จะเรียนอักษรไปทำไม?
“อักษรฯ ก็แค่โรงเรียนภาษา?” “เรียนอักษรฯ แล้วตกงาน?” “เรียนอักษรไปแล้วก็ไม่เห็นได้เอาความรู้ไปใช้ทำงานเลย?” “คนชอบบอกว่าอักษรฯ สอนให้เข้าใจมนุษย์ แต่เรียนแล้วไม่เห็นจะเข้าใจอะไรเลย?”
หลากหลายคำถาม หลากหลายข้อสงสัย หลากหลายคำวิพากษ์วิจารณ์ ในทำนองดังกล่าวนี้คงจะเคยผ่านข้าไปในช่วงชีวิตให้ใครหลายคนเคยได้ยิน ทั้งคนที่กำลังตัดสินใจและคนที่อยากก้าวเข้ามาสู่เส้นทางคณะอักษรศาสตร์-คณะสายมนุษยศาสตร์ บ้างก็สามารถผ่านพ้นและได้ทำตามความฝันดังใจหมาย บ้างก็ต้องหยุดความฝันและเปลี่ยนเส้นทางไป หรือกระทั่งกับหลายคนที่ยังลังเลและสับสนว่าจะเลือกเรียนคณะสายนี้ดีไหม แต่ก็ยังวิตก ยากที่จะตัดสินใจ หวังว่าบทความนี้จะเป็นคำตอบต่อสถานการณ์เหล่านั้นไม่มากก็น้อย
คณะอักษรศาสตร์ เป็นคณะสายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เช่นเดียวกันกับคณะศิลปศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ โดยมีรายละเอียดเบื้องลึกเบื้องหลังแตกต่างกันไปตามแต่มหาวิทยาลัย เมื่อพูดถึงคณะอักษรฯ แล้วเรามักจะนึกถึงการเรียนการสอน ‘ภาษา’ เป็นอย่างแรกแน่นอน ในปัจจุบันที่โลกและเทคโนโลยีหมุนไวและเร็วยิ่งกว่าการขับรถในภาพยนตร์ Fast and Furious การหาแอปพลิเคชันสอนภาษาหรือโรงเรียนสอนภาษาทั้งแบบที่มีและไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่เรื่องที่ยากไปกว่าการทอดไข่ดาวกินในตอนเช้า แล้วเหตุใดการสอนภาษาในคณะเราถึงยังจำเป็นต้องดำรงอยู่อีกเล่า ? นั่นเป็นเพราะการ ‘รู้’ ภาษามิได้มีเพียงไวยากรณ์หรือคำศัพท์เท่านั้น แต่ล้วนกอปรด้วยแง่มุมอื่นที่แวดล้อมภาษานั้น ๆ อาทิ วัฒนธรรม สังคม วรรณคดีวรรณกรรม ปรัชญา รากเหง้าประวัติศาสตร์ อันล้วนแล้วแต่มีสอนในคณะอักษรศาสตร์เช่นกัน เห็นได้จากการที่คณะอักษรฯ ยังมีสาขาวิชาและภาควิชาด้านอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ สารสนเทศ ภาษาศาสตร์ ศิลปการละคร ปรัชญา ภูมิศาสตร์ ฯลฯ เอกเหล่านี้เรียกกันอย่างง่ายว่า ‘เอกเนื้อหา’ นอกจากนี้ คณะอักษรฯ ไม่ได้หยุดนิ่งดั่งหมุดหินที่ไม่ไหวติงแม้โลกจะหมุนไป แต่กลับปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันโลกอยู่ตลอดเวลาในหลายด้านหลากมิติ เช่น การก่อตั้งศูนย์มนุษยศาสตร์ดิจิทัล การเปิดสาขาวิชาใหม่อย่าง ‘วรรณกรรมและการเขียนเชิงสร้างสรรค์’ไปจนถึงการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องและเท่าทันกับยุคสมัย
เมื่อเข้าใจภาพกว้างของคณะอักษรศาสตร์แล้ว คำถามที่เกิดขึ้นตามมา (หรือไม่เกิด?) อาจเป็น “แล้วจากสิ่งต่าง ๆ นานัปประการที่เปิดสอนให้เล่าเรียน นิสิตจะเรียนรู้และได้อะไรไปบ้าง ?” คำตอบก็คงหนีไม่พ้นประโยคคลาสสิกที่คุ้นหูนิสิตอักษรฯ ทุกคนอย่าง "อักษรศาสตร์สอนให้เข้าใจมนุษย์" และเพื่อขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ชมรมเราขอแบ่ง ‘มนุษย์’ ที่ว่าออกเป็นสองแง่มุมนั่นคือ ‘มนุษย์โลก’ และ ‘มนุษย์ตัวเรา’ ในแง่มนุษย์โลก คณะอักษรฯ สอนให้เราเข้าใจในความเป็นไป หัดสื่อสาร ตั้งคำถามต่อสังคม ในแง่มุมที่แตกต่างออกไปทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง