีจะสวยพริ้ง แต่กิริยาของหล่อนก็ต่ำทราม
แม้ว่าภายนอกหล่อนดูไม่มีพิษสงอันใด
แต่ในซอกมุมหัวใจ หล่อนซ่อนสัญชาตญาณฆาตกรไว้
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีสิ่งใดโดดเด่นเท่าที่หล่อนเป็นคนกินผัว
สามีทุกคนดับชีวิตอย่างอเน็จอนาถ
ทั้งหมดมีสาเหตุมาจากตัวหล่อนแทบทั้งสิ้น”
.
คือคำนิยามที่ สุวรรณี สุคนธา เจ้าของบทประพันธ์ ให้ไว้กับ ทองดี เด็กกำพร้าชาวอ่างทองที่โชคชะตาลิขิตให้ชีวิตต้องผ่านมือผู้ชายมากถึง 9 คน เธอเฝ้ารอที่จะพบกับรักแท้ที่สามารถช่วยเติมเต็มชีวิตช่างฝันประดุจซินเดอเรลลาที่ปรารถนาให้เจ้าชายมาพาเข้าวัง แต่เส้นทางความรักของทองดีกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับกันเธอเหมือนต้องคำสาปให้ผู้ชายทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตต้องมีอันเป็นไปแทบทุกราย ไม่ต่างอะไรกับหมู่ภมรสยายปีกร่ายรำ และดื่มด่ำเกสรพิษของดอกกุหลาบสีทองประกายแสดจนต้องตกลงมาตายอย่างน่าเวทนา มิหนำซ้ำ เส้นทางชีวิตของเธอยังต้องพบเจอกับคำครหาว่าเป็น ‘ผู้หญิงกินผัว’ จนเธอกลายเป็นคนกร้านโลกที่ถูกกลั่นแกล้งโดยโชคชะตา แม้ในตอนจบชีวิตของทองประกาย หรือทองดีจะมีทุกอย่างดังใจหวังจากชายผู้มอบรักแท้ครั้งสุดท้ายให้เธอ ทั้งทรัพย์สินเงินทอง และเกียรติยศศักดิ์ศรีที่เธออยากได้อยากมีมาทั้งชีวิต แต่เธอก็ต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังท่ามกลางสิ่งของนอกกายเหล่านั้น เมื่อชีวิตของเธอได้พานพบกับความรักที่แท้จริง ฝูงผึ้งที่บินวนรอบกายก็ตายจาก ทิ้งให้ดอกกุหลาบชูตระหง่านอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่เหลือใครเคียงข้างกายอีกต่อไป
.
นวนิยายเรื่องทองประกายแสดได้รับการดัดแปลงจากบทประพันธ์มาเป็นสื่อวีดิทัศน์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 โดยนำเสนอและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์รวมทั้งสิ้น 2 เวอร์ชัน และในรูปแบบละครโทรทัศน์อีก 5 เวอร์ชัน นับเป็นอีกหนึ่งบทประพันธ์ยอดนิยมที่ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เฉกเช่นเดียวกับ ‘เมียหลวง’ ของ กฤษณา อโศกสิน ที่มีมากถึง 8 เวอร์ชัน
.
ในยุคบุกเบิกของทองประกายแสด เราจะเห็นว่าระยะเวลาในการเล่าเรื่องยังมีไม่มากนัก เนื่องจากได้สร้างออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ ทำให้ต้องเล่าเรื่องอย่างรวบรัดและขมวดปมของเรื่องให้จบตามเวลาที่กำหนด บทบาทของทองดีหรือทองประกายในยุคบุกเบิกจึงยังไม่ค่อยแสดงให้เห็นการขยายความเกี่ยวกับมิติทางสังคมเท่าไรนัก สิ่งที่โดดเด่นดูเหมือนจะเป็นการปะทะคารมของตัวละครที่เลือกสรรคำมาประชันฝีปากอย่างถึงพริกถึงขิงตามแบบฉบับหนังพากย์ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในการสร้างสีสันและความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม อย่างไรก็ตาม ทองประกายแสดในยุคบุกเบิกก็ยังคงไว้ซึ่งแก่นของการแสดงออกถึงบทบาทของสตรีเพศในสังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ตามบทประพันธ์ในนวนิยาย โดยเล่าผ่านการกระทำของผู้หญิงในสมัยนั้นที่ยินยอมจะเป็นรองผู้ชายในทุก ๆ ด้าน ยอมพลีกายแลกเงินโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าเชิงมนุษยธรรม ซึ่งมีเพียงแค่ตัวละครเอกอย่างทองดีเท่านั้นที่ตั้งคำถามกับค่านิยมอันน่าฉงนนี้ การตีแผ่แง่มุมเกี่ยวกับสตรีเพศผ่านทองประกายแสดในยุคบุกเบิก จึงแสดงให้ผู้ชมอย่างเราเห็นว่า ผู้หญิงในยุคสมัยนั้นถูกเหมารวม (stereotype) ว่าพวกหล่อนยินยอมพร้อมใจที่จะเป็นเบี้ยรองบ่อนของผู้ชาย และไม่ได้มีการโหยหาถึงอิสรภาพหรืออำนาจเหนือบุรุษเพศเฉกเช่นในปัจจุบันแต่อย่างใด
.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 อุตสาหกรรมการบันเทิงไทยได้เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของละครโทรทัศน์ไทยจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล การสร้างสรรค์รูปแบบเนื้อหาละครโทรทัศน์ในยุคดิจิทัลจึงได้ประยุกต์ให้เกิดแก่นเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งเป็นแก่นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนในสังคม ทำให้ตัวละครที่ออกมาโลดแล่นบนหน้าจอโทรทัศน์และภาพยนตร์เป็นตัวละครที่มีมิติความเป็นมนุษย์ที่สมจริงมากขึ้น การหยิบยกเอาปัญหาสังคมที่กำลังเป็นที่ถกเถียง หรือวิกฤตการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนั้นมาเป็นแก่นเรื่องหลักของละคร จึงเป็นหนทางที่ดีในการสร้างสรรค์รูปแบบเนื้อหาละครโทรทัศน์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการนำบทประพันธ์กลับมาทำซ้ำ และเปลี่ยนแปลงเพียงเทคโนโลยีที่ใช้ในการถ่ายทำเท่านั้น ‘ทองประกายแสด’ ถือเป็นหนึ่งบทประพันธ์ชั้นยอดของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นมากฝีมือ ที่ไม่ได้มีแค่เพียงเนื้อหาที่สะท้อนสังคมเท่านั้น แต่ยังสามารถให้แง่คิดในการใช้ชีวิตกับผู้ชม และตีแผ่สังคมปิตาธิปไตยในมุมมองของอิสตรีได้เป็นอย่างดี จึงเป็นบทประพันธ์แรก ๆ ที่ได้รับเลือกให้นำกลับมาสร้างใหม่ โดยพัฒนาตัวบทให้มีความร่วมสมัยและสอดแทรกประเด็นสังคมไว้อย่างแยบยล
.
ในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการนำทองประกายแสดมาสร้างเป็นครั้งที่ 5 ในรูปแบบละครโทรทัศน์ และออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) โดยได้ดารานักแสดงหญิงรุ่นใหม่ไฟแรงในขณะนั้น อย่าง ‘ธัญญ่า-ธัญญาเรศ’ มารับบทเป็นทองดีหรือทองประกาย สิ่งที่น่าสนใจของเวอร์ชันนี้คือ ผู้เขียนบทได้เริ่มหยิบยกเอาประเด็นทางสังคมใส่เข้าไปในบทโทรทัศน์ เพื่อเป็นการเติมสีสันให้กับบทประพันธ์ต้นฉบับ ทำให้ตัวละครทองดีเริ่มมีมุมมองต่อสังคม มีความเป็นมนุษย์ที่ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น ทองประกายแสดเวอร์ชันนี้จึงเริ่มขยายประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับผู้หญิงจากในเวอร์ชันภาพยนตร์ซึ่งเป็นเวอร์ชันก่อนหน้า นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของละครโทรทัศน์ยุคดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ
.