ผ่านกระบวนการเรียนการสอนและเนื้อหาที่เรียนไม่ว่าจะเป็น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา ฯลฯ ดังที่กล่าวไปก่อนหน้า และหากพูดถึงคุณสมบัติเหล่านี้ นอกจากที่เราจะได้นำไปใช้ตอนที่เราไปท่องเที่ยว เตร็ดเตร่ไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นแล้วนั้น สิ่งเหล่านี้ยังเป็นแต้มต่อติดตัวเราไปเมื่อต้องพูดคุยพบปะกับผู้คนต่างถิ่นต่างแดนอีกด้วย การพูดคุยกับคนเหล่านั้นด้วยพื้นหลังที่รู้และเข้าใจในอะไรหลายอย่างเหมือนกันก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้บทสนทนาไหลลื่นและเพิ่มพูนความประทับใจได้มากขึ้น การคุยถูกคอกันอาจมิได้สลักสำคัญในมุมมองใครหลายคน แต่หากลองย้อนมองดูชีวิตตนหรือคนอื่นดู เพื่อนสนิทมิตรสหายที่คบกันทั้งยามสุขและทุกข์ยากก็คงมีบ้างที่บางครั้งความสัมพันธ์นั้นก่อเกิดจากบทสนทนาที่ถูกคอเพียงชั่วขณะของชีวิต
คณะอักษรฯ เป็นดั่งเตาหลอมทางปัญญาและจิตใจให้กับใครหลายคน สอนให้เรารู้จักและเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าตรรกะและเหตุผล รวมถึงฝึกปรือให้เรามีเครื่องมือในการสื่อสารกับมนุษย์โลกผ่านหลากหลายมุมมองผ่านการสอดแทรกค่านิยมของสังคมต่าง ๆ บมาในหลักสูตรที่เรียน การสื่อสารในที่นี้ก็มีหลากหลายรูปแบบเริ่มตั้งแต่การคิด-อ่าน-พูด-เขียน หลากวิชาพื้นฐานในคณะที่พร่ำสอนและบังคับให้ฝึกจัดการระบบความคิดและถ่ายทอดออกมา เด็กอักษรฯ ส่วนใหญ่จึงมักจะเริ่มชินและไม่ค่อยมีปัญหากับการเขียนรายงานหรือตอบคำถามข้อเขียนมากมายหลายหน้า (ด้วยรอยยิ้มปรีดาหรือไม่ ก็ตามแต่ปัจเจกกันไป) อย่างไรก็ตามทักษะเหล่านี้มิได้จำกัดอยู่แค่ในคณะอักษรฯ เท่านั้น แท้จริงแล้วเราก็สามารถฝึกฝนเองได้ไม่ยากเลยในโลกปัจจุบัน เพียงแต่นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในหลักสูตรและเป็นสิ่งคณะอักษรฯ ได้ช่วยฝึกฝนให้นิสิตมีความสามารถดังกล่าวเพื่อนำไปต่อยอดต่อไปในอนาคต
ในอีกด้านหนึ่งคือ ‘มนุษย์ตัวเรา’ หลายเนื้อหาในสายการเรียนมนุษยศาสตร์ไม่เพียงแต่จะสะท้อนสังคม วิถีชีวิต และความเป็นมาเป็นไปของมนุษย์คนอื่นเท่านั้น แต่ยังนำมาตกตะกอน สะท้อนชีวิตของตัวเราเองได้อีกด้วย การเรียนรู้บางวิชา เช่น ความรู้สายปรัชญา อาจช่วยให้เราตั้งคำถามต่อชีวิตรวมถึงทำความรู้จักตนเองได้ลึกถึงแก่นมากขึ้น การรู้จักตนเองฟังดูมิได้เป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะเราก็ต่างอยู่กับตัวของตนเองมาตลอดตั้งแต่ลืมตาดูโลก แต่สำหรับใครบางคนอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อบรรลุในสิ่งนั้น แม้จะเขียนมาเช่นนี้แต่ก็มิได้หมายความว่านิสิตอักษรทุกคนนั้นรู้จักและเข้าใจตนเองได้ถ่องแท้เมื่อเรียนจบและได้สวมชุดครุย เพียงแต่ในบริบทคณะอักษรฯ อาจกล่าวได้ว่า ด้วยตัววิชาและเนื้อหานั้น เปิดโอกาสให้เราได้มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือตัวอย่างชี้แนะให้ได้ไปสำรวจตนเองมากมายก็เท่านั้นเอง
นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่องการทำงาน ซึ่งอาจเป็นประเด็นหลักที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านไม่อยาก-ไม่ยอมให้ลูกหลานไปเล่าเรียนสายคณะอักษรฯ ด้วยเพราะมีความกังวลและกลัวว่าลูกจะ ‘ตกงาน’ อันดับแรกคงต้องมาแคะแกะเกากันก่อนว่าคำว่าตกงานของเรานั้นเหมือนกันหรือไม่ หากจะบอกว่าการตกงานคือไม่มีงานทำ สิ่งนั้นคงหาได้ยากยิ่งจากบัณฑิตคณะอักษรฯ ที่จบไป แต่หากคำว่าตกงานจะหมายถึงการจบไปทำงาน ‘ไม่ตรงสาย’ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก่อนอื่นก็ต้องขอบอกว่า การเรียนอักษรศาสตร์ไม่ได้จบมาแล้วทำงานไม่ตรงสายเสมอไป สาขาวิชาในอักษรฯ มีสายการเรียนที่เชื่อมโยงกับสายอาชีพอยู่ไม่น้อย เช่น เอกภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การละคร และสายภาษาต่าง ๆ อีกทั้งในหลายเอกก็สามารถเลือกเรียนในระบบ เอก-โทได้โดยที่เลือกเรียนวิชาโทในสาขาความรู้อื่น ๆ ทั้งในคณะและนอกคณะ ก็ยิ่งทำให้เปิดกว้างทางความคิดและเพิ่มทักษะในการทำงานต่อไปอีกด้วย
แต่สำหรับการจบมาแล้วไม่ได้ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาไปทำงานนั้นก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า การจบมาทำงานไม่ตรงสายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีด้วยหรือ ? เพราะการที่จะต้องนำความรู้ที่เรียนมาในชั้นมหาวิทยาลัยไปใช้ต่อในการทำงานไม่ได้เป็นมาตรวัดคุณภาพหรือความคุ้มค่าในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่น้อย หากหลายคนบอกว่าเสียดายเวลา ก็ต้องบอกว่า ชีวิตมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เพื่อเรียนรู้วิชาการเพียงอย่างเดียว แต่มีไว้เรียนรู้ชีวิต รู้จักเพื่อนฝูง เติมเต็มความอยากที่จะเรียน เสริมสร้างความฝันและความสงสัยใคร่รู้ นอกจากนี้ ความรู้บางอย่างอาจไม่ได้นำไปใช้ในการทำงาน แต่ทักษะหรือมุมมองวิธีคิดที่ได้ระหว่างทางจากการขวนขวายในความรู้เหล่านั้นก็ยังมีประโยชน์ในโลกการทำงานอยู่มากไม่แพ้กัน งานหลายงานในปัจจุบันเป็นงานที่มาจากการฝึกฝนความรู้ในการทำงานกันทีหลังได้ บางบริษัทที่เข้าไปแล้วยังต้องเรียนรู้งานนานหลายเดือนหลายปีก็มี ในส่วนนี้ อยากจะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น เป็นปกติที่นักศึกษาหลายคนในหลายคณะ เช่น นักศึกษาที่เรียนภาษาไทยในคณะภาษาต่างประเทศหลายคนก็จบไปทำงานโดยที่ไม่ได้ใช้ความรู้ภาษาไทยที่เรียนมาโดยตรง แต่ก็สามารถนำทักษะอื่น ๆ ระหว่างการเรียนไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ และไม่ใช่ว่าภาษาไทยที่พวกเขาเรียนมาจะเป็นสิ่งที่สูญเปล่าไปหลังเรียนจบ พวกเขายังสามารถหยิบความรู้นี้มาใช้ในช่วงเวลาที่จำเป็น ในจังหวะใดจังหวะหนึ่งของชีวิตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าไม่ใช่เพียงแค่นิสิตคณะอักษรฯ แต่รวมถึงคณะอื่น ๆ ด้วยที่จะสามารถนำทักษะ ที่ได้เรียนรู้ในคณะไปปรับใช้รวมถึงเสาะแสวงหาความรู้และทักษะเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพและความต้องการในตลาดแรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งงาน full time และงาน freelance
กองบรรณาธิการ ชมรมสาราณียกร คณะอักษรศาสตร์