11 ปีผ่านไป ในปี พ.ศ. 2555 ได้เวลาปัดฝุ่นชุบชีวิตทองประกายให้ได้ออกมาเฉิดฉายบนหน้าจอโทรทัศน์อีกครั้ง ในครั้งนี้ได้ดารานักแสดงเจ้าบทบาทที่เพิ่งหมดสัญญากับทางสังกัดเดิมมาหมาด ๆ อย่าง ‘พิ้งกี้-สาวิกา ไชยเดช’ มารับบทเป็นทองดีหรือคุณนายทองประกาย โดยออกอากาศทาง ช่อง 8 ทองดีเวอร์ชันนี้ได้รับการออกแบบให้มีความแตกต่างจากเวอร์ชันอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง ด้วยลักษณะนิสัยที่เปรี้ยวซ่าจอมแก่น ทำให้ทองดีในเวอร์ชันนี้เป็นผู้หญิงที่ช่างพูดช่างเจรจา กล้าได้กล้าเสีย แต่ยังคงอุปนิสัยทะเยอทะยานและช่างฝันไว้เหมือนในเวอร์ชันก่อน ๆ สิ่งที่พูดถึงบ่อยครั้งในทองประกายแสดเวอร์ชันนี้คือ ‘ฐานะทางสังคม’ ของตัวละครที่ผู้เขียนบทเองให้ความสำคัญไม่แพ้ประเด็นเรื่องอิสตรี หากมองย้อนไปในปีเดียวกัน จะเห็นได้ว่าทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็มีละครโทรทัศน์เรื่อง ‘แรงเงา’ ที่กำลังออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน และมีการพูดถึงประเด็นฐานะทางสังคมของตัวละครเช่นเดียวกับทองประกายแสด โดยมีวลีเด็ดจากละครที่ว่า ‘ในยุคที่เศรษฐกิจมันไม่ฟื้น ถ้าแกอยากจะแบกหน้ากลับมาทำงานที่นี่ก็เชิญ’ แสดงให้เห็นเป็นนัย ๆ ว่าสังคม ณ ขณะนั้นกำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาจากเหตุการณ์ทางสังคมที่เกิดในปีก่อนหน้านั้น อย่างอุทกภัยครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2554 ที่มีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อย ในปี พ.ศ. 2555 ที่ละครออกอากาศจึงเป็นปีแห่งการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่พ้นขีดอันตราย สังคมในละครแรงเงาและทองประกายแสดจึงเป็นเหมือนภาพแทนของสภาพสังคมที่กำลังตกระกำลำบากในทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตัวละครหลักอย่างทองดีในเวอร์ชันนี้ เป็นผู้หญิงที่มีความกระหายอำนาจทางการเงินมากกว่าเวอร์ชันไหน เธอจำต้องต่อสู้ดิ้นรน ขวนขวายหาทุกวิถีทางที่จะถีบตัวเองออกจากความจนเพื่อไปอยู่ในจุดที่เธอคิดว่าปลอดภัย และหลุดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างแท้จริง
.
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการนำทองประกายแสดกลับมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกเป็นครั้งที่ 7 และได้ดารานักแสดงหญิงแห่งยุคอย่าง ‘ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์’ มาสวมบทบาทเป็นทองดีหรือทองประกาย โดยออกอากาศทางช่อง one 31 และ แอพพลิเคชัน iqiyi หากมองผิวเผินแล้วบทบาทนี้อาจดูไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักแสดงสาว เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าทองดีนั้นมีคาแรกเตอร์ที่คล้ายคลึงกับบทบาทที่เธอเล่นในเรื่องก่อน ๆ อย่าง ก้านแก้ว จากละคร หลงไฟ และ นิรา จากละคร ใบไม้ที่ปลิดปลิว แต่ทองประกายดูจะผิดกับตัวละครหญิงที่กล่าวมา เพราะทองประกายเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาที่ตามหารักแท้จากผู้ชายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แม้เธอจะต้องต่อสู้กับโชคชะตาและความบกพร่องของสังคมในเรื่อง แต่เธอก็ยืนหยัดที่จะไปให้ถึงจุดที่เธอมีความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนท้ายที่สุดเธอก็ได้มันมาครอบครองพร้อมกับบทเรียนราคาแพง
.
ทองประกายแสดเวอร์ชันนี้แฝงไปด้วยประเด็นสังคมสมัยใหม่ ทั้งปัญหาครอบครัว ตั้งแต่การเป็นคุณแม่วัยใสไปจนถึงการอบรมเลี้ยงดูเยาวชนที่ขาดความรักและความเอาใจใส่จากผู้ปกครอง และยังคงเด่นชัดในประเด็นการปกป้องพิทักษ์สิทธิของตัวละครหญิง ที่คราวนี้ไม่ได้มีแค่ตัวละครหลักอย่างทองประกายที่เห็นถึงความสำคัญในประเด็นนี้เหมือนอย่างในเวอร์ชันแรก ๆ ทำให้มีการนำเสนอทองดีเวอร์ชันนี้ออกมาในรูปแบบผู้หญิงเย็นชากร้านโลก เพราะเธอไม่เคยแม้แต่จะได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากคนในครอบครัวเลย ต่างจากเวอร์ชันก่อน ๆ ที่ทองดีเป็นผู้หญิงคารมดี เจ้าเสน่ห์ หรือเป็นหญิงสาวจอมแก่นและช่างฝัน เห็นได้ชัดจากการตัดตัวละครพ่อเลี้ยงบุญธรรมผู้เป็นเสมือนแสงสว่างในชีวิตวัยเด็กของทองดีออก แต่ยังคงไว้ซึ่งแม่เลี้ยงใจร้ายที่คอยใช้งานเธอเยี่ยงทาส นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มฉากความรุนแรงในครอบครัวอย่างการทำร้ายร่างกายเยาวชนเข้ามา ทำให้ทองดีในเวอร์ชันนี้เติบโตขึ้นมาในสถาบันครอบครัวที่บกพร่องและมีปัญหามากกว่าเวอร์ชันไหน ๆ การที่ผู้เขียนบทโทรทัศน์เลือกกำหนดให้ทองดีมีพื้นหลังชีวิตครอบครัวที่รันทดเพียงนี้ เป็นการแฝงประเด็นทางสังคมอย่างเป็นนัย ๆ ว่า เยาวชนในปัจจุบันยังคงขาดการอบรมสั่งสอนที่ดีจากสถาบันครอบครัว อนาคตของชาตินั้นจะได้รับการสรรค์สร้างและแต่งเติมสีสันให้ขาวหรือดำ ก็ขึ้นอยู่กับรากฐานชีวิตที่เกิดขึ้นได้โดยการปลูกฝังความเชื่อและค่านิยมจากครอบครัวว่าถูกต้องดีงามพอแล้วหรือยัง ชีวิตวัยเด็กถึงวัยรุ่นของทองดีจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถูกลิดรอนสิทธิจากผู้ใหญ่ในครอบครัว และเติบโตขึ้นมาในสังคมที่มีปัญหาได้เป็นอย่างดี
.
นอกเหนือจากประเด็นของเด็กและเยาวชนที่ถูกสอดแทรกเข้ามาในทองประกายแสดเวอร์ชันนี้ ยังมีอีกหนึ่งประเด็นทางสังคมที่จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ นั่นคือคุณค่าของความเป็นหญิง ที่พ่วงมากับคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสังคมปิตาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่าทองประกายแสดในทุกเวอร์ชันให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแก่นเรื่องหลักที่จะนำพาตัวละครเอกอย่างทองดีท่องไปในสายธารแห่งโชคชะตาและผจญภยันอันตรายในโลกชายเป็นใหญ่ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ในเวอร์ชันนี้ได้มีการเพิ่มบทบาทของตัวละครหญิงในเรื่องให้กล้ามีปากมีเสียง กล้าต่อกรกับการกระทำที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของตัวละครชาย อย่างเช่นในฉากที่เหล่าฮาเร็มของสารวัตรมิตรร่วมมือกับทองดีในการเปิดโปงตำรวจจอมปลอมอย่างสารวัตรมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายยาเสพติด ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยให้คนเลวได้รับบทลงโทษตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงการร่วมมือร่วมใจกันของ ‘เพื่อนหญิงพลังหญิง’ เพื่อปลดปล่อยทองออกจากการจองจำของผู้ชายที่เธอไม่ได้รัก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มตัวละครผู้หญิงที่มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือผู้ชายอย่าง ‘ซ้อทิพย์’ เข้ามาเพื่อแสดงจุดยืนของเพศหญิงในสังคมสมัยใหม่ว่า ผู้หญิงเองก็สามารถเป็นผู้นำขององค์กรได้ ถึงแม้การปรากฏตัวของตัวละครนี้จะมาในรูปแบบของตัวร้ายที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังธุรกิจสีดำ และลอยนวลจากการถูกจับกุมไปได้อย่างไร้ร่องรอย แต่การให้ตัวละครหญิงผู้ทรงอิทธิพลเข้ามามีบทบาทในทองประกายแสดเวอร์ชันนี้ก็แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมปัจจุบันว่า พลังอำนาจและความสามารถของอิสตรีก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ผู้ชายเช่นกัน และความแตกต่างทาง ‘เพศ’ นั้น ไม่ใช่ปัญหาที่จะนำมาด้อยค่าเพศหญิงในสังคมได้อีกต่อไป
.
ทองดี 2567 จึงเป็นเสมือนตัวแทนผู้หญิงสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในสังคม ที่อาจไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่อาจเป็นปัญหาที่แอบแฝงอยู่ในสังคมมานานแล้ว การที่ผู้หญิงกล้าที่จะมีปากมีเสียง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับการถูกกดขี่ข่มเหงในสังคมนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อเรียกร้องให้โลกหรือสังคมหันมาสนใจ แต่ยังเป็นการประกาศสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนในสังคมควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
.
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะหญิง ชาย หรือเพศใดก็ตามที่กำลังโหยหาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยในการใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุขอยู่ในสังคมสีเทาทุกวันนี้ ขอจงอย่าสูญสิ้นซึ่งแสงแห่งความหวังและยกธงขาวพ่ายแพ้ให้กับบททดสอบชีวิตในสังเวียนแห่งโชคชะตาเหมือนอย่างกับทองดี แม้ทองดีหรือทองประกายในทุกเวอร์ชันจะมีจุดจบเดียวกันคือการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายราวกับตายทั้งเป็นท่ามกลางกองเงินกองทอง แต่เรื่องราวระหว่างทางซึ่งเล่าการผจญภัยผ่านผู้ชายทั้ง 9 คนของเธอ ก็สามารถนำมาเป็นเรื่องราวสอนใจให้ผู้คนในสังคมเล็งเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่บนโลกอันแสนโหดร้ายได้เป็นอย่างดี ทั้งการหันมาให้ความสนใจเรื่องของสิทธิมนุษยชน การอบรมสั่งสอนเยาวชนผ่านการดูแลเอาใจใส่อย่างมีประสิทธิภาพจากสถาบันครอบครัว และการใช้ชีวิตอย่างไม่มักใหญ่ใฝ่สูงเหมือนดังนกน้อยที่ทำรังแต่พอตัว แม้เส้นทางความรักของทองดีจะปิดฉากลงอย่างไม่งดงามเท่าไรนัก แต่ทุกครั้งที่มีความรักดี ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต ความรักเหล่านั้นก็จะช่วยเติมเต็มและทำให้ผู้หญิงกร้านโลกอย่างเธอค่อย ๆ เปิดใจและเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมที่เข้ามาขัดขวางภาพฝันอันแสนหวานของเธอ บทเรียนที่เธอได้รับอาจจะถูกมองว่ารุนแรงเกินกว่าชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งจะรับไหว หรืออาจถูกมองว่าเป็นอันสมควรแล้วที่เธอจะต้องพบจุดจบที่น่าเศร้าเช่นนี้ แต่หากมองออกไปในโลกของความเป็นจริง ยังมีอีกหลายชีวิต ไม่ใช่แค่เพียงหญิงหรือชาย ที่กำลังต่อสู้อยู่ในสภาพสังคมอันโหดร้ายไม่ต่างจากทองดี โชคชะตาอาจกลั่นแกล้งเขาหรือเธอเหล่านั้นให้พบกับอุปสรรคที่คาดเดาไม่ได้ การมองมิติทางสังคมผ่านโลกจำลองในละครหรือนวนิยายจึงเป็นเพียงการเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดในสังคมนอกจอเท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีพระเอก นางเอก หรือตัวร้ายใด ๆ จะมีก็เพียงแต่ชะตากรรมอันเป็นปัจเจกที่ใครต่างก็เป็นตัวเอกในละครชีวิตของตัวเองกันทั้งนั้น
.
อ้างอิง
สุวรรณี สุคนธา, ทองประกายแสด, (2540), 2 เล่มจบ, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
ทิพย์ภาศิริ แก้วเทศ และคณะ. (2561). การเปลี่ยนผ่านละครโทรทัศน์ไทยจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส, การผจญภัยผ่านผู้ชายทั้ง 9 ของทองประกาย (แสด) [ออนไลน์], 17 กันยายน 2024. แหล่งที่มา https://thestandard.co/the-lady-and-her-lovers-series/
.
เนื้อหา : ธนวัฒน์
พิสูจน์อักษร : กรณิศ และ พิณมาดา
ภาพ : พลอยนภัทร พุทธรักษา
.